แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์กล่าวในฟ้องเพียงว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ย โจทก์ไม่ได้เรียกค่าชดเชยและค่าจ้างที่ค้างจ่ายจากจำเลย ทั้งมิได้มีคำขอบังคับให้จำเลยรับผิดในเงินดังกล่าว ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาล่วงเลยไปให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างที่ค้างจ่ายพร้อมด้วยดอกเบี้ยในเงินดังกล่าว จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องและไม่ใช่เป็นกรณีเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 52 ที่ศาลแรงงานกลางจะมีอำนาจพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ กล่าวหาว่าโจทก์ให้คนงานเลิกงานก่อนเวลาซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะการเข้าทำงานหรือเลิกงานมีระเบียบต้องตีบัตรลงเวลาเข้าและออกด้วยตนเอง และโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมทั้งไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าด้วย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขาดรายได้และครอบครัวของโจทก์ต้องเดือดร้อนต้องไปกู้เงินจากบุคคลอื่นมาใช้จ่ายในครอบครัว ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมและอัตราค่าจ้างเท่าเดิม และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างประจำ นับแต่วันฟ้องถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของยอดเงินค่าเสียหาย และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์นับจากวันเลิกจ้างถึงวันฟ้องเป็นเงิน1,466 บาท
จำเลยให้การด้วยวาจาว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ได้กระทำผิดระเบียบของบริษัท เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายตามข้อ 47แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ ขณะที่เลิกจ้างโจทก์ไม่ได้เป็นกรรมการลูกจ้างโจทก์ได้พ้นจากตำแหน่งกรรมการลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2534จำเลยไม่จำต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมและอัตราค่าจ้างเท่าเดิม ไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จำเลยยินดีจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 6 วัน นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2535ถึงวันที่ 6 มกราคม 2535 เป็นเงิน 1,080 บาท หักเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 16.20 บาท คงเหลือ 1,064 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 32,400 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 7 มกราคม 2535เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน1,063.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยประการแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลย แต่การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีที่ไม่ร้ายแรง เมื่อจำเลยไม่เคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือกรณีจึงยังไม่เข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(3) โจทก์ทำงานเป็นเวลาติดต่อกันกว่า 3 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย 32,400 บาทเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ อาศัยอำนาจตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522จึงพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ 32,400 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 7 มกราคม 2535ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ และจำเลยรับว่าค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ 1,080 บาท หักเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 16.20 บาทเหลือ 1,063.80 บาท จึงต้องจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 52 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้”ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวในฟ้องเพียงว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ย ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เรียกค่าชดเชยและค่าจ้างที่ค้างจ่ายจากจำเลย ทั้งมิได้มีคำขอบังคับให้จำเลยรับผิดในเงินดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาล่วงเลยไปให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างที่ค้างจ่ายพร้อมด้วยดอกเบี้ยในเงินดังกล่าว จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง และไม่ใช่เป็นกรณีเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความซึ่งศาลแรงงานกลางจะมีอำนาจพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมด้วยดอกเบี้ยในเงินดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 52 อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ก็ไม่ต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยอีกข้อหนึ่งที่ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ อีกต่อไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมด้วยดอกเบี้ยในเงินดังกล่าวแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าชดเชยและค่าจ้างค้างจ่ายจากจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง