คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2460/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องที่1และที่3เป็นบิดาและย่าของผู้เยาว์ทั้งสามได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแต่งตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ทั้งสามเป็นการชั่วคราวซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1585และ1586กำหนดให้บุคคลซึ่งกฎหมายระบุไว้อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ปกครองให้ผู้เยาว์ได้เฉพาะกรณีที่ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองแต่ข้อเท็จจริงตามคำร้องก่อนที่ผู้ร้องที่1กับด. จดทะเบียนหย่าขาดกันอำนาจปกครองผู้เยาว์อยู่ที่ผู้ร้องที่1กับด. ตามมาตรา1566เมื่อคนทั้งสองจดทะเบียนหย่าขาดกันมาตรา1520วรรคหนึ่งกฎหมายเปิดโอกาสให้ผู้ร้องที่1และด. ทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดแต่ตามบันทึกท้ายทะเบียนหย่าผู้ร้องที่1กับด. เพียงตกลงกันให้ด. มีภาระหน้าที่ปกครองอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสามเท่านั้นไม่มุ่งหมายถึงการใช้อำนาจปกครองและทั้งไม่มีการร้องขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดอำนาจการปกครองผู้เยาว์ทั้งสามคงอยู่กับผู้ร้องที่1และด. ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้เยาว์ทั้งสามและเมื่อด. ตายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1566(1)ก็บัญญัติเป็นพิเศษอีกว่าให้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ตกอยู่แก่ผู้ร้องที่1โดยไม่คำนึงถึงว่าผู้ร้องที่1ซึ่งเป็นบิดามีกิริยาความประพฤติไม่เหมาะสมเพราะต้องคำพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตฐานฆ่าด. และพยายามฆ่าส. โดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ตราบใดที่ไม่มีการเพิกถอนอำนาจการปกครองเสียทั้งหมดหรือบางส่วนตามที่มาตรา1582บัญญัติไว้ผู้ร้องที่1ยังคงมีอำนาจการปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสามอยู่กรณีจึงไม่อาจจัดให้มีผู้ปกครองผู้เยาว์ทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1585ขึ้นอีกได้เนื่องจากผู้ร้องที่1ซึ่งเป็นบิดาของผู้เยาว์ทั้งสามยังมีชีวิตอยู่ด้วยเหตุดังกล่าวผู้ร้องที่1และที่3จึงไม่มีสิทธิหรืออำนาจตามกฎหมายที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ปกครองหรือเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสามซ้ำอีก

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งสี่ยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นบิดาผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 เป็นป้า และผู้ร้องที่ 3 เป็นย่าของเด็กชายปรัชญา ศิริวัฒนา เด็กชายปวรรัตน์ ศิริวัฒนา และเด็กหญิงปรารถนา ศิริวัฒนา อันเกิดกับผู้ร้องที่ 1 กับนางดวงรัตน์ ศิริวัฒนา ต่อมาผู้ร้องที่ 1 กับนางดวงรัตน์จดทะเบียนหย่าขาดจากกัน โดยให้ผู้เยาว์ทั้งสามอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของนางดวงรัตน์ ครั้นวันที่ 22 กรกฎาคม 2533นางดวงรัตน์ถึงแก่ความตาย ผู้เยาว์ทั้งสามไม่มีผู้ปกครองและผู้อุปการะเลี้ยงดู ทั้งไม่สามารถจัดการทรัพย์สินที่มีสิทธิได้รับมรดกของนางดวงรัตน์ นอกจากนี้ผู้เยาว์ทั้งสามยังมีคดีพิพาทกับบุคคลอื่น และบกพร่องในเรื่องความสามารถ ผู้ร้องทั้งสี่ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้ปกครองผู้เยาว์มีรายได้เพียงพออุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้งสามได้ ขอให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ร้องทั้งสี่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือปกครองผู้เยาว์ทั้งสาม
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นยายของผู้เยาว์ทั้งสาม ผู้ร้องที่ 1 ได้ฆ่านางดวงรัตน์ ศิริวัฒนาและลักพาผู้เยาว์ทั้งสามไปจากผู้ดูแลโดยมุ่งประสงค์ต่อทรัพย์สินของผู้เยาว์ทั้งสาม แล้วผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางดวงรัตน์ การกระทำของผู้ร้องที่ 1 ขัดกับผลประโยชน์ของผู้เยาว์ทั้งสาม และพยายามเข้ายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ จึงไม่สมควรเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ ส่วนผู้ร้องที่ 2ถึงที่ 4 กระทำความประสงค์ของผู้ร้องที่ 1 เพื่อจะได้จัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ ขอให้ศาลยกคำร้อง และมีคำสั่งแต่งตั้งนางสัมพันธ์ สาระธนะ อัยการจังหวัดปทุมธานี ร่วมกับนาวาอากาศเอกหญิงประจวบ ตันตราภรณ์ ญาติสนิทของผู้เยาว์ทั้งสามเป็นผู้ปกครองชั่วคราวจนกว่าคดีความจะเสร็จสิ้น โดยนาวาอากาศเอกหญิงประจวบไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ทั้งสาม
ระหว่างพิจารณาผู้ร้องที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะผู้ร้องที่ 2 ส่วนผู้ร้องที่ 4 ขอถอนคำร้องขอเป็นผู้ปกครอง ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งตั้งให้นางสนัด สุขโขผู้ร้องที่ 3 เป็นผู้ปกครองเด็กชายปรัชญา ศิริวัฒนาเด็กชายปวรรัตน์ ศิริวัฒนา และเด็กหญิงปรารถนา ศิริวัฒนาโดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย คำขออื่นให้ยกและยกคำร้องในส่วนขอตั้งผู้ปกครองของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้าน อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น และให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง คำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านและไม่รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้าน ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องขอโดยผู้คัดค้านไม่ได้คัดค้านว่า เดิมผู้ร้องที่ 1 กับนางดวงรัตน์ศิริวัฒนา เป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 3 คนตามลำดับ คือเด็กชายปรัชญา เด็กชายปวรรัตน์และเด็กหญิงปราถนา ศิริวัฒนา ส่วนผู้ร้องที่ 3 เป็นย่าของผู้เยาว์ทั้งสาม ต่อมาผู้ร้องที่ 1 กับนางดวงรัตน์จดทะเบียนหย่าขาดจากกัน โดยตกลงให้ผู้เยาว์ทั้งสามอยู่ในความปกครองอุปการะเลี้ยงดูของนางดวงรัตน์ ครั้นวันที่ 22 กรกฎาคม 2533นางดวงรัตน์ถึงแก่ความตาย คดีมีปัญหาว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้อง ยกคำร้องคัดค้าน และยกคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นชอบหรือไม่ โดยผู้คัดค้านฎีกาว่าเมื่อผู้ร้องที่ 1 หย่าขาดจากนางดวงรัตน์ ได้ทำความตกลงไว้ว่า ผู้ร้องที่ 1 ซึ่งปกติชอบเล่นการพนัน ไม่ดูแลอุปการะครอบครัว ไม่สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ตามสัญญาทะเบียนหย่าเอกสารหมาย ร.16เมื่อนางดวงรัตน์ถึงแก่ความตายกรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566(1) อำนาจปกครองของนางดวงรัตน์จึงไม่ตกแก่ผู้ร้องที่ 1 มิฉะนั้นจะขัดต่อความมุ่งหมายของกฎหมายที่ต้องการคุ้มครองผู้เยาว์ นอกจากนี้ศาลจังหวัดปทุมธานียังได้พิพากษาลงโทษประหารชีวิตผู้ร้องที่ 1 ข้อหาฆ่านางดวงรัตน์และพยายามฆ่านายเสนอ สุขโข โดยไตร่ตรองไว้ก่อนอีกด้วยตามคำพิพากษาศาลจังหวัดปทุมธานีคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2461/2538จึงไม่สมควรให้ผู้ร้องที่ 1 หรือผู้ร้องที่ 3 เป็นผู้ปกครองอันเป็นผลให้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินผู้เยาว์ทั้งสามในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ในการพิจารณาคดีแพ่งในเบื้องแรก ศาลจำเป็นต้องพิเคราะห์คำฟ้องหรือคำร้องขอก่อนว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งหรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลหรือไม่ ในกรณีแรกโจทก์ต้องเสนอคดีโดยคำฟ้องมีข้อพิพาทคำฟ้องต้องบรรยายใจความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 ในกรณีหลังผู้ร้องขอต้องเสนอคดีโดยทำเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตามมาตรา 188 และต้องเป็นกรณีที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้สิทธิหรืออำนาจกระทำได้เท่านั้น ในคดีนี้ผู้ร้องที่ 2 ถึงแก่ความตาย และผู้ร้องที่ 4 ขอถอนคำร้องระหว่างพิจารณาตามลำดับ ผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องประสงค์ให้ศาลแต่งตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ทั้งสามเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1585 และ 1586 กำหนดให้บุคคลซึ่งกฎหมายระบุไว้อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ปกครองให้ผู้เยาว์ได้เฉพาะกรณีที่ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง แต่ข้อเท็จจริงตามคำร้องก่อนที่ผู้ร้องที่ 1 กับนางดวงรัตน์จดทะเบียนหย่าขาดกันอำนาจปกครองผู้เยาว์อยู่ที่ผู้ร้องที่ 1 กับนางดวงรัตน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 เมื่อคนทั้งสองจดทะเบียนหย่าขาดกัน มาตรา 1520 วรรคแรก กฎหมายเปิดโอกาสให้ผู้ร้องและนางดวงรัตน์ทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด แต่ในคดีนี้ตามบันทึกท้ายทะเบียนหย่าเอกสารหมาย ร.16 ผู้ร้องที่ 1 กับนางดวงรัตน์เพียงตกลงกันให้นางดวงรัตน์มีภาระหน้าที่ปกครองอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสามเท่านั้น ไม่มุ่งหมายถึงการใช้อำนาจปกครอง และทั้งไม่มีการร้องขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด อำนาจการปกครองผู้เยาว์ทั้งสามคงอยู่กับผู้ร้องที่ 1 และนางดวงรัตน์ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้เยาว์ทั้งสาม และเมื่อนางดวงรัตน์ตายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566(1) ก็บัญญัติเป็นพิเศษอีกว่าให้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ตกอยู่แก่ผู้ร้องที่ 1 ไม่คำนึงถึงว่าผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นบิดามีกิริยาความประพฤติเป็นเช่นดั่งที่ผู้คัดค้านฎีกาหรือไม่ ตราบใดที่ไม่มีการเพิกถอนอำนาจการปกครองเสียทั้งหมดหรือบางส่วนตามที่มาตรา 1582 บัญญัติไว้ ผู้ร้องที่ 1ยังคงมีอำนาจการปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสามอยู่ กรณีจึงไม่อาจจัดให้มีผู้ปกครองผู้เยาว์ทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1585 ขึ้นอีกได้ เนื่องจากผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาของผู้เยาว์ทั้งสามยังมีชีวิตอยู่ ด้วยเหตุดังกล่าวผู้ร้องที่ 1และที่ 3 จึงไม่มีสิทธิหรืออำนาจตามกฎหมายที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ปกครองหรือเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสามซ้ำอีก และเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาอนุญาตโดยปราศจากอำนาจที่กฎหมายรับรอง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ต้องพิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ยกคำร้องยกคำคัดค้านของผู้คัดค้าน แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและไม่รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะไม่ปรากฏว่าอุทธรณ์ผู้คัดค้านต้องห้ามตามกฎหมาย หรือศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาหรือว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งแต่อย่างไร ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้าน

Share