คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 246/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2524และชำระภาษีเงินได้บางส่วนแล้วก่อนที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมิน โจทก์ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 22 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การที่จำเลยที่ 2 ประเมินให้โจทก์รับผิดเสียเงินเพิ่มอีก 2 เท่าตามมาตรา 26 จึงเป็นการไม่ชอบ และการที่จำเลยประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้เต็มจำนวนโดยมิได้หักภาษีเงินได้ที่โจทก์ชำระเงินไว้แล้วออกเสียก่อน ทำให้โจทก์ต้องชำระภาษีเงินได้ซ้ำซ้อนโจทก์มีอำนาจฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการประเมินในส่วนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้โดยไม่จำต้องใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อน โจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปี 2523 คงยื่นแต่แบบแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปี 2524 แม้เจ้าพนักงานประเมินจะได้ทำการประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์ไปแล้วก็ตาม ภายใน5 ปีนับแต่วันที่โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ เจ้าพนักงานประเมินก็มีอำนาจแก้จำนวนเงินที่ประเมินหรือที่ยื่นรายการไว้เดิม หรือทำการประเมินใหม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19,20 และ 21 ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกให้โจทก์นำบัญชีพร้อมหลักฐานเอกสารประกอบการลงบัญชีและอื่น ๆ สำหรับปี 2523,2524 ไปส่งให้เจ้าพนักงานประเมินเพื่อตรวจสอบ แต่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามเจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้ประจำปี 2523และ 2524 ของโจทก์ตามที่รู้เห็นว่าถูกต้องได้ตามมาตรา 25 และมาตรา 21 ตามลำดับ ซึ่งทั้งสองกรณีโจทก์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน โจทก์จึงหมดสิทธิฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้วินิจฉัยว่าโจทก์มีเงินได้พึงประเมินเป็นจำนวนเท่าใด

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้ ที่ต.5/1049/1/51308 ลงวันที่ 26 มกราคม 2526 ในส่วนที่โจทก์ต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 2 เท่า เป็นว่าให้โจทก์ต้องรับผิดเสียภาษีเพิ่มร้อยละ 20 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่ม โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้หักภาษีเงินได้ประจำปี 2524 ที่โจทก์ชำระไว้แล้วตามที่กล่าวในฟ้องออกจากจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้ที่ ต.5/1049/1/51309 ลงวันที่ 26 มกราคม2526 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาที่ว่า โจทก์เคยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้และชำระภาษีเงินได้มาก่อนการประเมินของจำเลยหรือไม่ ตัวโจทก์เบิกความยืนยันว่าในปี 2524 พยานยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ไว้ที่สำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 3ซึ่งเป็นหน่วยงานของจำเลยที่ 1 อยู่ที่พญาไท เมื่อวันที่ 31มีนาคม 2525 และชำระภาษีเป็นจำนวนเงิน 16,000 บาทเศษ ปรากฏตามใบเสร็จรับเงิน เอกสารหมาย จ.1 ต่อมาเดือนเมษายน 2525 พยานได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมิน สำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 3ให้ส่งมอบบัญชีและหลักฐานการก่อสร้างและซื้อขาย เอกสารหมาย จ.2เพื่อตรวจสอบคำนวณภาษีเพิ่มจากที่พยานได้ยื่นไว้ พยานปฏิบัติตามหมายเรียกและไปให้เจ้าพนักงานประเมินไต่สวน ปรากฏว่าพยานต้องเสียภาษีเงินได้เพิ่มอีกเป็นเงิน 34,000 บาทเศษ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 พยานได้นำเงินภาษีเงินได้ที่เจ้าพนักงานประเมินให้พยานเสียเพิ่มดังกล่าวไปชำระเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2525 ตามใบเสร็จรับเงิน เอกสารหมาย จ.4 เห็นว่านอกจากโจทก์จะมีใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.1 ที่ชำระเงินภาษีเงินได้ในขณะที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้และใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.4 ที่เจ้าพนักงานสรรพากรเขตพื้นที่ 3 ประเมินให้เสียภาษีเพิ่มมาแสดงต่อศาลแล้ว นายสมมาตร สังขะทรัพย์ พยานโจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งสรรพากรเขตพื้นที่ 3 และเป็นผู้ออกหมายเรียกโจทก์ตามเอกสารหมายจ.2 มาตรวจสอบไต่สวนได้เบิกความสอดคล้องกับโจทก์ว่า ก่อนออกหมายเรียกโจทก์มาตรวจสอบไต่สวนพยานทราบว่าโจทก์เคยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2524 และเมื่อตรวจสอบแล้วนายชาญยุทธปทุมมารักษ์ หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบภาษีอากรในเขตพื้นที่ 3 ได้ประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์เพิ่มเติม ตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งนายชาญยุทธพยานโจทก์ได้เบิกความสนับสนุนคำโจทก์และนายสมมาตรว่า เอกสารหมาย จ.3 พยานเป็นผู้ประเมิน จากเอกสารดังกล่าว แสดงว่าโจทก์เคยเสียภาษีเงินได้มาก่อน นอกจากนี้ตามรายการประเมินในเอกสารหมาย จ.3 เลขที่ 8 ได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า เงินภาษีเงินได้ที่หักไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่ง และที่ได้ชำระไว้แล้ว 16,441.82บาท ทั้งนางระวีวรรณ ธัมมรัคคิต จำเลยที่ 3 ยังเบิกความเจือสมกับคำโจทก์ว่า เอกสารหมาย จ.3 แสดงว่าได้เคยยื่นเสียภาษีแล้วแต่ยังไม่ถูกต้องจึงเรียกเงินเพิ่ม และยิ่งไปกว่านี้ตามสำนวนการตรวจสอบภาษีอากร นายเพียว อรรถวณิช (โจทก์) ประเภทบุคคลธรรมดาและการค้าปี 2524 ซึ่งจำเลยอ้างส่งเป็นพยานต่อศาล เอกสารหมาย ล.12 แผ่นที่ 54 ถึง 58 (ตัวเลขเขียนด้วยดินสอดำอยู่ภายในวงกลม) เห็นได้ชัดว่าเป็นแบบยื่นแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2524 ที่โจทก์ยื่นไว้ต่อเจ้าพนักงานโดยมีเจ้าพนักงานลงชื่อรับไว้ในแผ่นที่ 54 มุมบนด้านขวามือและในแผ่นที่ 54 นั้นเองบรรทัดที่ 4 นับจากข้างบนใต้ชื่อนายเพียวชื่อสกุลอรรถวนิชมีข้อความว่า 31-325 304426 ส-15 16,441.00 บาท ซึ่งตรงกับข้อความที่อยู่ข้างบนของใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.1 แสดงว่าโจทก์ได้ชำระเงินภาษีเงินได้ตามแบบยื่นแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2524 เอกสารหมาย ล.12 แผ่น 54 ถึง 58 นั้นแล้วตามใบเสร็จรับเงินเอกสาร จ.1 จึงเชื่อว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและได้ชำระภาษีเงินได้ประจำปี 2524 ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.4 แล้วด้วย ที่จำเลยอ้างว่าได้ค้นหลักฐานจากกองภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและกองภาษีการค้า ปรากฏว่าไม่มีแบบยื่นแสดงรายการภาษีเงินได้ของโจทก์ แสดงว่าโจทก์ไม่ได้นำรายรับมาแสดงเพื่อเสียภาษีเงินได้นั้น เห็นว่าข้ออ้างของจำเลยขัดกับเอกสารหมาย ล.12 ที่จำเลยอ้างส่งต่อศาลดังกล่าว เพราะตามเอกสารหมาย ล.12 มีแบบยื่นแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2524 ของโจทก์รวมอยู่ด้วย และที่จำเลยอ้างว่าเอกสารหมาย จ.1และ จ.4 เป็นเอกสารปลอม จำเลยก็ไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุนข้ออ้างของจำเลย ทั้งนายสมมาตรกับนายชาญยุทธพยานโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่หน่วยหนึ่งของจำเลยที่ 1ก็มิได้ยืนยันว่าเอกสารหมาย จ.1 และ จ.4 เป็นเอกสารปลอมแต่อย่างไรส่วนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่เขตพญาไท ถ้าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้และชำระภาษีเงินได้ประจำปี 2524จริง ใบเสร็จรับเงินจะต้องออกที่ที่ว่าการเขตพญาไท แต่ปรากฏว่าใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.1 ออกที่ที่ทำการเขตห้วยขวางก็ดี ใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.4 ไม่ปรากฏว่าออกที่ที่ทำการเขตใดก็ดี เพียงเท่านี้ไม่พอที่จะแสดงให้เห็นว่าใบเสร็จรับเงิน เอกสารหมาย จ.1 และ จ.4 เป็นเอกสารปลอม ข้ออ้างของจำเลยทุกข้อรับฟังไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและชำระภาษีเงินได้ไว้แล้ว ก่อนจำเลยที่ 1ทำการประเมิน โจทก์ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 22 การที่จำเลยที่ 2 ทำการประเมินให้โจทก์รับผิดเสียเงินเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าจำนวนเงินภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 26 จึงเป็นการไม่ชอบและในเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่าโจทก์ชำระภาษีเงินได้ประจำปี 2524 ไว้บ้างแล้ว การที่จำเลยประเมินภาษีเงินได้ ให้โจทก์ชำระเต็มจำนวนโดยมิได้หักภาษีเงินได้ที่โจทก์ชำระไว้แล้วออกเสียก่อน จึงทำให้โจทก์ต้องชำระภาษีเงินได้ซ้ำซ้อนกับภาษีเงินได้ที่โจทก์ได้ชำระไว้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยเกี่ยวกับภาษีเงินได้ประจำปี2524 ของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินเพิ่ม และให้นำภาษีเงินได้ที่โจทก์ชำระไว้บ้างแล้วไปหักออกจากภาษีเงินได้ของโจทก์ที่จำเลยที่ 2 ทำการประเมินไว้จึงเป็นการชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสามฎีกาข้อต่อมาว่า เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินจากจำเลยตามเอกสารหมาย จ.7 แล้ว โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 แสดงว่าโจทก์พอใจ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องทั้งการประเมินภาษีอากรและเงินเพิ่มนั้น เห็นว่าเมื่อคดีฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 2 ทำการประเมินให้โจทก์รับผิดเสียเงินเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าจำนวนภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 26เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น โจทก์ไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30โจทก์มีอำนาจที่จะมาฟ้องต่อศาล ขอให้เพิกถอนการประเมินในส่วนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้เลย โดยไม่จำต้องใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อนแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
ส่วนที่โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า จำเลยประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์ประจำปี 2524 เป็นการประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 25, 26 ซึ่งการประเมินดังกล่าวห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมินตาม มาตรา 30(1)เมื่อกฎหมายห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน ทำให้โจทก์ไม่มีโอกาสแสดงหลักฐานว่าโจทก์มีเงินได้พึงประเมินจำนวนเท่าใด โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้และที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์มีเงินได้พึงประเมินประจำปี 2523 และปี 2524 โดยต้องเสียภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในปี 2523 โจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ ส่วนปี 2524 แม้โจทก์จะยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้และเจ้าพนักงานประเมินสรรพากรเขตพื้นที่ 3 จะได้ทำการประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์ไปแล้วก็ตาม ภายในเวลา 5 ปีนับแต่วันที่โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 มีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ก็มีอำนาจแก้จำนวนเงินที่ประเมินหรือที่ยื่นรายการไว้เดิม หรือทำการประเมินใหม่ได้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19, 20และ 21 ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ออกหมายเรียกให้โจทก์นำบัญชีพร้อมหลักฐานเอกสารประกอบการลงบัญชีใบเสร็จภาษีการค้าสัญญาซื้อขายและอื่น ๆ สำหรับปี 2523 และปี2524 ไปส่งให้เจ้าพนักงานประเมินเพื่อตรวจสอบ แต่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมิน ดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้ประจำปี 2523 ของโจทก์ตามที่รู้เห็นว่าถูกต้องได้ตามมาตรา 25 และเจ้าพนักงานมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้ประจำปี 2524 ของโจทก์ตามที่รู้เห็นว่าถูกต้องได้ ตามมาตรา 21ซึ่งทั้งสองกรณีดังกล่าว ตามมาตรา 21 และ 25 ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะรื้อฟื้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินขึ้นโต้แย้งที่แท้จริงประจำปี2523 และปี 2524 เป็นจำนวนเท่าใด ทั้งนี้เพราะการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นอันยุติไปตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ดังกล่าวแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในปัญหาที่โจทก์ฎีกาข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share