คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2459-2460/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยทั้งสี่กับพวกขับรถจักรยานยนต์ติดตามผู้เสียหายมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 และ น. มีมีดติดตัวไปด้วย แม้มีดที่ น. พาติดตัวไปจะมีขนาดใหญ่เป็นที่สังเกตเห็นได้โดยง่ายแก่บุคคลทั่วไปรวมทั้งจำเลยทั้งสี่ด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่มีพฤติการณ์สมคบกันที่จะใช้มีดนั้นฟันทำร้ายผู้เสียหาย ทั้งเหตุที่จำเลยทั้งสี่ทำร้ายผู้เสียหายก็เป็นสาเหตุเพียงเล็กน้อยไม่น่าจะถึงกับเอาชีวิตกัน และเมื่อ น. ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายแล้ว จำเลยที่ 4 ได้ผลัก น. ออกไปเพื่อหยุดยั้งไม่ให้ น. ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายอีก ส่วนจำเลยที่ 2 ก็มิได้ใช้มีดที่พามาฟันทำร้ายผู้เสียหาย คงมีเพียง น. ผู้เดียวที่ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหาย ทั้งเป็นการฟันทำร้ายหลังจากที่จำเลยทั้งสี่รุมเตะต่อยและใช้ไม้ตีทำร้ายผู้เสียหายเสร็จแล้ว การที่จำเลยทั้งสี่มิได้ห้ามปราม น. ไม่ให้พามีดดังกล่าวติดตัวไป ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกับ น. ที่จะใช้มีดนี้ก่อเหตุ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ดึงกุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายออกจากรถแล้วขว้างทิ้งหรือการที่จำเลยที่ 2 ดึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกจากมือของผู้เสียหาย น่าจะเป็นการกระทำเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายหลบหนีและติดต่อขอความช่วยเหลือเพื่อความสะดวกในการที่กลุ่มของจำเลยทั้งสี่จะรุมทำร้ายผู้เสียหายมากกว่าจะฟังว่าเป็นการสมคบกันมาใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า พฤติการณ์ที่ น. ใช้มีดขนาดใหญ่ฟันผู้เสียหายที่บริเวณศีรษะและใบหน้าหลายครั้งหลังจากจำเลยทั้งสี่ไม่ได้รุมทำร้ายผู้เสียหายแล้ว เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันอันเกิดจากการตัดสินตามลำพังของ น. เอง นอกเหนือขอบเขตแห่งเจตนาของจำเลยทั้งสี่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ประสงค์จะถือเอาการกระทำของ น. เป็นการกระทำของจำเลยทั้งสี่ด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกับ น. พยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่เมื่อผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสอันเนื่องมาจาก น. ใช้มีดฟันทำร้าย เกิดขึ้นจากการที่จำเลยทั้งสี่และ น. คบคิดกันมาทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลที่เกิดจากการกระทำของ น. ดังกล่าวด้วย จำเลยทั้งสี่มีความผิดเพียงฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสเท่านั้น

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 92, 288, 358, 371 และเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 และที่ 4 ตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยทั้งสี่ขอแก้ไขคำให้การเป็นรับสารภาพข้อหาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์และข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีข้อหาดังกล่าวออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8), 371 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 3 อายุ 19 ปี แต่มีความรู้สึกผิดชอบอย่างผู้ใหญ่แล้ว จึงไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส จำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับคนละ 1,000 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 และที่ 4 เฉพาะกระทงที่ศาลให้ลงโทษจำคุกคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 4 คนละ 5 ปี 4 เดือน จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 4 คนละ 2 ปี 8 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 2 ปี และปรับ คนละ 1,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 4 คนละ 2 ปี 8 เดือน และปรับคนละ 1,000 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไว้คนละ 1 ปี โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 1 และที่ 3 เห็นสมควร 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ที่แก้ไขใหม่ หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 ให้จำคุกคนละ 10 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 และที่ 4 คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 4 คนละ 13 ปี 4 เดือน ทางนำสืบของจำเลยทั้งสี่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 6 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 2 และที่ 4 คนละ 8 ปี 10 เดือน 20 วัน เมื่อรวมกับโทษปรับฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก จำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 6 ปี 8 เดือน และปรับคนละ 1,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 4 คนละ 8 ปี 10 เดือน 20 วัน และปรับคนละ 1,000 บาท ไม่รอการลงโทษและไม่คุมความประพฤติจำเลยที่ 1 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งในชั้นนี้ว่า วันเกิดเหตุวันที่ 16 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 3 นาฬิกา นายภาณุวัฒน์ ผู้เสียหายกับนายณัฐพงศ์ เพื่อนของผู้เสียหายนั่งดื่มสุราอยู่ที่ร้านครัวลูกทุ่ง ซึ่งจำเลยทั้งสี่กับพวกรวมประมาณ 10 คน ก็นั่งดื่มสุราอยู่ด้วย แล้วผู้เสียหายมีเรื่องโต้เถียงกับกลุ่มของจำเลยทั้งสี่ นายณัฐพงศ์จึงบอกให้ผู้เสียหายกลับบ้าน ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ออกจากร้านได้ประมาณ 500 เมตร มาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยทั้งสี่กับพวกขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์หลายคันติดตามมา โดยจำเลยที่ 4 เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์คันหนึ่ง มีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายและถือมีด แล้วจำเลยที่ 4 ถีบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจนล้มลง จากนั้นจำเลยทั้งสี่กับพวกเข้าไปรุมทำร้ายผู้เสียหาย โดยจำเลยที่ 3 ชกและใช้ไม้ตีผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 1 ดึงกุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายออกจากรถแล้วชกผู้เสียหาย 1 ที จำเลยที่ 2 ดึงโทรศัพท์เคลื่อนที่จากมือของผู้เสียหายขว้างทิ้ง ขณะที่ผู้เสียหายล้มลงนอนหงาย จำเลยที่ 4 กระทืบผู้เสียหายซ้ำ แล้วนายนพดล พวกของจำเลยทั้งสี่ใช้มีดยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ฟันที่บริเวณศีรษะและใบหน้าของผู้เสียหายหลายครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส มีบาดแผลฉีกขาดขอบเรียบบริเวณศีรษะส่วนบนยาว 13 เซนติเมตร บาดแผลฉีกขาดขอบเรียบบริเวณหน้าผากยาว 8 เซนติเมตร บาดแผลฉีกขาดขอบเรียบบริเวณแก้มซ้ายยาว 4 เซนติเมตร กะโหลกศีรษะบริเวณหน้าผากแตก และบาดแผลฟกซ้ำบริเวณสะบักขวากว้าง 6 เซนติเมตร ยาว 7 เซนติเมตร แล้วจำเลยทั้งสี่กับพวกพากันหลบหนีไป หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่มูลนิธิพาผู้เสียหายไปส่งโรงพยาบาล ต่อมาเวลาประมาณ 9 นาฬิกา มารดาของผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจเอกประเทือง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรโพธิ์แก้ว ครั้นวันที่ 29 มีนาคม 2559 ร้อยตำรวจเอกประเทืองเชิญจำเลยที่ 1 มาให้ถ้อยคำ วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 จำเลยที่ 1 เข้ามอบตัวต่อร้อยตำรวจเอกประเทือง แล้วร้อยตำรวจเอกประเทืองแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยที่ 1 ว่า ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ต่อมาร้อยตำรวจเอกประเทืองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และนายนพดล วันที่ 20 กันยายน 2559 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ วันที่ 21 กันยายน 2559 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 4 ได้ จำเลยที่ 2 และที่ 4 เคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกและกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่า จำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกับนายนพดลพยายามฆ่าผู้เสียหายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า จำเลยทั้งสี่มีเพียงเจตนาทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น มิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย เห็นว่า เหตุที่จำเลยทั้งสี่กับพวกขับรถจักรยานยนต์ติดตามไปทำร้ายผู้เสียหาย ก็เพราะกลุ่มของจำเลยทั้งสี่เข้าใจผิดคิดว่าขณะอยู่ที่ร้านครัวลูกทุ่ง ผู้เสียหายตะโกนให้ของลับแก่กลุ่มของจำเลยทั้งสี่ จึงทำให้กลุ่มของจำเลยทั้งสี่โกรธ โดยจำเลยที่ 1 ให้การในชั้นสอบสวนว่า หลังจากเกิดเรื่องโต้เถียงกับผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสี่กับพวกขับรถจักรยานยนต์ติดตามผู้เสียหายมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 และนายนพดลมีมีดติดตัวไปด้วย แม้มีดที่นายนพดลพาติดตัวไปด้วยจะมีขนาดใหญ่เป็นที่สังเกตเห็นได้โดยง่ายแก่บุคคลทั่วไปรวมทั้งจำเลยทั้งสี่ด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่มีพฤติการณ์สมคบกันที่จะใช้มีดนั้นฟันทำร้ายผู้เสียหายด้วย ทั้งเหตุที่จำเลยทั้งสี่ทำร้ายผู้เสียหายก็เป็นสาเหตุเพียงเล็กน้อยไม่น่าจะถึงกับเอาชีวิตกัน ดังจะเห็นได้จากเมื่อนายนพดลใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายแล้ว จำเลยที่ 4 ได้ผลักนายนพดลออกไปเพื่อหยุดยั้งไม่ให้นายนพดลใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายอีก ส่วนจำเลยที่ 2 ก็มิได้ใช้มีดที่พามาฟันทำร้ายผู้เสียหายแต่อย่างใด คงมีเพียงนายนพดลผู้เดียวที่ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหาย ทั้งเป็นการฟันทำร้ายหลังจากที่จำเลยทั้งสี่รุมเตะต่อยและใช้ไม้ตีทำร้ายผู้เสียหายเสร็จแล้ว การที่จำเลยทั้งสี่มิได้ห้ามปรามนายนพดลให้พามีดดังกล่าวติดตัวไป ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกับนายนพดลที่จะใช้มีดนี้ก่อเหตุ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ดึงกุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายออกจากรถแล้วขว้างทิ้งก็ดี หรือการที่จำเลยที่ 2 ดึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกจากมือของผู้เสียหายก็ดี น่าจะเป็นการกระทำเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายหลบหนีและติดต่อขอความช่วยเหลือเพื่อความสะดวกในการที่กลุ่มของจำเลยทั้งสี่จะรุมทำร้ายผู้เสียหายมากกว่าจะฟังว่าเป็นการสมคบกันมาใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า พฤติการณ์ที่นายนพดลใช้มีดขนาดใหญ่ฟันผู้เสียหายที่บริเวณศีรษะและใบหน้าหลายครั้งหลังจากจำเลยทั้งสี่ไม่ได้รุมทำร้ายผู้เสียหายแล้ว เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันอันเกิดจากการตัดสินตามลำพังของนายนพดลเอง นอกเหนือขอบเขตแห่งเจตนาของจำเลยทั้งสี่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ประสงค์จะถือเอาการกระทำของนายนพดลเป็นการกระทำของจำเลยทั้งสี่ด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกับนายนพดลพยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่เมื่อผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสอันเนื่องมาจากนายนพดลใช้มีดฟันทำร้าย เกิดขึ้นจากการที่จำเลยทั้งสี่และนายนพดลคบคิดกันมาทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลที่เกิดจากการกระทำของนายนพดลดังกล่าวด้วย จำเลยทั้งสี่มีความผิดเพียงฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่าจำเลยทั้งสี่มีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและไม่รอการลงโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น โดยให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share