คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 599/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ในใบยืมของระบุว่า หากจำเลยไม่ชดใช้สิ่งของที่ยืมไปก็ขอ ชดใช้เป็นเงินสด หากบิดพลิ้วยอมให้บริษัทดำเนินคดี ยอมชดใช้ ดอกเบี้ยให้บริษัท ว. โดยไม่ได้ระบุให้ชดใช้แก่โจทก์ก็ตามการที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มิใช่ตัวแทนของบริษัท ว. แต่โจทก์ได้โควต้าขายใบยาสูบให้บริษัท ว. โดยโจทก์ต้องซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลงยาบำรุงต่าง ๆ ทั้งยังมีผู้จัดการบริษัท ว. มาเบิกความรับรองและข้างบนใบยืมของระบุว่าจำเลยยืมสิ่งของจากโจทก์และจำเลยลงชื่อ ผู้ยืมไว้กับโจทก์มีใบส่งสินค้าระบุชื่อร้านโจทก์ซึ่งระบุข้อความ ว่าจำเลยยืมของโจทก์ โจทก์นำใบยืมของบริษัท ว. มาใช้เพราะเพิ่งทำกิจการยาสูบเป็นครั้งแรก ดังนี้ โจทก์เบิกความและอธิบาย ผสมเหตุผลมีน้ำหนักฟังได้ว่าโจทก์มิใช่ตัวแทนบริษัท ว. จำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นไม่รับฟังพยานเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4เพราะจำเลยไม่ถามค้านขณะโจทก์เบิกความและไม่ส่งสำเนาให้ โจทก์ก่อนสืบพยาน 3 วัน เป็นการคลาดเคลื่อน ความจริงจำเลยได้ ถามค้าน พยานโจทก์ไว้เกี่ยวกับเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 จึงรับฟัง เป็นพยานหลักฐานได้ แต่จำเลยอุทธรณ์เรื่องเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าว และศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยว่าการที่จำเลยอ้างในคำให้การว่าจำเลย เป็นนายหน้าบริษัท ว.โจทก์เป็นตัวแทนของเขตจังหวัดพิจิตร เมื่อจำเลยรับของโจทก์ให้จำเลยเซ็นชื่อในใบยืมเพื่ออำพรางการเป็น นายหน้าไม่ประสงค์จะผูกพันนั้น ขัดต่อเหตุผลจะรับฟังเอกสาร หมาย ล.1 ถึง ล.4 เป็นพยานได้หรือไม่ก็ตามไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลง ข้อวินิจฉัยข้างต้นว่าไม่จำต้องวินิจฉัย ดังนี้จำเลยมิได้ฎีกา คัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในเรื่องนี้ไว้ศาลฎีกาจึง ไม่วินิจฉัยให้ การที่จำเลยยืมปุ๋ย ยาบำรุงใบยาสูบ และยาฆ่าแมลงจากโจทก์เพื่อทำใบยาสูบ ไม่ว่าจำเลยจะทำเองหรือไม่ เมื่อในใบยืมของไม่ได้กำหนดเวลาคืนสิ่งของไว้แต่ตามพฤติการณ์การให้ยืมสิ่งของดังกล่าวเพื่อใช้ในฤดูทำใบยาสูบ เมื่อสิ้นฤดูแล้วต้องส่งคืนหากใช้ไม่หมดส่วนที่ใช้แล้วไม่อาจส่งคืนได้ก็ต้องใช้ราคา เชื่อว่าจำเลยตกลง กับโจทก์ไว้ว่าต้องส่งคืนสิ่งของเมื่อสิ้นฤดูกาลทำใบยาสูบ ซึ่ง อนุมานได้ว่า ภายในสิ้นเดือนเมษายน 2526 เป็นกรณีที่ไม่ได้กำหนด เวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน การที่จำเลยไม่ส่งคืนของภายใน สิ้นเดือนเมษายน 2526จึงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด ต่อมาเมื่อโจทก์ มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยคืนของที่ยืมภายในวันที่ 11 เมษายน 2529 จำเลยไม่คืน จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัด นับแต่วันที่ 12 เมษายน 2529 สัญญายืมสิ่งของไม่ต้องปิดอากรแสตมป์เพราะมิได้กำหนดไว้ ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากรจึงรับฟัง เป็นพยานหลักฐานได้โดยไม่ต้องปิดแสตมป์ ไม่ต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 แม้ในคำฟ้องจะบรรยายว่า จำเลยคืนสิ่งของแก่โจทก์บางส่วนรวมเป็นเงิน 5,790 บาท ต่อมานำเงินมาชำระค่าสิ่งของแก่โจทก์ ยังเหลือสิ่งของรวมเป็นเงิน 48,480 บาท แต่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถาม ให้จำเลยคืนสิ่งของรวม 81,870 บาท นั้น ในหนังสือบอกกล่าวท้ายฟ้อง แสดงรายละเอียดของทรัพย์ที่จำเลยยืมโจทก์ไป 6 รายการ เป็นเงิน 48,480บาท ตรงตามฟ้อง ไม่รวมรายการที่ 7 ค่ากรรมกรขนของ คำฟ้อง กับคำบอกกล่าวจึงไม่ขัดกัน และจำเลยก็เข้าใจข้อหาต่อสู้คดี ได้ถูกต้องคำฟ้องโจทก์ แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และ คำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ฟ้องโจทก์ ไม่เคลือบคลุม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าจำเลยได้ยืมปุ๋ย ยาบำรุงใบยาสูบและยาฆ่าแมลงจากโจทก์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 81,870 บาท เพื่อนำไปใช้และจำหน่ายโดยตกลงว่าจำเลยจะคืนให้โจทก์เมื่อเสร็จฤดูการทำใบยาสูบคือภายในวันที่ 30 เมษายน 2526 ครั้นเมื่อถึงกำหนดจำเลยได้นำมาคืนให้แก่โจทก์บางส่วนคิดเป็นเงิน 5,790 บาท ต่อมาได้นำเงินมาชำระอีกบางส่วน ยังคงเหลือไม่คืนแก่โจทก์คิดเป็นเงินรวม 48,480 บาทโจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยคืนของที่ยังไม่คืนหากไม่สามารถคืนได้ก็ให้ชดใช้ราคารวมกันเป็นเงิน 48,480 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นตัวแทนของบริษัทวีระพาณิชย์ ส.ว.จำกัดมีหน้าที่ในการจัดซื้อหาใบยาสูบและจำหน่ายปุ๋ย ยาบำรุงใบยาสูบและยาฆ่าแมลงในเขตจังหวัดพิจิตร จำเลยเป็นนายหน้าของบริษัทวีระพาณิชย์ สว.จำกัด ในการจัดหาชาวไร่ผู้ทำการเพาะปลูกยาสูบให้มาทำการตกลงขายใบยาสูบแก่บริษัทวีระพาณิชย์ ส.ว.จำกัด และรับจัดหาชาวไร่ยาสูบมาทำการรับซื้อปุ๋ยยาบำรุงใบยาสูบและยาฆ่าแมลงทุกชนิดกับบริษัทวีระพาณิชย์ ส.ว.จำกัด บริษัทวีระพาณิชย์ ส.ว.จำกัดกำหนดให้จำเลยรับปุ๋ยและยาชนิดต่าง ๆ จากโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนไปมอบให้แก่ชาวไร่ยาสูบแต่ละราย จำเลยจึงมิใช่คู่สัญญากับโจทก์นิติกรรมการยืมของตามใบยืมทำขึ้นโดยเจตนาลวง เพื่ออำพรางการที่จำเลยเข้ารับเป็นนายหน้าการยืมของจากโจทก์มิได้กำหนดเวลาให้ใช้ของคืน หากโจทก์จะได้รับความเสียหายก็ได้รับความเสียหายนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2529 เป็นต้นไปเพราะเป็นเวลาสิ้นสุดที่โจทก์กำหนดให้จำเลยชำระหนี้ โจทก์เสียหายไม่เกิน 200 บาทฟ้องโจทก์ที่ว่า ต่อมาที่จำเลยนำเงินมาชำระบางส่วนนั้นไม่ระบุค่าอะไรจำนวนเท่าใดเมื่อใด จำเลยไม่เข้าใจไม่สามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้องเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ที่ยืมเป็นเงินจำนวน 48,840 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เชื่อคำเบิกความของโจทก์และวินิจฉัยว่า จำเลยได้ยืมสิ่งของจากโจทก์ไปตามเอกสารหมาย จ.2 นั้น จำเลยไม่เห็นด้วยเพราะเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งมีข้อความตอนท้ายว่า สิ่งของที่ข้าพเจ้ายืมไปตามรายการข้างบนนี้ หากข้าพเจ้าไม่สามารถชดใช้เป็นสิ่งของได้ข้าพเจ้าขอชดใช้เป็นเงินสดให้ทันที หากข้าพเจ้าบิดพลิ้วไม่ชำระ…ข้าพเจ้ายอมให้บริษัทฯ ดำเนินคดี… ตลอดจนยอมชดใช้ดอกเบี้ยให้แก่บริษัทวีระพาณิชย์ ส.ว.จำกัด… ซึ่งโจทก์อ้างว่าเหตุที่ใช้ใบยืมของบริษัทวีระพาณิชย์ ส.ว.จำกัด คือเอกสารหมาย จ.2 เพราะโจทก์เพิ่งทำกิจการใบยาสูบครั้งแรกจึงนำมาเป็นแบบนั้นขัดเหตุผล เพราะโจทก์สามารถทำใบยืมโดยกำหนดข้อความขึ้นใหม่ได้หรือหากโจทก์จะนำใบยืมดังกล่าวของบริษัทวีระพาณิชย์ ส.ว.จำกัด มาใช้ในนามของโจทก์ก็จะต้องแก้ไขข้อความเป็นชดใช้ให้โจทก์ การกระทำของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 แสดงให้เห็นว่า โจทก์กระทำในฐานะตัวแทนของบริษัทวีระพาณิชย์ ส.ว.จำกัด มิได้กระทำในฐานะส่วนตัว จำเลยเป็นนายหน้าของบริษัทดังกล่าว จำเลยจึงไม่ได้ยืมสิ่งของดังที่โจทก์ฟ้องนั้นโจทก์เบิกความว่าโจทก์ไม่ได้เป็นตัวแทนของบริษัทวีระพาริชย์ ส.ว.จำกัด โจทก์ได้โควตาขายใบยาสูบให้แก่บริษัทดังกล่าว 100,000กิโลกรัม โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์ต้องซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาบำรุงต่าง ๆ จากบริษัทดังกล่าว ซึ่งในเรื่องนี้ นายประทีป ทองอิ่มผู้จัดการบริษัทวีระพาณิชย์ ส.ว.จำกัด พยานโจทก์ได้เบิกความรับรองดังที่โจทก์เบิกความ เรื่องใบยืมของตามเอกสารหมาย จ.2 ก็มีข้อความข้างบนของเอกสารระบุชัดเจนว่า จำเลยเป็นผู้ยืมสิ่งของจากโจทก์รวม 6 รายการ และข้างท้ายของเอกสารดังกล่าว จำเลยได้ลงชื่อผู้ยืมไว้นอกจากนี้โจทก์ยังมีใบส่งสินค้าเอกสารหมาย จ.1 ระบุชื่อร้านโจทก์ข้อความดังกล่าวชัดแจ้งว่า จำเลยยืมสิ่งของต่าง ๆ จากโจทก์โจทก์ก็ได้เบิกความอธิบายว่า เอกสารหมาย จ.2 เป็นของบริษัทวีระพาณิชย์ ส.ว.จำกัด ซึ่งโจทก์นำมาใช้ เพราะเพิ่งทำกิจการใบยาสูบเป็นครั้งแรกและโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า โจทก์ไม่ได้เป็นตัวแทนบริษัทดังกล่าว เห็นว่าโจทก์เบิกความและอธิบายสมเหตุผลมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า โจทก์ไม่ใช่ตัวแทนของบริษัทวีระพาณิชย์ ส.ว.จำกัด ดังที่จำเลยอ้าง
ที่จำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นไม่รับฟังพยานเอกสารหมาย ล.1 ถึงล.4 เพราะจำเลยไม่ถามค้านขณะที่โจทก์เบิกความและไม่ได้ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนสืบพยาน 3 วัน เป็นการคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงความจริงจำเลยได้ถามค้านนายประทีปพยานโจทก์ไว้เกี่ยวกับเอกสารหมายล.1 และ ล.2 จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้นั้น ปรากฏว่าจำเลยได้อุทธรณ์ เรื่องเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวและศาลอุทธรณ์ภาค 2ได้วินิจฉัยสรุปว่า จำเลยอ้างในคำให้การว่าจำเลยเป็นนายหน้าของบริษัทวีระพาณิชย์ ส.ว.จำกัด ซึ่งโจทก์เป็นตัวแทนในเขตจังหวัดพิจิตรเมื่อจำเลยไปรับของ โจทก์ให้จำเลยเซ็นชื่อไว้ในใบยืมของเอกสารหมาย จ.2 โดยโจทก์อ้างว่า ที่ให้ทำหนังสือดังกล่าวเพื่ออำพรางการเป็นนายหน้าของจำเลยต่อบริษัทวีระพาณิชย์ ส.ว.จำกัด ไม่มีความประสงค์จะผูกพันตามกฎหมาย จึงขัดต่อเหตุผล จะรับฟังเอกสารหมายล.1 ถึง ล.4 เป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ก็ตามก็ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงข้อวินิจฉัยข้างต้นว่า ไม่จำต้องวินิจฉัยนั้น เห็นว่าตามฎีกาของจำเลย จำเลยมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2ในเรื่องนี้ไว้ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
ที่จำเลยฎีกาประเด็นว่าหนี้ถึงกำหนดชำระหรือไม่และค่าเสียหายเท่าไรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยฟังตามที่โจทก์นำสืบว่าใบยืมไม่ได้กำหนดเวลาส่งคืน แต่ตกลงกันว่าจำเลยจะส่งคืนของเมื่อสิ้นฤดูกาลทำใบยา คือภายในวันที่ 30 เมษายน 2526 หากคืนไม่ได้ก็จะชำระเป็นเงิน จำเลยนำสืบรับว่า เริ่มเก็บเกี่ยวใบยาสูบในเดือนเมษายน 2526 ใบยาสูบที่เก็บเกี่ยวแล้วต้องนำมาบ่มจนแห้งใช้เวลาเดือนเศษ ในเดือนเมษายน 2526 ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ปุ๋ยยาฆ่าแมลงและยาบำรุงใบยาอีก อนุมานจากพฤติการณ์ได้ว่า จะต้องส่งคืนในเดือนนั้นเมื่อจำเลยผิดนัดโจทก์จึงเรียกค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีได้จำเลยไม่เห็นด้วยเพราะเอกสารหมาย จ.2 ไม่ได้กำหนดเวลาที่จะใช้คืนสิ่งของที่โจทก์เบิกความว่าตกลงคืนของภายในวันที่ 30 เมษายน 2526 เป็นการอ้างลอย ๆ หากตกลงไว้จริง โจทก์คงไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาถึง 2 ปีเศษ จึงได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยคืนของแก่โจทก์ หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 652โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยคืนของครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2529และสิ้นสุดระยะเวลายืมสิ่งของวันที่ 12 เดือนเดียวกัน โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2529 ค่าเสียหายจึงมีแต่เพียงค่าทวงถามนั้นจำเลยนำสืบรับว่าเริ่มเก็บเกี่ยวใบยาสูบในเดือนเมษายน 2526 เห็นว่าการที่จำเลยยืมปุ๋ย ยาบำรุงใบยาสูบและยาฆ่าแมลงไปจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 ก็เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้ในการทำใบยาสูบจำเลยจะทำใบยาสูบเองหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญ แม้ตามเอกสารหมาย จ.2จะไม่ได้กำหนดเวลาคืนสิ่งของไว้ก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์การให้ยืมสิ่งของดังกล่าวเพื่อใช้ในฤดูกาลทำใบยาสูบเมื่อสิ้นฤดูกาลแล้วก็ต้องส่งคืนหากใช้ไม่หมด ส่วนที่ใช้ไปแล้วไม่อาจส่งคืนได้ก็ต้องใช้ราคา ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา เชื่อว่าจำเลยได้ตกลงกับโจทก์ไว้ว่าจะต้องส่งคืนสิ่งของเมื่อสิ้นฤดูการทำใบยาสูบ ซึ่งอนุมานได้ว่า คือภายในสิ้นเดือนเมษายน 2526 ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินเป็นเพียงอนุมานจากพฤติการณ์ การที่จำเลยยังไม่ส่งคืนของภายในสิ้นเดือนเมษายน 2526 จึงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด แต่เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2529 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยคืนของที่ยืมภายในวันที่ 11 เดือนเดียวกัน จำเลยไม่คืนของตามที่ทวงถาม จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ 12 เมษายน 2529ฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
จำเลยฎีกาว่าเอกสารหมาย จ.2 เป็นสัญญาที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรจึงจะใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาลได้ แต่เอกสารหมาย จ.2 ไม่ปิดอากรแสตมป์นั้น เห็นว่า สัญญายืมสิ่งของ มิได้กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ไม่ต้องห้ามตาม มาตรา 118 แห่งประมวลรัษฎากร
ที่จำเลยฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยไม่เห็นด้วย เพราะคำบรรยายฟ้องว่า จำเลยคืนสิ่งของแก่โจทก์บางส่วนรวมเป็นเงิน 5,790 บาท ต่อมาได้นำเงินมาชำระค่าสิ่งของแก่โจทก์ ยังคงเหลือสิ่งของรวมเป็นเงิน 48,480 บาทแต่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2529ให้จำเลยคืนสิ่งของรวม 81,870 บาท คำฟ้องกับคำบอกกล่าวขัดกันจำเลยไม่เข้าใจและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้องนั้น ปรากฏว่าหนังสือบอกกล่าวท้ายฟ้องหมายเลข 2 ลงวันที่ 2 เมษายน 2529 ได้แสดงรายละเอียด ของทรัพย์ที่จำเลยยืมโจทก์ไปรวม 6 รายการเป็นเงิน48,480 บาท ตรงตามฟ้อง โดยไม่รวมรายการที่ 7 ค่ากรรมกรขนของจึงไม่ขัดกันและจำเลยก็เข้าใจข้อหา ต่อสู้คดีได้ถูกต้อง เห็นว่าคำฟ้องโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนทรัพย์ที่ยืม ถ้าคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงิน 48,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 เมษายน 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.

Share