คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2457/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นกระทรวงในรัฐบาลและมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 4 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นเป็นผู้แทน ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นกรมในสังกัดของจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นอธิบดีกรมทางหลวงในขณะนั้นเป็นผู้แทน จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีทางหลวงรวมทั้งมีหน้าที่ดำเนินการสำรวจที่ดินเพื่อเวนคืนสำหรับสร้างทางหลวงอันเป็นสิ่งสาธารณูปโภค ดังนั้น การเวนคืนที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงเพื่อให้ได้ที่ดินมาใช้สร้างทางหลวงแผ่นดิน ย่อมเป็นกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยตรง นอกจากนี้ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2515 ซึ่งบัญญัติให้เวนคืนที่ดิน จำเลยที่ 2 ยังกำหนดให้จำเลยที่ 3เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และกำหนดให้จำเลยที่ 4เป็นผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 3 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้ออกประกาศแจ้งการเวนคืนและให้ความเห็นชอบกับการกำหนดเงินค่าทดแทนของคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ส่วนจำเลยที่ 4 มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์กำหนดให้ แต่จำเลยที่ 4มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 4เพื่อให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ใหม่ให้เหมาะสม โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 และที่ 4 ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ได้
คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์ทราบและไม่พอใจในค่าทดแทนนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ทันทีโดยไม่จำต้องรอให้เจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนก่อน กำหนดเวลายื่นอุทธรณ์การกำหนดเงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 25 วรรคหนึ่งเป็นกำหนดเวลาสิ้นสุดแห่งการใช้สิทธิอุทธรณ์ ไม่ใช่กำหนดเวลาเริ่มต้นให้ใช้สิทธิอุทธรณ์ โจทก์จึงชอบที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้แม้เป็นเวลาก่อนที่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนก็ตาม
หลังจากที่มีการเวนคืนที่ดินพิพาทแล้วได้มีการโอนสิทธิในที่ดินไปยังโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาตรา 16 วรรคท้าย และเมื่อไม่มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ การพิจารณาว่าโจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนเท่าใดจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯที่บัญญัติให้กำหนดโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา จะถือเอาราคาภายหลังจากที่มีการสร้างทางแล้วเสร็จมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาไม่ได้เพราะเมื่อมีการสร้างทางหลวงแผ่นดินเสร็จสมบูรณ์แล้วย่อมทำให้สภาพของที่ดินในบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงจากในขณะเริ่มต้นดำเนินการเวนคืนและมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมมาก อย่างไรก็ดี การที่ฝ่ายจำเลยเพิ่งนำเงินค่าทดแทนที่ดินไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสินเมื่อวันที่ 22เมษายน 2536 ภายหลังจากวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายธนบุรี-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม-ปากท่อฯ มีผลใช้บังคับแล้วถึงเกือบสามสิบปีเป็นกรณีที่ฝ่ายจำเลยไม่ดำเนินการให้มีการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินภายในเวลาอันควรเป็นการดำเนินการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ล่าช้าไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นที่เห็นได้อยู่ในตัวว่าการกระทำดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของที่ดินพิพาท ดังนั้น การที่ฝ่ายจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามในราคาตารางวาละ 10 บาท โดยใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 21(3) เพียงประการเดียว ซึ่งใช้ฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาในวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับในวันที่ 10กรกฎาคม 2508 ย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ แต่อย่างไรก็ตามสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินค่าทดแทนมีเพียงเท่ากับเจ้าของที่ดินพิพาทเดิมกรณีนี้ฝ่ายจำเลยเพิ่งกลับมามีหนังสือลงวันที่ 1 มิถุนายน 2535ขอให้ไปตกลงราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเขตทางหลวงหลักเกณฑ์ที่จะนำมาคำนึงในการกำหนดเงินค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมต้องเปลี่ยนวันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์จากวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับมาเป็นกลางปี 2533 อันเป็นช่วงเวลาก่อนที่ฝ่ายจำเลยจะมีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปตกลงราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเขตทางหลวงประมาณ 2 ปีซึ่งเทียบเคียงกับระยะเวลาที่ควรต้องใช้ในกรณีปกติที่มีการดำเนินการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งอธิบดีเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 9364,12013 และ 12014 ตำบลบางบอน อำเภอบางขุนเทียนกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 47 ตารางวา 4 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวาและ 1 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา ตามลำดับ ส่วนโจทก์ที่ 2 และที่ 3เป็นเจ้าของร่วมกันกับบุคคลอื่นในที่ดินโฉนดเลขที่ 5080 และ5081 ตำบลบางบอน อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 รวมเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 49 ตารางวา ที่ดินทั้งห้าแปลงมีแนวเขตที่ดินติดต่อเป็นแปลงเดียวกันถูกเวนคืนตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2515 กล่าวคือ ที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถูกเวนคืนหมดทั้งสามแปลง ส่วนที่ดินของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ถูกเวนคืนเป็นเนื้อที่รวมกัน 15 ไร่ 2 งาน 82 ตารางวา ทางราชการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ทั้งสามเพียงตารางวาละ 10 บาทซึ่งไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ทั้งสามเพราะโจทก์ที่ 1ซื้อที่ดินเมื่อปี 2532 ในราคารวมกัน 12,507,000 บาท ส่วนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซื้อเมื่อปี 2533 ในราคารวมกัน 13,800,000 บาทโจทก์ทั้งสามควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 80,000 บาทโจทก์ที่ 1 ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดิน 189,016,370 บาท โจทก์ที่ 2และที่ 3 ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดิน 466,177,180 บาท โจทก์ทั้งสามได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 4 แล้วแต่จำเลยที่ 4 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสาม จำเลยทั้งสี่มีหน้าที่ชำระเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสามพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2508 อันเป็นวันถัดจากวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ ใช้บังคับเป็นต้นไปจนถึงวันฟ้องคิดเป็นดอกเบี้ยที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับ 476,380,800 บาท และเป็นดอกเบี้ยที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 มีสิทธิได้รับ 1,174,924,800 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน665,420,800 บาท ชำระแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นเงิน1,641,164,800 บาท และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสามในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี จากต้นเงินรวมกัน665,280,800 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 4มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งสามเพราะจำเลยที่ 1 และที่ 4 มิได้เป็นผู้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน รวมทั้งไม่มีอำนาจกระทำการใดแทนจำเลยที่ 2 ด้วยส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ใช่ผู้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสาม และไม่เคยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2กระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามเป็นส่วนตัว โจทก์ทั้งสามรับโอนที่ดินดังกล่าวมาภายหลังจากที่ดินทั้งห้าแปลงถูกเวนคืนและตกเป็นของรัฐแล้วตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามชอบด้วยกฎหมายแล้ว หนังสือที่จำเลยที่ 2 มีไปถึงโจทก์ทั้งสามให้ไปตกลงเรื่องค่าทดแทนที่ดินไม่ใช่หนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทน โจทก์ทั้งสามยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์เรื่องเงินค่าทดแทนที่ดินต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมการที่โจทก์ทั้งสามยื่นหนังสือคัดค้านการนัดหมายให้ไปตกลงเรื่องค่าทดแทนที่ดินไม่มีผลเป็นการอุทธรณ์เรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนตามกฎหมาย เพราะขณะนั้นจำเลยที่ 2 ยังมิได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสามไปรับเงินค่าทดแทน จึงไม่มีเหตุที่โจทก์ทั้งสามจะอุทธรณ์คัดค้านได้หลังจากที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 แจ้งให้โจทก์ทั้งสามไปรับเงินค่าทดแทนแล้ว โจทก์ทั้งสามไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 70,866,370 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 จำนวน 174,777,180 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 9 ต่อปีของต้นเงินทั้งสองจำนวนนับแต่วันที่ 22 เมษายน 2535 (ที่ถูกคือวันที่ 22 เมษายน 2536)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสี่ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 9364, 12013 และ 12014 ตำบลบางบอนอำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เป็นของนายสุดใจ สุขสบายและนางชั้น สุขสบาย ที่ดินโฉนดเลขที่ 9364 มีเนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน55 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 12013 มีเนื้อที่ 5 ไร่ 6 ตารางวาและที่ดินโฉนดเลขที่ 12014 มีเนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน 89 ตารางวาส่วนที่ดินอีกสองแปลงคือ โฉนดเลขที่ 5080 และ 5081 เดิมเป็นของนางวรรณวิไล ประถมภัฎ นางสาวจงรุจา วิเศษสินธุ์ นายชลิตวิเศษสินธุ์ นายพิชัย ไทยตระกูลพาณิช นางสาวศิริลักษณ์เสรีวัลย์สถิต นางสาวพัชรา อินทรเดโชกุล นางเรียน วิเศษสินธุ์และนายสง่า พันธ์พิเชษฐ สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 5080 มีเนื้อที่9 ไร่ 28 ตารางวา ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 5081 มีเนื้อที่ 9 ไร่ 2 ตารางวา ที่ดินทั้งห้าแปลงมีแนวเขตติดต่อเป็นผืนเดียวกันในปี 2508 ทางราชการได้กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายธนบุรี-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม-ปากท่อ ในท้องที่อำเภอราษฎร์บูรณะ อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี อำเภอเมืองสมุทรสาคร อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอเมืองสมุทรสงคราม อำเภอบางคนที อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามและอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ความกว้าง 2 กิโลเมตร ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายธนบุรี-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม-ปากท่อ พ.ศ. 2508 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2508 ต่อมาวันที่ 21 เมษายน2510 จำเลยที่ 2 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปรองดองเพื่อพิจารณาค่าทดแทนกับเจ้าของทรัพย์สิน ในปี 2513 กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติได้ออกคำสั่งเปลี่ยนชื่อคณะกรรมการชุดนี้เป็นคณะกรรมการปรองดองเพื่อพิจารณาค่าทำขวัญให้แก่เจ้าของทรัพย์สิน เนื่องในการก่อสร้างทางหลวง สายธนบุรี-ปากท่อ คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งห้าแปลงในราคาไร่ละ 4,000 บาทโดยถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และราคาซื้อขายที่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในปี 2508 อันเป็นปีที่พระราชกฤษฎีกาฯใช้บังคับ ซึ่งอธิบดีกรมทางหลวงในขณะนั้นได้ให้ความเห็นชอบแล้วต่อมาได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 ลงวันที่ 14 ตุลาคม2515 กำหนดให้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายธนบุรี-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม-ปากท่อ ในท้องที่อำเภอราษฎร์บูรณะ อำเภอบางขุนเทียน นครหลวงกรุงเทพธนบุรี อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอเมืองสมุทรสงคราม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรีให้แก่จำเลยที่ 2 โดยให้มีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามความในมาตรา 41 และมาตรา 47แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2482 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2515 เป็นต้นไป โดยกำหนดให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวเป็นเหตุให้คณะกรรมการปรองดองเพื่อพิจารณาค่าทำขวัญให้แก่เจ้าของทรัพย์สินฯ สิ้นสภาพลง ต่อมาวันที่ 11 พฤษภาคม 2516นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ขึ้นคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงให้แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนในราคาตารางวาละ 10 บาทหรือเท่ากับไร่ละ 4,000 บาท และได้เสนอให้อธิบดีกรมทางหลวงในขณะนั้นเห็นชอบด้วยแล้ว หลังจากนั้นอธิบดีกรมทางหลวงได้จัดทำแผนผังที่ดินที่จะใช้สร้างทางหลวงแผ่นดินสายธนบุรี-ปากท่อและประกาศให้ผู้มีส่วนได้เสียตรวจดูแผนผังดังกล่าวตามประกาศกรมทางหลวงลงวันที่ 14 มิถุนายน 2519 นอกจากเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางหลวงสายดังกล่าวแล้วได้มีการเวนคืนที่ดินในบางช่วงเพื่อใช้ก่อสร้างสำนักงานเขตการทางกรุงเทพด้วย ที่ดินโฉนดเลขที่ 9364, 12013 และ 12014 ของนายสุดใจกับนางชั้นถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงเป็นเนื้อที่รวมกัน 8 ไร่ 3 งาน87 ตารางวา และถูกเวนคืนเพื่อสร้างสำนักงานเขตการทางกรุงเทพเป็นเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 63 ตารางวา ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 5080 และ5081 ของนางเรียนกับพวกอยู่ในเขตทางหลวงและอยู่ในเขตที่ใช้ก่อสร้างอาคารสำนักงานเขตการทางกรุงเทพเป็นเนื้อที่รวมกัน15 ไร่ 2 งาน 82 ตารางวา ในปี 2521 คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้นัดเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนไปพบเพื่อตกลงเรื่องเงินค่าทดแทน คงมีแต่นายสุดใจกับนางชั้นเท่านั้นที่ไปพบคณะกรรมการฯ ส่วนนางเรียนกับพวกและเจ้าของที่ดินรายอื่นไม่ไปนายสุดใจกับนางชั้นตกลงว่าสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 9364, 12013และ 12014 ที่ถูกเขตทางหลวงรวมกันเป็นเนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน87 ตารางวา และได้รังวัดแบ่งแยกให้กรมทางหลวงไปแล้วนั้นยอมรับเงินค่าทดแทนที่ดินในราคาไร่ละ 4,000 บาท แต่ที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนเพื่อใช้ก่อสร้างอาคารสำนักงานเขตการทางกรุงเทพคือโฉนดเลขที่ 9364 เนื้อที่ 47 ตารางวา โฉนดเลขที่ 12013 เนื้อที่4 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา และโฉนดเลขที่ 12014 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน74 ตารางวานั้นจะขอเวลาไปปรึกษากับเจ้าของที่ดินรายอื่นเกี่ยวกับอัตราค่าทดแทนก่อน หลังจากนั้นคณะกรรมการฯ ได้นัดให้นายสุดใจนางชั้นและนางเรียนกับพวกไปพบหลายครั้ง แต่ตกลงกันไม่ได้เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นเห็นว่าเงินค่าทดแทนที่ดินต่ำเกินไปครั้นวันที่ 25 กันยายน 2523 นายสุดใจกับนางชั้นขายที่ดินโฉนดเลขที่ 9364, 12013 และ 12014 ส่วนที่ถูกเวนคืนเพื่อใช้สร้างอาคารสำนักงานเขตการทางกรุงเทพให้แก่นายเหลียง พรสุขจันทราและนายสุวัฒน์ พรสุขจันทรา ต่อมาวันที่ 15 มิถุนายน 2532นายเหลียงกับนายสุวัฒน์ทำสัญญาขายที่ดินทั้งสามแปลงให้แก่โจทก์ที่ 1 ในราคา 12,507,000 บาท วันที่ 20 เมษายน 2533โจทก์ที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวไว้แก่ธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นประกันหนี้จำนวน 25,000,000 บาทและในวันที่ 25 เมษายน 2533 นางสาวศิริลักษณ์ เสรีวัลย์สถิตนางสาวพัชรา อินทรเดโชกุล นายสง่า พันธ์พิเชษฐ และวันที่ 25มิถุนายน 2533 นางวรรณวิไล ประถมภัฎ นางสาวจงรุจาวิเศษสินธุ์ นายชลิต วิเศษสินธุ์ และนางเรียน วิเศษสินธุ์ทำสัญญาขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5080 และ 5081 เฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ในราคารวมกันแล้วเป็นเงิน 13,800,000บาท ในวันที่ 25 มิถุนายน 2533 โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้จำนองที่ดินทั้งสองแปลงในส่วนของตนไว้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)รวมกันในวงเงิน 17,000,000 บาท เพื่อเป็นประกันหนี้ของโจทก์ที่ 1ซึ่งทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารดังกล่าว ครั้นปี 2535นายช่างแขวงการทางธนบุรีแจ้งให้โจทก์ทั้งสามไปตกลงราคาค่าทดแทนที่ดินแต่โจทก์ทั้งสามไม่ไปตกลงด้วยและยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้ตารางวาละ 70,000 บาท ถึง 80,000 บาท แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2536 นายช่างแขวงการทางธนบุรีแจ้งแก่โจทก์ทั้งสามว่าได้นำเงินค่าทดแทนไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสินตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2536 ให้โจทก์ทั้งสามนำหลักฐานไปขอรับเงินค่าทดแทนที่ธนาคารดังกล่าว หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสามมิได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอีก

คงมีปัญหาข้อแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ว่าโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 หรือไม่ เห็นว่าที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเวนคืนที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4ไม่มีหน้าที่กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 1ที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามนั้น ข้อเท็จจริงเห็นว่าได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นกระทรวงในรัฐบาลและมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นเป็นผู้แทน โดยจำเลยที่ 4 มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นกรมในสังกัดของจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นอธิบดีกรมทางหลวงในขณะนั้นเป็นผู้แทนมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีทางหลวงรวมทั้งมีหน้าที่ดำเนินการสำรวจที่ดินเพื่อเวนคืนสำหรับสร้างทางหลวงอันเป็นสิ่งสาธารณูปโภค ดังนั้นการเวนคืนที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงเพื่อให้ได้ที่ดินมาใช้สร้างทางหลวงแผ่นดิน สายธนบุรี-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม-ปากท่อ ย่อมเป็นกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยตรง นอกจากนี้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 ลงวันที่ 14ตุลาคม 2515 ที่บัญญัติให้เวนคืนที่ดินในท้องที่อำเภอราษฎร์บูรณะอำเภอบางขุนเทียน… ให้แก่กรมทางหลวง จำเลยที่ 2 ยังกำหนดให้จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และกำหนดให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวด้วย การที่จำเลยที่ 3 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้ออกประกาศแจ้งความให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนทราบว่าเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจะเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้น ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ และภายในกรอบอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีมติกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามในราคาไร่ละ 4,000 บาท และขอความเห็นชอบจากจำเลยที่ 3 เกี่ยวกับอัตราค่าทดแทนดังกล่าว จำเลยที่ 3 ก็เห็นชอบด้วยกับการกำหนดเงินค่าทดแทนนั้นเห็นได้ว่าการดำเนินการของจำเลยที่ 3 ทั้งในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 และในฐานะผู้แทนกรมทางหลวงจำเลยที่ 2 เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ส่วนจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและเป็นผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว มีหน้าที่กำกับดูแลให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดำเนินไปโดยเรียบร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์กำหนดให้เมื่อโจทก์ทั้งสามเห็นว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงที่โจทก์ทั้งสามรับโอนสิทธิมายังไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมอีกทั้งได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 4 เพื่อให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสามใหม่ให้เหมาะสม แต่จำเลยที่ 4 มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 3และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้เนื่องจากโจทก์ทั้งสามมิได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการกำหนดเงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทน เพราะหนังสือลงวันที่ 1 มิถุนายน 2535 และวันที่ 10 สิงหาคม 2535ที่นายช่างแขวงการทางธนบุรีแจ้งให้โจทก์ทั้งสามไปตกลงเรื่องเงินค่าทดแทนไม่ใช่หนังสือที่เจ้าหน้าที่แจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนดังนั้น สิทธิของโจทก์ทั้งสามที่จะอุทธรณ์คัดค้านการกำหนดเงินค่าทดแทนจึงยังไม่เกิดขึ้น การที่โจทก์ทั้งสามมีหนังสือลงวันที่ 17กรกฎาคม 2535 และวันที่ 20 สิงหาคม 2535 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินแก่โจทก์ทั้งสามใหม่ในราคาตารางวาละ 70,000 บาท แม้จะระบุในหนังสือว่าเป็นอุทธรณ์คัดค้านการกำหนดเงินค่าทดแทนก็ไม่มีผลเป็นการยื่นอุทธรณ์ตามกฎหมาย เพราะขณะนั้นโจทก์ทั้งสามยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนและยังไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามไม่เป็นไปตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 นั้น เห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายธนบุรี-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม-ปากท่อ พ.ศ. 2508 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2482 มาตรา 56 กำหนดให้ที่ดินในเขตอำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี รวมทั้งที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงอยู่ในแนวเขตทางหลวง หลังจากนั้นได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2515 ให้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายธนบุรี-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม-ปากท่อ ในท้องที่อำเภอราษฎร์บูรณะ อำเภอบางขุนเทียน นครหลวงกรุงเทพธนบุรี อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาครอำเภอเมืองสมุทรสงคราม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ให้แก่กรมทางหลวงจำเลยที่ 2 โดยให้ถือว่าประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามความในมาตรา 41และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2482 และต่อมาได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515ออกมายกเลิกพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2482 ทั้งฉบับและให้ใช้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้แทน ตามข้อ 87 วรรคหนึ่งแห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวให้นำบทบัญญัติในส่วนที่ 3มาใช้บังคับแก่การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังดำเนินอยู่ในวันประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ และความในวรรคสองบัญญัติว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์และการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับให้เป็นอันใช้ได้ หลังจากนั้นประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530โดยมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ยกเลิกความในส่วนที่ 3เกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวง ข้อ 63ถึงข้อ 80 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 เสีย และมาตรา 9วรรคสองของพระราชบัญญัติฉบับนั้นบัญญัติว่า การเวนคืนและการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นอันใช้ได้ แต่การดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งก็คือพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 มีผลใช้บังคับนั้น การเวนคืนที่ดินพิพาทตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 ยังไม่เสร็จสิ้น เพราะฝ่ายจำเลยยังไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินพิพาทที่ถูกเวนคืนจึงต้องถือว่าการดำเนินการเวนคืนที่ดินพิพาทตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ใช้บังคับย่อมเป็นอันใช้ได้ แต่หากมีกรณีที่ต้องดำเนินการต่อไปหลังจากที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ใช้บังคับแล้ว เป็นต้นว่าการแจ้งให้โจทก์ทั้งสามไปตกลงเรื่องค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนก็ดี การแจ้งให้โจทก์ทั้งสามไปรับเงินค่าทดแทนก็ดี การอุทธรณ์คัดค้านการกำหนดเงินค่าทดแทนก็ดี การดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ทั้งสิ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ต้องนำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาใช้บังคับแก่คดีของโจทก์ทั้งสามเฉพาะในส่วนที่จะต้องดำเนินการต่อไปเพื่อให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี” และตามหนังสือขอให้ไปตกลงราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเขตทางหลวง ลงวันที่ 1 มิถุนายน2535 และวันที่ 10 สิงหาคม 2535 ที่นายช่างแขวงการทางธนบุรีมีไปถึงโจทก์ทั้งสาม เอกสารหมาย จ.18 ถึง จ.22 มีข้อความว่า”…แขวงการทางธนบุรีได้ทำการจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของทรัพย์สินส่วนใหญ่ไปหมดแล้ว แต่ปรากฏว่ายังมีเจ้าของทรัพย์สินบางรายไม่ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทน… แขวงการทางธนบุรีจึงขอแจ้งให้ทราบว่าที่ดินของท่านตามโฉนดเลขที่… ถูกเวนคืนเป็นทางหลวงสายธนบุรี-ปากท่อ เป็นเนื้อที่… ค่าทดแทนคณะกรรมการกำหนดให้ในอัตราตารางวาละ 10 บาท… จึงขอให้ท่านไปตกลงราคาเพื่อรับเงินค่าทดแทนดังกล่าว… หากมิได้ดำเนินการภายในกำหนดเวลาดังกล่าว… จะได้วางเงินค่าทดแทนของท่านตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป…” เมื่อพิจารณาข้อความในหนังสือทั้งสามฉบับดังกล่าวประกอบกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน..ผู้ใดไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการตามมาตรา 9… กำหนด มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี…ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่… ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าว…” และความในมาตรา 9 วรรคสี่ที่บัญญัติว่า “…ในการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทน ให้คณะกรรมการกำหนด… และดำเนินการให้แล้วเสร็จ… ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง” แล้วเห็นได้ว่า คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนตามมาตรา 9 วรรคสี่ ให้แก่โจทก์ทั้งสามแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสามทราบและไม่พอใจในค่าทดแทนนั้นโจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ทันทีเพื่อให้พิจารณาทบทวนการกำหนดเงินค่าทดแทนเสียใหม่ให้ถูกต้องและเป็นธรรมโดยไม่จำต้องรอให้เจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนก่อน กำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เป็นกำหนดเวลาสิ้นสุดแห่งการใช้สิทธิอุทธรณ์ ไม่ใช่กำหนดเวลาเริ่มต้นให้ใช้สิทธิอุทธรณ์ ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจึงชอบที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ก่อนได้รับหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทน ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามอุทธรณ์เรื่องเงินค่าทดแทนภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25วรรคหนึ่งแล้ว โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาข้อต่อไปว่า เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้ดำเนินการตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28พฤศจิกายน 2515 ข้อ 70 ถึงข้อ 72 ครบถ้วนแล้ว โดยจัดทำแผนผังที่ดินที่จะใช้สร้างทางพร้อมทั้งบัญชีรายชื่อเจ้าของที่ดิน และประกาศให้ผู้มีส่วนได้เสียตรวจดูแผนผังที่ดินตลอดจนแจ้งการจะเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนให้เจ้าของที่ดินทราบ เป็นเหตุให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 9364, 12013, 12014, 5080 และ 5081ที่ถูกเวนคืนตกเป็นของรัฐตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2519 การที่โจทก์ที่ 1ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 9364, 12013 และ 12014 และการที่โจทก์ที่ 2และที่ 3 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 5080 และ 5081 หลังจากที่ดินตกเป็นของรัฐแล้ว โจทก์ทั้งสามย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวนั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 16 วรรคท้ายบัญญัติว่า “นับแต่วันที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 15 ใช้บังคับ ถ้าผู้มีสิทธิในทรัพย์สินนั้นโอนสิทธิให้แก่บุคคลภายนอก ผู้รับโอนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องได้ก็แต่เฉพาะเงินค่าทดแทนเท่านั้น” เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยจำเลยทั้งสี่มิได้ฎีกาโต้เถียงว่าหลังจากที่มีการเวนคืนที่ดินทั้งห้าแปลงดังกล่าวแล้วได้มีการโอนสิทธิในที่ดินไปยังโจทก์ทั้งสามโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น

ส่วนปัญหาเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งห้าแปลงที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ทั้งสามในราคาตารางวาละ 30,000 บาท ซึ่งโจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสี่ต่างฎีกาโต้แย้งว่าไม่ถูกต้องโดยโจทก์ทั้งสามเห็นว่า โจทก์ทั้งสามควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 80,000 บาท แต่จำเลยทั้งสี่เห็นว่า การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนต้องถือตามราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่ 10 กรกฎาคม 2508 อันเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายธนบุรี-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม-ปากท่อ พ.ศ. 2508 มีผลใช้บังคับ กล่าวคือควรมีราคาตารางวาละ 10 บาท นั้น เห็นว่า แม้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในคดีนี้จะดำเนินการโดยอาศัยพระราชกฤษฎีกา กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายธนบุรี-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม-ปากท่อ พ.ศ. 2508 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10กรกฎาคม 2508 และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2515 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม2515 ก็ตาม แต่เมื่อการดำเนินการดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้นจนมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ประกาศ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 ออกมาใช้บังคับอีกทั้งไม่มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะดังนั้น การพิจารณาว่าโจทก์ทั้งสามควรได้รับเงินค่าทดแทนเท่าใดจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ที่บัญญัติให้กำหนดโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้นและเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ที่โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า ที่ดินทั้งห้าแปลงที่ถูกเวนคืนอยู่ในทำเลที่มีความเจริญมากควรมีราคาไม่น้อยกว่าตารางวาละ 80,000 บาท นั้น เห็นว่าการพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามตามปกติต้องถือตามราคาซื้อขายที่ดินในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ ใช้บังคับ จะถือเอาราคาภายหลังจากที่มีการสร้างทางแล้วเสร็จมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาไม่ได้เพราะเมื่อมีการสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายธนบุรี-ปากท่อเสร็จสมบูรณ์แล้วย่อมทำให้สภาพของที่ดินในบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงจากในขณะเริ่มต้นดำเนินการเวนคืนและมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมมากจึงไม่อาจนำราคาซื้อขายที่ดินที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างในฎีกาอันเป็นเวลาหลังจากที่มีการเวนคืนและสร้างทางเสร็จแล้วกว่า 10 ปีมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทได้ อย่างไรก็ดีการที่ฝ่ายจำเลยเพิ่งนำเงินค่าทดแทนที่ดินไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสินเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2536 ภายหลังจากวันที่พระราชกฤษฎีกาฯมีผลใช้บังคับแล้วถึงเกือบสามสิบปีเป็นกรณีที่ฝ่ายจำเลยไม่ดำเนินการให้มีการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินภายในเวลาอันควร เป็นการดำเนินการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ล่าช้าไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและเป็นที่เห็นได้อยู่ในตัวว่าการกระทำดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของที่ดินพิพาท ดังนั้น การที่ฝ่ายจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามในราคาตารางวาละ 10 บาท โดยใช้หลักเกณฑ์ตาม

Share