คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2454/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 5(1) ที่บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ (1) อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนของราชการทหารและตำรวจ ฯลฯ” นั้น มีความหมายถึง อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ฯลฯ ของทางราชการทหารหรือตำรวจ ที่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ มิได้มีความหมายเลยไปถึงราษฎรเช่นจำเลยซึ่งมีอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนของทางราชการตำรวจแล้วจะไม่เป็นความผิด จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองโดยบทบัญญัติมาตรานี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจมีอาวุธปืนพกขนาด .38 ตราโล่ หมายเลข4339 เป็นอาวุธใช้ในราชการตำรวจจำนวน 1 กระบอก กับกระสุนขนาด .38รวม 3 นัด ไว้ในครอบครอง โดยไม่รับอนุญาต และบังอาจพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปตามถนน อันเป็นทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 ฯลฯ

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ของกลางคืนแก่กรมตำรวจ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 72 ฯลฯ จำคุก 6 เดือน และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ปรับ 100 บาท รวมจำคุก 6 เดือน ปรับ 100 บาท จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน ปรับ 50 บาท ไม่ชำระค่าปรับบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คืนของกลางให้เจ้าของ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 5(1)ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่21 ตุลาคม พุทธศักราช 2519 ข้อ 2 ที่บัญญัติไว้ว่า “พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ (1) อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนของราชการทหารและตำรวจและของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจเฉพาะหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจนั้น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง” นั้น เห็นว่ามีความหมายถึงอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ของทางราชการหรือตำรวจที่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ มิได้มีความหมายเลยไปถึงราษฎรเช่นจำเลยซึ่งมีอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนของทางราชการตำรวจแล้วจะไม่เป็นความผิด จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองโดยบทบัญญัติมาตรานี้ ข้อวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฯลฯ

พิพากษายืน

Share