แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีที่ผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกและเป็นเจ้าหนี้จำเลย เมื่อศาลแพ่งมีคำสั่งให้เพิกถอนการชำระหนี้ระหว่างลูกหนี้ (จำเลย) กับผู้คัดค้านและให้ผู้คัดค้านชำระเงินแก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้จำเลยตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่ง ย่อมมีสิทธิขอทุเลาการบังคับได้
ในกรณีเช่นนี้พระราชบัญญัติล้มละลายมิได้บัญญัติเรื่องการทุเลาการบังคับไว้ จึงต้อนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 231 เรื่องการทุเลาการบังคับมาใช้บังคับซึ่งได้กำหนดวิธีการไว้เป็นพิเศษ ให้อยู่ในอำนาจของศาลเป็นขั้น ๆ ไป ถ้าเป็นการขอทุเลาการบังคับระหว่างอุทธรณ์ก็เป็นเรื่องอยู่ในอำนาจศาลอุทธรณ์ที่จะพิจาณาสั่ง ถ้าการขอทุเลาการบังคับในระหว่างฎีกาก็อยู่ในอำนาจศาลฎีกา เมื่อผู้คัดค้านขอทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์สั่งในเรื่องการทุเลาการบังคับเป็นอย่างไรแล้ว ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์นั้น
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงชัยสหพันธ์เป็นโจทก์ ฟ้องขอให้นายประพัฒน์ ไทเศรษฐวัฒน์สกุล เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลแพ่งได้พิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการชำระหนี้โดยวิธีการหักกลบลบหนี้ระหว่างลูกหนี้ (จำเลย) กับนายประยูร บัณฑุกุล เจ้าหนี้ โดยให้นายประยูรชำระเงินค่าตอบแทนให้แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ (จำเลย) นายประยูรยื่นคำร้องคัดค้านขอให้สั่งยกคำร้อง ศาลแพ่งไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนการชำระหนี้โดยวิธีการหักกลบลบหนี้ระหว่างนายประพัฒน์ลูกหนี้ (จำเลย) กับนายประยูรเจ้าหนี้เสีย โดยให้นายประยูรชำระเงินค่าตอบแทน การรับโอนอาคารตึกแถวจากจำเลยเป็นเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องขอเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ นายประยูรเจ้าหนี้ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งและยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า ถ้าผู้ร้องหาประกันสำหรับจำนวนเงินที่จะต้องชำระตามคำสั่งศาลชั้นต้นมาวางให้เป็นที่พอใจของศาลชั้นต้น ก็อนุญาตให้ทุเลาการบังคับไว้ระหว่างอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ยกคำร้อง ต่อมานายประยูรเจ้าหนี้ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้จำเลยและมีการหักกลบลบหนี้จริง การที่ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านชำระเงินค่าตอบแทนพร้อมด้วยดอกเบี้ย จึงเท่ากับผู้คัดค้านต้องชำระเงินเป็นทวีคูณโดยไม่ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ผู้ล้มละลาย หากผู้คัดค้านแพ้คดีผู้คัดค้านก็กลับเป็นเจ้าหนี้จำเลย ลูกหนี้ผู้ล้มละลายมีสิทธิที่จะมาขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยได้ ไม่มีเหตุที่ผู้คัดค้านจะต้องวางหลักประกันอีก ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกเว้นไม่ให้ผู้คัดค้านต้องวางหลักประกันในชั้นทุเลาการบังคับ
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกและเป็นเจ้าหนี้จำเลย เมื่อศาลแพ่งมีคำสั่งให้เพิกถอนการชำระหนี้ระหว่างลูกหนี้ (จำเลย) กับผู้คัดค้านและให้ผู้คัดค้านชำระเงินค่าตอบแทนการโอนตึกแถวจากจำเลยแก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ (จำเลย) ตามคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งย่อมมีสิทธิขอทุเลาการบังคับได้ ในกรณีเช่นนี้พระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา ๑๕๓ บัญญัติว่า “กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายให้ดำเนินเป็นการด่วน ส่วนใดที่พระราชบัญญัตินี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม” กรณีจึงต้องบังคับเรื่องทุเลาการบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๑ การทุเลาการบังคับตามาตรา ๒๓๑ ได้กำหนดวิธีการไว้เป็นพิเศษให้อยู่ในอำนาจของศาลเป็นขั้น ๆ ไป กล่าวคือ ถ้าเป็นการของทุเลาการบังคับระหว่างอุทธรณ์ก็เป็นเรื่องอยู่ในอำนาจศาลอุทธรณ์ที่จะพิจารณาสั่ง ถ้าการขอทุเลาการบังคับในระหว่างฎีกา ก็อยู่ในอำนาจศาลฎีกา ฉะนั้น เมื่อผู้คัดค้านขอทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์สั่งในเรื่องการทุเลาการบังคับเป็นอย่างไรแล้ว ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์นั้น
พิพากษายกฎีกาของผู้คัดค้าน