คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 245/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 20และมาตรา 31 ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และชำระค่าจ้างตั้งแต่วันเลิกจ้างถึงวันที่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างและค่าชดเชย ดังนี้ ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนจึงมีสาเหตุเนื่องจากการเลิกจ้างของจำเลย โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องมาในคราวเดียวกันทั้งหมด การที่โจทก์ไม่เรียกร้องค่าเสียหาย และค่าชดเชยรวมไปกับคดีก่อน แต่กลับมาเรียกร้องเป็นคดีนี้โดยอาศัยเหตุการเลิกจ้างคราวเดียวกัน เมื่อคดีก่อนศาลได้วินิจฉัยและมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่มีงานทำและไม่มีรายได้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งโจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 200,000 บาท และเมื่อโจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างก่อนครบกำหนดระยะเวลาการจ้าง จำเลยจึงมีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินเดือนให้แก่โจทก์สำหรับช่วงระยะเวลาการจ้างที่ยังไม่ครบกำหนด รวม 11เดือน เป็นเงิน 102,520 บาท และโจทก์ยังมีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 55,920 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าจ้างจำนวน 102,520 บาท ค่าชดเชยจำนวน 55,920 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างจำนวน 200,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตามสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชย จำเลยที่ 1 ไม่เคยค้างชำระค่าจ้างโจทก์ หลังจากที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแรงงานกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสองรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ตามคดีหมายเลขดำที่ 3191/2530หมายเลขแดงที่ 785/2530 (ที่ถูกเป็น 785/2531) คดีถึงที่สุดโดยศาลแรงงานกลางและศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้เพื่อเรียกร้องค่าชดเชย ค่าจ้างค้างชำระและค่าเสียหายอีก โดยอาศัยเหตุที่จำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างโจทก์ในคดีเดิม และเป็นเหตุเดียวกันกับคดีเดิม ซึ่งมีคู่ความรายเดียวกัน โจทก์สามารถฟ้องเพื่อเรียกร้องเงินจำนวนใด ๆรวมมาในคดีเดิมได้ แต่โจทก์หาได้ฟ้องเรียกร้องมาไม่ ดังนั้นการที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้ จึงเป็นการฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยานซึ่งโจทก์เป็นฝ่ายนำสืบก่อนโจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าโจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแรงงานกลางตามคดีหมายเลขดำที่ 3191/2530 หมายเลขแดงที่ 785/2531 ให้จำเลยทั้งสองรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และเรียกค่าจ้างในช่วงระหว่างถูกเลิกจ้างจนถึงเวลารับกลับเข้าทำงาน
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 3191/2530 หมายเลขแดงที่ 785/2531พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 และมาตรา 31 เนื่องจากจำเลยแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยมิได้แจ้งข้อเรียกร้องและโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย ทั้งเลิกจ้างในขณะที่ยังอยู่ในระหว่างการเจรจาตามข้อเรียกร้องตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ที่โจทก์กับพนักงานอื่นได้ยื่นต่อจำเลยไว้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมกับให้จำเลยชำระค่าจ้างตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์จนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ไม่ใช่ข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ยื่นต่อนายจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ฝ่าฝืนต่อมาตรา 31แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลฎีกาพิพากษายืน คดีถึงที่สุด การที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีก่อน สาเหตุก็เนื่องจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2530 เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยประการใดอันเกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับการเลิกจ้างนั้น โจทก์ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องมาในคราวเดียวกันทั้งหมด การที่โจทก์มิได้เรียกร้องค่าเสียหายที่ไม่มีงานทำ เงินเดือนสำหรับช่วงระยะเวลาการจ้างที่ยังไม่ครบกำหนด และค่าชดเชยรวมไปกับคดีก่อน แต่กลับมาเรียกร้องในคดีนี้ โดยอาศัยเหตุการเลิกจ้างคราวเดียวกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยและมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนคือคดีหมายเลขแดงที่ 785/2531 ของศาลแรงงานกลาง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์…”
พิพากษายืน.

Share