แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
งานเดิมที่ลูกจ้างทำอยู่กับนายจ้างได้ยุบเลิกไปแล้ว แต่นายจ้างยังมีงานอื่นอีกหลายแผนกที่สามารถจัดให้ลูกจ้างเข้าปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันจำเป็นหรือเหตุอันสมควร และเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 34,582 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 8,100 บาท ค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเงิน 960 บาทคืนเงินประกันค่าเสียหายเป็นเงิน 2,700 บาท และค่าเสียหายเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องยกเว้นค่าจ้างค้างจ่ายและเงินประกันค่าเสียหายนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสามจำเลยให้การว่า จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้ตามกฎหมายจึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย และจำเลยได้ชำระค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสามครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1เป็นเงิน 24,982.50 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 12,241.50 บาทโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 4,734.50 บาท ให้จำเลยคืนเงินประกันความเสียหายพร้อมด้วยเงินสมทบให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,600 บาท โจทก์ที่ 2เป็นเงิน 600 บาท และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายในการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 40,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน5,000 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 3,000 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวข้างต้นให้แก่โจทก์ทั้งสามนับตั้งแต่วันฟ้อง (7 กรกฎาคม 2532) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลย ทำงานแผนกผลิตท่อไอเสียรถยนต์เมื่อ พ.ศ. 2530 กลุ่ม ผู้ถือหุ้นของจำเลยได้ก่อตั้งบริษัทใหม่ชื่อบริษัทซัมมิทโอโตบอดี้อินดัสตรี จำกัด ต่อมาวันที่ 26 พฤษภาคม2532 จำเลยได้ประกาศยุบเลิกแผนกผลิตท่อไอเสียรถยนต์ โอนงานผลิตท่อไอเสียรถยนต์ไปให้บริษัทซัมมิทโอโตบอดี้อินดัสตรี จำกัดและให้ลูกจ้างจำเลยโอนย้ายไปทำงานที่บริษัทซัมมิทโอโตบอดี้อินดัสตรี จำกัด ได้ด้วยความสมัครใจ ลูกจ้างของจำเลยส่วนใหญ่ได้สมัครใจขอโอนย้ายไปทำงานที่บริษัทซัมมิทโอโตบอดี้อินดัสตรี จำกัด แต่โจทก์ทั้งสามไม่ขอโอนย้ายจำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสามไปช่วยทำงานที่บริษัทซัมมิทโอโตบอดี้อินดัสตรี จำกัด ในหน้าที่และตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราว โจทก์ทั้งสาม ขอให้จำเลยกำหนดระยะเวลาในการไปช่วยปฏิบัติงานให้แน่ชัด แต่จำเลยไม่กำหนดระยะเวลาให้แน่ชัดโดยมีเจตนาที่จะโอนย้ายโจทก์ทั้งสามไปทำงานที่บริษัทซัมมิทโอโตบอดี้อินดัสตรี จำกัด แต่โจทก์ทั้งสามไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง จำเลยได้ออกหนังสือเตือนให้โจทก์ทั้งสามปฏิบัติตามคำสั่งแล้ว แต่โจทก์ทั้งสามก็ไม่ปฏิบัติตาม ต่อมาวันที่23 มิถุนายน 2532 จำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม โดยที่จำเลยยังมีงานอื่น ๆ อีกหลายแผนกที่สามารถจัดให้โจทก์ทั้งสามเข้าปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่องานเดิมที่โจทก์ทั้งสามทำไม่มีอยู่แล้ว จำเลยได้สั่งให้โจทก์ทั้งสามไปปฏิบัติงานลักษณะเดิมที่บริษัทในเครือ แต่โจทก์ทั้งสามปฏิเสธ เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่าแม้งานเดิมที่โจทก์ทั้งสามทำอยู่กับจำเลยจะยุบเลิกไปแล้วก็ตามแต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยยังมีงานอื่น ๆ อีกหลายแผนกที่สามารถจัดให้โจทก์ทั้งสามเข้าปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสมและลูกจ้างของจำเลยส่วนใหญ่ก็ได้ยินยอมพร้อมใจไปทำงานที่บริษัทซัมมิทโอโตบอดี้อินดัสตรี จำกัด บริษัทในเครือของจำเลยอยู่แล้วจำเลยจึงไม่มีเหตุอันจำเป็นหรือเหตุอันควรที่จะต้องเลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยไม่มีเหตุอันจำเป็นหรือเหตุอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน