คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2447/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

รั้วลวดหนามของโจทก์ต้องรื้อถอนเฉพาะส่วนที่อยู่ในเขตเวนคืนเป็นความยาว160 เมตร โจทก์เพียงแต่จ้างคนงานมารื้อถอน ขนย้ายเสาไปปักตามแนวเขตใหม่แล้วขนย้ายลวดหนามที่ม้วนเก็บได้นำไปยึดติดกับเสาเหล่านั้นเท่านั้น วัสดุที่ใช้เป็นวัสดุเดิมขนย้ายไปใกล้ ๆ และคนงานก็คงไม่ต้องใช้มาก เงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างรั้วลวดหนามจำนวน 22,253.78 บาท ที่กำหนดให้มากเพียงพอแล้ว จะคิดราคาเป็นตารางเมตรเหมือนกับสร้างขึ้นมาใหม่ไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 18(5) บัญญัติไว้ว่า “พึงกำหนดให้เฉพาะค่ารื้อถอนค่าขนย้าย และค่าปลูกสร้างใหม่เท่านั้น”

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5526 และ 10021 ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี ซึ่งถูกเวนคืนบางส่วน เนื้อที่3 งาน 21 ตารางวา และ 32 ตารางวา ตามลำดับ พร้อมสิ่งปลูกสร้างรั้วลวดหนามและไม้ยืนต้น 6 ต้น เพื่อสร้างทางพิเศษสายบางปะอิน-ปากเกร็ด โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนรวมทั้งสิ้น 2,034,773.78 บาท ตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้ไปแล้ว แต่เห็นว่าไม่เป็นธรรมเพราะที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ถมแล้ว ที่ดินใกล้เคียงซื้อขายกันไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 10,000 บาท โจทก์ควรได้เงินค่าทดแทนที่ดินเป็นเงิน3,530,000 บาท รั้วลวดหนามควรได้เงินค่าทดแทนตารางเมตรละ 500 บาท เป็นเงิน160,000 บาท ไม้ยืนต้นให้ผลได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ปีละ 10,000 บาท ควรได้เงินค่าทดแทน 60,000 บาท รวมเงินค่าทดแทนทั้งสิ้น 3,750,000 บาท จำเลยทั้งสามต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นเป็นเงิน 1,715,226.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2539 คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 22,267.51บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,737,493.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การว่า เงินค่าทดแทนเป็นธรรมและถูกต้องตามกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 757,726.22 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน โฉนดเลขที่ 5526 และ 10021 ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 20 ไร่ 3 งาน 91 ตารางวา และ 6 ไร่ 1 งาน8 ตารางวา ซึ่งถูกเวนคืนบางส่วนเป็นเนื้อที่ 3 งาน 21 ตารางวา และ 32 ตารางวา ตามลำดับ พร้อมสิ่งปลูกสร้างรั้วลวดหนามสูง 2 เมตร ยาว 160 เมตร และไม้ยืนต้น 6 ต้นเพื่อสร้างทางพิเศษสายบางปะอิน-ปากเกร็ด โดยการดำเนินการเพื่อเวนคืนนั้นอาศัยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน… พ.ศ. 2539 คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ ตารางวาละ 6,000 บาทและ 2,000 บาท ตามลำดับ กำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างรั้วลวดหนามเป็นเงิน22,253.78 บาท และไม้ยืนต้น 6 ต้น เป็นเงิน 22,520 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่รัฐมนตรีฯ ไม่เพิ่มเงินค่าทดแทนให้โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ศาลชั้นต้นเพิ่มเงินค่าทดแทนให้สองรายการ คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 5526 เพิ่มให้เป็นตารางวาละ 8,500 บาท และสิ่งปลูกสร้างรั้วลวดหนามเพิ่มให้เป็น 64,000 บาทศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 5526 และสิ่งปลูกสร้างรั้วลวดหนามเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้หรือไม่… สำหรับเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างรั้วลวดหนามซึ่งโจทก์ฎีกาว่าคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้โจทก์ต่ำไปนั้น ปรากฏตามรายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯครั้งที่ 1/2539 เอกสารหมาย ล.1 ว่าคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้จ่ายเงินให้แก่ผู้ถูกเวนคืนเฉพาะค่ารื้อถอน ค่าขนย้ายและค่าปลูกสร้างใหม่ตามมาตรา 18(5) เห็นว่า รั้วลวดหนามเป็นสิ่งที่รื้อถอนและปลูกสร้างใหม่ได้ง่าย ไม่เกิดความเสียหายมากมายอยู่แล้ว รั้วลวดหนามของโจทก์ต้องรื้อถอนเฉพาะส่วนที่อยู่ในเขตเวนคืนเป็นความยาว 160 เมตร โจทก์เพียงแต่จ้างคนงานมารื้อถอน ขนย้ายเสาไปปักตามแนวเขตใหม่แล้วขนย้ายลวดหนามที่ม้วนเก็บได้นำไปยึดติดกับเสาเหล่านั้นเท่านั้นวัสดุที่ใช้เป็นวัสดุเดิมขนย้ายไปใกล้ ๆ และคนงานก็คงไม่ต้องใช้มาก เงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างรั้วลวดหนามจำนวน 22,253.78 บาท ที่กำหนดให้มากเพียงพอแล้ว จะคิดราคาเป็นตารางเมตรเหมือนกับสร้างขึ้นมาใหม่ไม่ได้ เพราะมาตรา 18(5) บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “พึงกำหนดให้เฉพาะค่ารื้อถอน ค่าขนย้าย และค่าปลูกสร้างใหม่เท่านั้น”เงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างรั้วลวดหนามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้แก่โจทก์ นับว่าเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว จึงไม่สมควรกำหนดเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเช่นกัน เมื่อมิได้กำหนดให้จำเลยทั้งสามชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นที่โจทก์ฎีกาในเรื่องดอกเบี้ยมาด้วยจึงไม่ต้องวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share