คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2447/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยใช้ไม้ตีทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย 2 ครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและแขนซ้าย แพทย์ตรวจร่างกายผู้เสียหายด้วยวิธีฉายเอกซเรย์พบว่ากระดูกปลายแขนซ้ายหักและมีความเห็นว่าต้องใช้เวลารักษา 6 สัปดาห์ ผู้บังคับบัญชาของผู้เสียหายได้อนุญาตให้ผู้เสียหายลาป่วยจนกว่าจะหายเป็นปกติจึงฟังได้ว่าผู้เสียหายป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน เป็นอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) คดีนี้โจทก์ได้มีคำขอท้ายฟ้องให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 893/2534 และหมายเลขดำที่57/2535 ของศาลชั้นต้นไว้แล้ว แต่ศาลชั้นต้นนับโทษต่อจากคดีดังกล่าวไม่ได้ เพราะคดีดังกล่าวนั้นศาลยังมิได้มีคำพิพากษา โจทก์ฎีกาขอให้นับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาทั้งสองสำนวนดังกล่าว โดยอ้างว่าคดีทั้งสองสำนวนนั้น ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแล้ว เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่637/2536 และหมายเลขแดงที่ 1079/2535 ของศาลชั้นต้น ตามลำดับจำเลยมิได้แก้ฎีกาปฏิเสธข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงฟังได้ว่าคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแล้วจริง ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้นับโทษต่อกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 893/2534 และหมายเลขดำที่57/2535 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 จำคุก 1 ปี คำขอให้นับโทษต่อให้ยกเพราะคดีอื่นศาลยังไม่ได้พิพากษา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 6 เดือน และปรับ 3,000 บาทคำให้การของจำเลยในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้างลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือนและปรับ 2,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนจึงให้รอการลงโทษให้จำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาโดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาและจำเลยมิได้ฎีกาโต้เถียงฟังได้เป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้ใช้ไม้เป็นอาวุธตีทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย 2 ครั้งเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและที่แขนซ้ายมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสตามฟ้องหรือไม่ ทนายจำเลยแถลงต่อศาลยอมรับข้อเท็จจริงว่า พันตรีนายแพทย์นรินทร์ คุณกิตติ เป็นผู้ตรวจรักษาบาดแผลผู้เสียหายและทำใบสำคัญความเห็นแพทย์ เอกสารท้ายฟ้องจริงซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบคำเบิกความของร้อยตำรวจตรียุทธศักดิ์บุญเสริม พนักงานสอบสวนแล้วได้ความว่า พันตรีนายแพทย์นรินทร์ได้ตรวจร่างกายผู้เสียหายด้วยวิธีฉายเอกซเรย์พบว่ากระดูกปลายแขนซ้ายหัก และมีความเห็นว่าต้องใช้เวลารักษา 6 สัปดาห์และผู้เสียหายเบิกความว่าเมื่อแพทย์ตรวจฉายเอกซเรย์พบว่ากระดูกแขนซ้ายหักแล้ว พันตรีคงศักดิ์ จารุพงษ์ ผู้บังคับบัญชาของผู้เสียหายได้อนุญาตให้ผู้เสียหายลาป่วยจนกว่าจะหายเป็นปกติพยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันเป็นอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297(8) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในข้อหานี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการต่อไปมีว่า มีเหตุอันควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่อวัยวะสำคัญเป็นอันตรายแก่กายถึงสาหัส ต้องใช้เวลารักษาถึง 6 สัปดาห์ทั้งจำเลยให้การปฏิเสธมาตลอด จึงไม่มีเหตุอันควรปรานี ไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกันส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยที่ 2ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 637/2536 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่1079/2535 ของศาลชั้นต้นนั้น คดีนี้โจทก์ได้มีคำขอท้ายฟ้องให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่893/2534 และหมายเลขดำที่ 57/2535 ของศาลชั้นต้นไว้แล้วแต่ศาลชั้นต้นนับโทษต่อจากคดีดังกล่าวไม่ได้ เพราะคดีดังกล่าวนั้นศาลยังมิได้มีคำพิพากษา โจทก์ฎีกาขอให้นับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 893/2534 และหมายเลขดำที่ 57/2535 โดยอ้างว่าคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแล้ว เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 637/2536และหมายเลขแดงที่ 1079/2535 ตามลำดับ จำเลยมิได้แก้ฎีกาปฏิเสธข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงฟังได้ว่าคดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแล้วจริง ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้นับโทษต่อกันได้ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 จำคุก 1 ปี ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยที่ 2ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 893/2534 หมายเลขแดงที่ 637/2536 และหมายเลขดำที่ 57/2535 หมายเลขแดงที่ 1079/2535 ของศาลชั้นต้น

Share