คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2446/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ที่บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้” ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวผู้ให้ข้อมูลในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษจะต้องเป็นผู้กระทำความผิดและให้ข้อมูลต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจที่จับกุมผู้กระทำความผิด หรือพนักงานสอบสวนในคดีที่ผู้กระทำความผิดถูกดำเนินคดี และข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ
บันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยไม่ปรากฏชื่อสิบตำรวจเอก ว. เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ร่วมจับกุมจำเลย หรือเป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่จำเลยถูกดำเนินคดี พยานจำเลยที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์ตามมาตรา 100/2 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 4, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง วรรคสาม ประกอบมาตรา 100/2 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 34 ปี และปรับ 700,000 บาท ฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี และปรับ 300,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 17 ปี และปรับ 350,000 บาท ฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 150,000 บาท รวมจำคุก 19 ปี 6 เดือน และปรับ 500,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเกินหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปี ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ด หมายเลข 08 3804 xxxx และรถจักรยานยนต์ของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ อันจะเป็นเหตุให้ศาลสมควรใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานจำเลยทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ เห็นว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ที่บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้” ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวผู้ให้ข้อมูลในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษจะต้องเป็นผู้กระทำความผิดและให้ข้อมูลต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจที่จับกุมผู้กระทำความผิด หรือพนักงานสอบสวนในคดีที่ผู้กระทำความผิดถูกดำเนินคดี และข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของจำเลยเพียงว่า หลังจากจำเลยถูกจับกุม จำเลยให้ข้อมูลแก่เจ้าพนักงานตำรวจว่านายต้น ไม่ทราบชื่อและชื่อสกุลจริง อายุประมาณ 35 ปี รูปร่างท้วม สันทัด สูงประมาณ 170 เซนติเมตร มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และใช้รถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า รุ่นมีโอ 125 สีน้ำเงินขาว ไม่ทราบหมายเลขทะเบียนเป็นยานพาหนะ โดยก่อนถูกจับกุมจำเลยเคยติดต่อซื้อขายยาเสพติดกับนายต้น นายต้นจะนัดหมายให้จำเลยไปพบที่บริเวณภายในสถานีบริการน้ำมันเวิล์ดแก๊ส เป็นประจำในช่วงเวลา 18 ถึง 19 นาฬิกา ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายต้นได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน โดยจำเลยมีนายเฉลิม นางสุพัตรา ยายของจำเลย นายประเสริฐ และนายอุดมศักดิ์ มาเบิกความสนับสนุน แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนที่จำเลยให้การรับสารภาพว่า จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากนายเบ็นซ์ ไม่ทราบชื่อและชื่อสกุลจริง ซึ่งจำเลยแจ้งรูปพรรณสัณฐาน อายุ ยานพาหนะ หมายเลขโทรศัพท์ของนายเบ็นซ์และสถานที่ที่นายเบ็นซ์นัดส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยไว้ด้วย โดยจำเลยมิได้ให้การถึงนายต้นไว้แต่อย่างใด แม้จำเลยมีเอกสารรายงานสืบสวนขยายผลผู้ลักลอบจำหน่ายยาเสพติดกับบันทึกการจับกุมและตรวจค้น เป็นพยานหลักฐาน แต่เอกสารดังกล่าวก็เป็นเพียงสำเนาเอกสารที่สิบตำรวจเอกวโรดม ซึ่งปรากฏชื่อว่าเป็นผู้ทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนายต้นซึ่งเป็นผู้ติดต่อซื้อขายยาเสพติดให้โทษกับจำเลย และเป็นผู้ร่วมจับกุมนายปรีชาหรือต้น ได้ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องไว้เท่านั้น โดยจำเลยไม่ได้นำตัวสิบตำรวจเอกวโรดมมาเบิกความยืนยันความถูกต้องของเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด ประการสำคัญที่สุดบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยก็ไม่ปรากฏชื่อสิบตำรวจเอกวโรดมเป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ร่วมจับกุมจำเลย หรือเป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่จำเลยถูกดำเนินคดี พยานจำเลยที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์ตามมาตรา 100/2 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,500,000 บาท ฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 ปี และปรับ 500,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 แล้ว ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 25 ปี และปรับ 750,000 บาท ฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 3 ปี และปรับ 250,000 บาท รวมจำคุก 28 ปี และปรับ 1,000,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share