คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2444/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นคดีมโนสาเร่และยังไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งขณะจำเลยยื่นคำร้อง แต่จำเลย ยื่นคำให้การเป็นหนังสือไว้แล้วก่อนหน้านั้น เมื่อไม่มี บทบัญญัติกฎหมายกำหนดโดยเฉพาะในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ลักษณะ 2 หมวดที่ 1 ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่ ก็ไม่ใช่ว่าจะมีสิทธิแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำให้การเป็นอย่างใด หรือเมื่อไรก็ได้ตามต้องการ แต่ต้องนำบทบัญญัติในคดีสามัญมาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 195 คือการแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การในกรณีนี้อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 179(3),180 เมื่อคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวโดยยื่นในวันเดียวกันกับวันสืบพยานโจทก์ทั้งไม่ปรากฏเหตุที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนหรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อยแต่อย่างใด คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตและยกคำร้องจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ให้ขับไล่จำเลยและบังคับรื้อถอนบ้านออกไป พร้อมทั้งชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าส่งมอบที่ดินคืนให้โจทก์แล้วเสร็จ
ศาลชั้นต้นรับฟ้องให้ดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างคดีมโนสาเร่โดยนัดจำเลยยื่นคำให้การและนัดสืบพยานโจทก์
จำเลยให้การว่า นายสีราช ชาวไร่ ยกที่ดินพิพาทให้แก่นายป้อม พรมสุด ปลูกบ้านเลขที่ 98/1 นายป้อมขายที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 98/1 แก่นางองุ่นมารดาจำเลยเมื่อปี 2508 นางองุ่นให้ที่ดินพิพาทและบ้านแก่จำเลยเมื่อปี 2532 จำเลยเป็นเจ้าของไม่ใช่อาศัยและต่อสู้ว่าคำฟ้องเคลือบคลุมคดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้อง ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งเลื่อนมาสองครั้ง จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การว่า นายป้อม พรมสุด อาศัยที่ดินพิพาทอยู่ถึงปี 2528 ก็ออกจากที่ดินพิพาท นางองุ่นมารดาจำเลยเข้าครอบครองแย่งการครอบครองจากนายศรี ชาวไร่ บิดาโจทก์นับแต่นั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไม่เป็นคดีมโนสาเร่ต่อไป ในดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างคดีสามัญคำร้องขอแก้ไขคำให้การเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 179(3) ไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 180 จึงไม่อนุญาตให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยมีสิทธิแก้ไขคำให้การเพราะขณะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การศาลชั้นต้นยังไม่ได้สั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างคดีสามัญ เห็นว่าแม้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นคดีมโนสาเร่และยังไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งขณะจำเลยยื่นคำร้อง แต่จำเลยยื่นคำให้การเป็นหนังสือไว้แล้วก่อนหน้านั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดโดยเฉพาะในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ลักษณะ 2 หมวดที่ 1 ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่ ก็ไม่ใช่ว่าจะมีสิทธิแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำให้การเป็นอย่างใดหรือเมื่อไรก็ได้ตามต้องการแต่ต้องนำบทบัญญัติในคดีสามัญมาใช้บังคับตามมาตรา 195ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คือการแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การในกรณีนี้อยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 179(3), 180 กล่าวคือกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถานต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันเว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำฟ้อง ได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยเมื่อคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว โดยยื่นในวันเดียวกันกับวันสืบพยานโจทก์ทั้งไม่ปรากฏเหตุที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนหรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อยแต่อย่างใดคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตและยกคำร้องจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share