คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1080/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มีความรู้สอบได้ประกาศนียบัตรนักธรรมเอก และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดอยู่แล้ว แม้ขณะโจทก์สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดจะยังไม่มีการเทียบความรู้นักธรรมเอก คงมีแต่การตกลงกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย กับกระทรวงศึกษาธิการ เทียบความรู้นักธรรมตรีขึ้นไปให้เท่าชั้นมัธยมปีที่ 3 เฉพาะการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล แต่ ภายหลังเมื่อกระทรวงมหาดไทยสอบถามไป กระทรวงศึกษาธิการก็ได้ตอบมาว่ารายการวุฒิต่าง ๆ ซึ่งเคยเทียบไว้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนั้น ให้มีผลใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด ต่อไปด้วย ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาจังหวัดโดยมีความรู้เทียบไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมปีที่ 3 อยู่แล้ว หาขาดคุณสมบัติไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดกาฬสินธุ์ เขตอำเภอยางตลาดต่อมามีการตั้งกรรมการสอบสวนว่าโจทก์ไม่มีความรู้เทียบมัธยม 3 แล้วจำเลยที่ 1 มีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีคุณสมบัติ ให้ออกจากเป็นสมาชิก จำเลยที่ 2 ได้แจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ ความจริงโจทก์มีความรู้ได้รับประกาศนียบัตรนักธรรมเอกเทียบสูงกว่าชั้น ป.7 (มัธยม 3 เดิม)ขอให้พิพากษาว่าคำสั่งของจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ และโจทก์เป็นสมาชิกสภาจังหวัดอยู่ตามสภาพเดิม

จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่า โจทก์สอบได้นักธรรมเอก แต่ไม่ได้ขอเทียบความรู้จากกระทรวงศึกษาธิการ แม้กระทรวงศึกษาธิการจะเทียบความรู้ให้ภายหลัง ก็ไม่มีผลย้อนหลัง

วันชี้สองสถาน คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกัน และไม่สืบพยาน

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า คำสั่งจังหวัดกาฬสินธุ์ของจำเลยที่ 1ที่สั่งให้โจทก์ขาดจากความเป็นสมาชิกสภาจังหวัดกาฬสินธุ์ขัดต่อกฎหมาย ไม่มีผลบังคับโจทก์ ให้ยกฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อมา

ข้อเท็จจริงได้ความว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการว่าตามที่เคยเทียบความรู้เฉพาะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลไว้นั้น ได้เกิดมีปัญหาในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดและสภาผู้แทนราษฎร จึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาเทียบความรู้ในระดับมัธยมปีที่ 6 ปีที่ 3 และประถมปีที่ 4ให้ เพื่อจะได้ถือเป็นหลักปฏิบัติเพื่อสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาทั้งสามต่อไป เมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้มีหนังสือส่งรายการวุฒิต่าง ๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการเคยเทียบชั้นการศึกษาระดับต่าง ๆ ตอบมานั้น ได้กำหนดบุคคลซึ่งมีวุฒิผู้ซึ่งได้รับประกาศนียบัตรนักธรรมตรีขึ้นไปว่า มีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมปีที่ 3 เฉพาะการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล ซึ่งได้ตกลงกับกระทรวงมหาดไทยไว้แล้วให้มีผลใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดไปด้วย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ได้รับประกาศนียบัตรนักธรรมเอกซึ่งสูงกว่านักธรรมตรีโจทก์จึงเป็นผู้ที่มีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมปีที่ 3 ตามนัยแห่งหนังสือของกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าว ส่วนในข้อที่จำเลยฎีกาอ้างมาว่า กระทรวงศึกษาธิการเพิ่งเทียบความรู้ของโจทก์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2511 หลังจากโจทก์ได้รับเลือกตั้งแล้ว จึงไม่มีผลย้อนหลังทำให้โจทก์มีคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น ศาลฎีกาเห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการได้เคยทำความตกลงกับกระทรวงมหาดไทยพิจารณารับรองความรู้ตามคุณวุฒิต่าง ๆ ที่ถือว่าเทียบได้ไม่ต่ำกว่าสอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ 3 ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการไว้มาก่อนแล้ว ตามหนังสือกระทรวงศึกษาธิการที่ 8282/2496 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2496 หาใช่ว่าเพิ่งจะมีการพิจารณาหยิบยกคุณวุฒิขึ้นเทียบเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม2511 ดังจำเลยกล่าวอ้างไม่ จึงเห็นได้ว่ากระทรวงศึกษาธิการได้เคยพิจารณาคุณวุฒิของพื้นความรู้ที่ถือว่าไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมปีที่ 3 มาแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่โจทก์จะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด ครั้นเมื่อกระทรวงมหาดไทยมีปัญหาเรื่องพื้นความรู้ของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด ถามกระทรวงศึกษาธิการกระทรวงศึกษาธิการก็ได้พิจารณาแจ้งมาว่าประกาศนีย์บัตรนักธรรมตรีขึ้นไปมีความรู้ไม่ต่ำกว่ามัธยมปีที่ 3 ดังกล่าวแล้ว อันเห็นได้ว่าโจทก์มีพื้นความรู้ในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ. 2482 มาตรา 19(3) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่3) พ.ศ. 2498 มาตรา 7 และประกาศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดกาฬสินธุ์มีพื้นความรู้ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับรองว่าเทียบได้ไม่ต่ำกว่ามัธยมปีที่ 3 เช่นนี้แล้ว จะถือว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่มีคุณวุฒิให้ด้านความรู้ก่อนโจทก์สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดได้อย่างไร เห็นว่าโจทก์มีคุณสมบัติพื้นความรู้ในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดในขณะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดแล้ว ฉะนั้นคำสั่งของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ที่สั่งให้โจทก์ออกจากความเป็นสมาชิกสภาจังหวัดดังกล่าว จึงเป็นการสั่งที่ไม่ชอบ

พิพากษายืน

Share