แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำฟ้องฎีกาเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1(3) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15แต่การที่จำเลยยื่นคำฟ้องฎีกาอันเป็นเท็จคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ในเรื่องเดิมที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยว่าบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของจำเลยนั้น เป็นการกระทำโดยมีเจตนาให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเรื่องเดิมตามที่จำเลยได้ยื่นคำร้องอันเป็นเท็จขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการไว้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเป็นกรรมเดียวกันกับการที่จำเลยได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการไว้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ไม่เป็นความผิดต่างกรรม จำเลยเบิกความในคดีเรื่องเดิมครั้งแรกไม่จบปาก ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนไปซักค้านต่อในนัดหน้า ข้อความที่เบิกความครั้งแรกและครั้งหลังก็ต่อเนื่องกัน การเบิกความของจำเลยในครั้งหลังเจตนาที่จะให้โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเรื่องเดิมได้รับโทษเช่นเดียวกันกับเบิกความในครั้งแรก ถือว่าเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเป็นกรรมเดียวกัน มิใช่เป็นความผิดต่างกรรม โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยร่วมกันในความผิดเดียวกัน และศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องของโจทก์ที่ 1 แล้ว การที่จะวินิจฉัยว่าฟ้องในส่วนของโจทก์ที่ 2ที่ไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้จะชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(7) หรือไม่ ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทง กล่าวคือ
ก. เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2524 เวลากลางวัน จำเลยเอาความอันเป็นเท็จแกล้งฟ้องโจทก์ทั้งสองต่อศาลจังหวัดนครปฐมว่ากระทำความผิดอาญา ซึ่งจำเลยรู้ดีอยู่แล้วว่าเป็นความเท็จ โดยจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีอาญาข้อหาฐานความผิดร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1424/2524 คดีหมายเลขแดงที่ 3751/2526ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดนครปฐม โจทก์ นายเฉลิมสิทธิ์รุจิราวงศ์ กับพวก จำเลย โดยจำเลยบรรยายในคำร้องว่า “คดีนี้ผู้ร้องเป็นผู้เสียหายโดยถูกจำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้ร้อง ผู้ร้องมีความประสงค์ที่จะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีนี้ด้วย ผู้ร้องขอให้ศาลถือเอาคำฟ้องและบัญชีระบุพยานของพนักงานอัยการ ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้เป็นคำฟ้องและบัญชีระบุพยานของผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ร่วมด้วย” และตามคำฟ้องของพนักงานอัยการ จังหวัดนครปฐม มีใจความว่า”เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2524 เวลากลางวันจำเลยทั้งสองโดยไม่มีเหตุอันควร ได้บังอาจสมคบร่วมกันรื้อไม้และสังกะสีซึ่งใช้กั้นห้องระหว่างบ้านเลขที่ 102 กับเลขที่ 104 ถนนพญาพานตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม ออกแล้วบุกรุกเข้าไปในบ้านเลขที่ 102 ดังกล่าว อันเป็นเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายสุโรจน์ รุจิราวงศ์ โดยขนส่งของต่าง ๆ ของจำเลยทั้งสองเข้าไปกองและวางไว้ในห้องเลขที่ 102 อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของนายสุโรจน์ รุจิราวงศ์โดยปกติสุข” ตามที่จำเลยได้บรรยายฟ้องดังกล่าวเป็นความเท็จเพราะความจริงแล้ว ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2524 โจทก์ทั้งสองไม่ได้ร่วมกันรื้อไม้และสังกะสี ซึ่งใช้กั้นห้องแถวระหว่างห้องเลขที่ 102 กับเลขที่ 104 ความจริงกลับเป็นว่าฝาบ้านดังกล่าวนี้จำเลยได้สั่งให้คนงานรื้อออกไปเมื่อปี พ.ศ. 2518 ห้องเลขที่ 102อยู่ในความครอบครองของนายสวัสดิ์ รุจิราวงศ์ บิดาโจทก์ทั้งสองและโจทก์ทั้งสองหาได้รบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของจำเลยโดยปกติสุขไม่ เพราะโจทก์ทั้งสองมีสิทธิครอบครองโดยอาศัยสิทธิของนายสวัสดิ์ รุจิราวงศ์ ซึ่งเป็นบิดาในห้องเลขที่ 102 และ 104
ข. เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2524 จำเลยได้สาบานต่อศาลจังหวัดนครปฐมแล้วเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาของศาลจังหวัดนครปฐม ในข้อหาฐานความผิดร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นคดีหมายเลขดำที่ 1424/2524 คดีหมายเลขแดงที่ 3751/2526ที่จำเลยขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ โดยจำเลยเบิกความเท็จอันเป็นข้อสำคัญแห่งคดี มีใจความว่า “ต่อมา พ.ศ. 2520 ข้าฯเอาห้องเลขที่ 104 แลกกับห้องเลขที่ 102 โดยข้าฯ มาครอบครองห้องเลขที่ 102 แล้วให้นายสวัสดิ์บิดาจำเลยครอบครองห้องเลขที่ 104 ในการแลกห้องกัน ข้าฯ ได้ยกทรัพย์สินของข้าฯที่มีอยู่ในห้อง 100 กับ 102 ซึ่งเป็นพวกถังไม้ และใบระหัดให้กับนายสวัสดิ์ไปทำทุนหมดแล้ว ต่างคนต่างย้ายเข้ามาครอบครองห้องตามที่แลกกัน” และอีกตอนว่า “ข้าฯ กลับมาบ้านที่เกิดเหตุพบจำเลยทั้งสองกำลังรื้อฝากั้นห้องระหว่างบ้านข้าฯ กับบ้านจำเลยซึ่งเป็นฝาสังกะสีและไม้ จำเลยทั้งสองได้ใช้ค้อนกับคีมถอนตะปูออก จำเลยทั้งสองรื้อฝาบ้านออกไปเป็นเนื้อที่ประมาณ 4 เมตรนอกจากนั้นจำเลยทั้งสองได้ช่วยกันขนโต๊ะ เก้าอี้ ตู้ ซึ่งข้าฯมีไว้ขายไปไว้นอกบ้าน” ความจริงแล้วไม่มีการแลกเปลี่ยนห้องเลขที่ 102 กับห้องเลขที่ 104 ห้องเลขที่ 102 อยู่ในความครอบครองของนายสวัสดิ์ รุจิราวงศ์ บิดาโจทก์ทั้งสอง ฝาห้องเลขที่ 102กับห้องเลขที่ 104 โจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นผู้รื้อ ความจริงจำเลยสั่งให้คนงานรื้อฝาดังกล่าวเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2518 จำเลยเป็นผู้ขนโต๊ะ เก้าอี้ ตู้ ซึ่งมีไว้ขายไปไว้นอกบ้านตรงฟุตบาทหน้าบ้านของจำเลยเอง
ค. เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2525 เวลากลางวันจำเลยได้สาบานตัวต่อศาลจังหวัดนครปฐมแล้วเบิกความเท็จต่อจากคราวก่อนว่า”เดิมห้องเลขที่ 100 กับ 102 เป็นของบิดามารดาข้าฯ เมื่อบิดามารดาตาย ข้าฯ ได้เข้ารับเอาห้องเลขที่ 100 ส่วนบิดาจำเลยเข้ารับห้องเลขที่ 102 หลังจากนั้นบิดากับจำเลยก็ช่วยข้าฯทำมาค้าขายต่อไป มาแยกกันเมื่อ พ.ศ. 2520 หลังจาก พ.ศ. 2520 แล้วข้าฯ กับครอบครัวจำเลยไม่ได้ช่วยกันค้าขายและไม่ได้ร่วมรับประทานอาหารกันต่อไป ได้แยกกันโดยเด็ดขาดหลังจากกั้นห้องเลขที่ 102 กับ 104 แล้ว ไม่มีของของจำเลยอยู่ในห้องเลขที่ 102อีกเลย จนกระทั่งเกิดเหตุคดีนี้ และก่อนที่จะเกิดเรื่อง หลังจากพ.ศ. 2520 ข้าฯ กับจำเลยได้แยกห้องกันอยู่ ก่อนนั้นอยู่รวมกันหลังจากแยกห้องกันอยู่แล้ว ข้าฯ ค้าขายเฟอร์นิเจอร์ ส่วนจำเลยขายระหัดวิดน้ำและถังน้ำ และก่อน พ.ศ. 2520 ในขณะที่ยังอยู่ร่วมกันกับจำเลย ได้มีการกั้นห้องระหว่างข้าฯ กับจำเลย แต่กั้นไม่ตลอด เป็นการกั้นห้องระหว่างห้องเลขที่ 104 กับห้องเลขที่ 102ขณะนั้นข้าฯ อยู่ห้องเลขที่ 100 กับ 102 ส่วนห้องเลขที่ 104จำเลยอยู่ หลังจากปี พ.ศ. 2520 แล้วก็ได้ปิดช่องที่ไปมาหากันได้นั้นเสีย” คำเบิกความเท็จดังกล่าว เป็นข้อสำคัญในคดีอาญาความจริงแล้วห้องเลขที่ 102 อยู่ในความครอบครอง นายสวัสดิ์รุจิราวงศ์ บิดาโจทก์ และห้องเลขที่ 104 เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างนายสวัสดิ์ รุจิราวงศ์ กับจำเลย ฝากั้นห้องเลขที่ 102กับ 104 ที่จำเลยกล่าวอ้างว่ามีการปิดช่องไปมาหากัน เมื่อปีพ.ศ. 2520 นั้น ความจริงฝาดังกล่าวคงสภาพอยู่อย่างเดิมตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2520 จนถึงวันเกิดเหตุ
ง. เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2527 เวลากลางวัน จำเลยได้เอาข้อความซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จแกล้งบรรยายฟ้องฎีกาคดีดังกล่าว มีใจความว่า “แต่บิดาจำเลยทั้งสองได้แลกเปลี่ยนการครอบครองห้องเลขที่ 102 ดังกล่าวกับห้องเลขที่ 104 ซึ่งโจทก์ร่วมทำสัญญาเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 และสิทธิครอบครองห้องเลขที่ 102 ตกอยู่กับโจทก์ร่วมโดยการแลกเปลี่ยนครอบครองกับห้องเลขที่ 104ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 และโจทก์ร่วมเป็นผู้ครอบครองห้องเลขที่ 100ซึ่งโจทก์ร่วมเป็นผู้ทำสัญญาเช่าจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับห้องเลขที่ 102 โดยการแลกเปลี่ยนครอบครองกับห้องเลขที่ 104โจทก์ร่วมจึงยกทรัพย์สินบางส่วนให้บิดาจำเลยทั้งสองไปทำทุนและให้ไปอยู่ในห้องเลขที่ 104 โดยได้ตอกฝากั้นห้องที่จำเลยทั้งสองรื้อออกตั้งแต่นั้นมา โจทก์ร่วมครอบครองห้องเลขที่ 102และห้องเลขที่ 100 ห้องเลขที่ 100 กับห้องเลขที่ 102 ไม่มีฝากั้นห้อง เพราะโจทก์ร่วมเป็นผู้ครอบครองค้าขายอยู่แต่เพียงผู้เดียว เมื่อจำเลยขนของโจทก์ร่วมออกไปไว้นอกห้องแล้วขนของของตนเข้าไปไว้ห้องเลขที่ 102 โดยห้องดังกล่าวโจทก์ร่วมเป็นฝ่ายครอบครองอยู่แต่ผู้เดียว และอีกตอนหนึ่งว่า จำเลยทั้งสองย่อมมีความผิดฐานบุกรุกเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วม เพราะสิทธิครอบครองห้องเลขที่ 102 ตกอยู่กับโจทก์ร่วมโดยการแลกเปลี่ยนครอบครองกับห้องเลขที่ 104 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 แล้วเมื่อเข้าไปโดยไม่มีสิทธิครอบครองจึงเป็นการรบกวนการครอบครองห้องดังกล่าวของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขและการที่จำเลยทั้งสองร่วมกับขนย้ายโต๊ะ ตู้ เก้าอี้ ซึ่งเป็นสินค้าที่โจทก์ร่วมมีไว้ขายออกไปไว้นอกห้องเลขที่ 102 ซึ่งเป็นห้องที่โจทก์ร่วมครอบครองค้าขายอยู่นั้น แม้กลางคืนจำเลยทั้งสองจะได้ขนเข้าไปไว้ในห้องอีก แต่การขนย้ายสินค้าที่โจทก์ร่วมตั้งไว้ขายในห้องเลขที่ 102 โดยจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมเป็นการรบกวนการครอบครองห้องเลขที่ 102 ของโจทก์ร่วม” ความจริงแล้วโจทก์ทั้งสองหาได้กระทำความผิดตามคำฟ้องฎีกาของจำเลยไม่ ความจริงนายสวัสดิ์ รุจิราวงศ์ บิดาโจทก์ทั้งสองหาได้แลกเปลี่ยนห้องเลขที่ 102 กับห้องเลขที่ 104 ดังกล่าวกับจำเลยไม่ นายสวัสดิ์รุจิราวงศ์ เป็นผู้ครอบครองห้องเลขที่ 102 และห้องเลขที่ 104เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างนายสวัสดิ์ รุจิราวงศ์ กับจำเลย จำเลยเองเป็นผู้ขนโต๊ะ ตู้ เก้าอี้ ไปวางไว้ขายหน้าห้องเลขที่ 102โจทก์ทั้งสองหาได้เป็นผู้ขนสิ่งของดังคำฟ้องฎีกาของจำเลยดังกล่าวไม่ ในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2529 การกระทำของจำเลยเป็นการฟ้องเท็จในคดีอาญา เบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญา โดยมีเจตนาทุจริต และยังเป็นการกระทำที่กลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองให้ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่ศาลจังหวัดนครปฐม ตำบลพระปฐมเจดีย์อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 175, 177, 181 และ 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ลงโทษฐานฟ้องเท็จ จำคุก 6 เดือนและปรับ 2,000 บาท รวม 2 กระทง จำคุก 1 ปี และปรับ 4,000 บาทฐานเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญา จำคุก 8 เดือน และปรับ3,000 บาท รวม 2 กระทง จำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 6,000 บาทบาท รวมจำคุก 2 ปี 4 เดือน และปรับ 10,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับจำเลยอายุ 77 ปี ไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 1 ปี คำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำเลยฐานฟ้องเท็จกระทงหนึ่งและลงโทษฐานเบิกความเท็จอีกกระทงหนึ่ง รวมจำคุก 1 ปี 2 เดือนและปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 และบังคับค่าปรับตามมาตรา 29, 30ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า จำเลยกับนายสวัสดิ์ รุจิราวงศ์ บิดาของโจทก์ทั้งสองต่างเป็นบุตรของนางเกิด แซ่ลิ้ม เจ้าของสิทธิการเช่าห้องเลขที่ 100 และ 102 ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐมจังหวัดนครปฐม ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เมื่อปี พ.ศ. 2513 นางเกิดถึงแก่กรรม จำเลยได้รับมรดกสิทธิการเช่าห้องเลขที่ 100 นายสวัสดิ์ได้รับมรดกสิทธิการเช่าห้องเลขที่ 102 ห้องทั้งสองอยู่ติดกันแต่ไม่มีฝากั้นโดยบุคคลทั้งสองค้าขายร่วมกัน เมื่อปี พ.ศ. 2515 จำเลยกับนายสวัสดิ์ได้ร่วมกันรับโอนสิทธิการเช่าห้องเลขที่ 104 จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ถัดจากห้องเลขที่ 102 โดยใส่ชื่อจำเลยเป็นคู่สัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เมื่อปี พ.ศ. 2520 จำเลยกับนายสวัสดิ์ได้ตกลงแยกกิจการค้าต่อกันโดยนายสวัสดิ์และครอบครัวย้ายไปอยู่ห้องเลขที่ 104 ส่วนห้องเลขที่ 102 ใช้เป็นห้องเก็บของ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2524จำเลยได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า โจทก์ทั้งสองได้บุกรุกเข้าไปในห้องเลขที่ 102 ซึ่งตนครอบครองและพนักงานอัยการได้ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นจำเลยในข้อหาบุกรุกโดยจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมและเข้าเบิกความในคดีดังกล่าวรวมสองครั้งมีใจความว่า จำเลยและนายสวัสดิ์ได้แลกเปลี่ยนห้องเลขที่ 102กับห้องเลขที่ 104 ต่อกันแล้ว วันเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองได้บุกรุกเข้ามาในห้องเลขที่ 102 ของจำเลยและรื้อฝากั้นห้องระหว่างห้องเลขที่ 102 กับ 104 กับได้นำสิ่งของของจำเลยไปไว้ที่บาทวิถีศาลจังหวัดนครปฐมพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสองมีความผิดฐานบุกรุกให้จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาท โทษจำคุกรอไว้คนละ 2 ปี ปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3751/2526 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องศาลฎีกาพิพากษายืน โดยฟังข้อเท็จจริงว่าไม่มีการแลกเปลี่ยนห้องเลขที่ 102 กับห้องเลขที่ 104 ระหว่างนายสวัสดิ์กับจำเลยและไม่น่าเชื่อว่าในวันเกิดเหตุจะมีการรื้อฝาห้องระหว่างห้องเลขที่ 102 กับห้องเลขที่ 104 การที่จำเลยขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการและการที่จำเลยเบิกความในคดีเรื่องเดิมโดยยืนยันว่ามีการแลกเปลี่ยนห้องเลขที่ 102กับห้องเลขที่ 104 ระหว่างจำเลยกับนายสวัสดิ์และการที่จำเลยเบิกความว่าโจทก์ทั้งสองบุกรุกห้องเลขที่ 102 ของจำเลยนั้น เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองดังต่อไปนี้
1. การที่จำเลยยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ในคดีเรื่องเดิมนั้นเป็นความผิดฐานฟ้องเท็จอีกกรรมหนึ่งหรือไม่ เห็นว่า แม้คำฟ้องฎีกาจะเป็น “คำฟ้อง” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1(3) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ก็ตามแต่การที่จำเลยยื่นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพาทกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ในเรื่องเดิมนั้นเป็นการกระทำโดยมีเจตนาให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเรื่องเดิม ตามที่จำเลยได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการไว้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเป็นกรรมเดียวกันกับการที่จำเลยได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการไว้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ไม่เป็นความผิดต่างกรรมตามฎีกาของโจทก์ทั้งสอง
2. การที่จำเลยเบิกความเท็จในคดีเรื่องเดิมรวมสองครั้งถือว่าเป็นการกระทำต่างกรรมกันหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเบิกความในคดีเรื่องเดิมครั้งแรกเมื่อวันที่ 8กันยายน 2524 แต่เบิกความไม่จบปาก ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนไปซักค้านต่อในวันที่ 16 มิถุนายน 2525 ข้อความที่เบิกความครั้งแรกและครั้งหลังก็ต่อเนื่องกัน การเบิกความของจำเลยในครั้งหลังเจตนาที่จะให้โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเรื่องเดิมได้รับโทษเช่นเดียวกับการเบิกความในครั้งแรก ถือว่าเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเป็นกรรมเดียวกัน มิใช่เป็นความผิดต่างกรรมตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองเช่นกัน
ส่วนปัญหาที่ว่า การที่โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงฟ้องแต่เพียงคนเดียว โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 เป็นทนายความหรือได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 2 ให้เป็นผู้แทนตนในคดีนี้นั้น ฟ้องในส่วนของโจทก์ที่ 2 ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) หรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยร่วมกันในความผิดเดียวกัน และศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องของโจทก์ที่ 1 แล้ว การที่จะวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ที่ 2 จะชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7)หรือไม่ ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน