แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การจับในที่รโหฐาน ในเวลากลางคืนโดยไม่มีหมายจับนั้น เมื่อพฤติการณ์ปรากฎว่าความผิดซึ่งหน้าซึ่งจำเลยผู้ถูกจับได้กระทำแล้วหลบหนีเข้าไปเป็นเพียงความผิดฐานลหุโทษ ตำรวจผู้จับรู้จักจำเลยและหลักแหล่งของจำเลยมาก่อน ทั้งไม่ปรากฎว่าจำเลยจะหลบหนีต่อไป เช่นนี้ ก็ไม่เป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46(2) จ่าสิบตำรวจ สิบตำรวจโท และพลตำรวจ จึงไม่มีอำนาจเข้าไปจับ การเข้าไปจับโดยไม่มีอำนาจเช่นนี้ จำเลยย่อมกระทำการป้องกันได้ และเมื่อไม่เกินสมควรแก่เหตุ จำเลยก็ไม่มีความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเสพสุราจนเป็นเหตุให้ตนเมาประพฤติวุ่นวายขณะอยู่ในถนนสาธารณะ และยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิด ๑ นัด โดยใช่เหตุในหมู่บ้านชุมชนและในท้องถนนสาธารณะ จ่าสิบตำรวจอาจ สิบตำรวจโทมานิตย์ พลตำรวจเจริญ พบเห็นการกระทำผิดซึ่งหน้าของจำเลยดังกล่าว จึงเข้าทำการจับกุมเพื่อนำส่งพนักงานสอบสวนอันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามกฎหมาย จำเลยบังอาจต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้อาวุธมีดโต้ปลายตัดพยายามจะฟันทำร้ายพลตำรวจเจริญ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๘,๑๔๐,๒๙๖,๘๐,๓๗๖,๓๗๘,๙๑ และริบมีดของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลจังหวัดลำปางพิพากษาว่าจำเลยยิงปืนในหมู่บ้านโดยใช่เหตุ ผิดมาตรา ๓๗๖ จำคุก ๑๐ วัน ข้อหาอื่นให้ยก คืนมีดของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยผิดมาตรา ๓๗๘ ด้วยแต่ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๗๖ ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุด นอกนั้นยืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อวินิจฉัยมีว่า จ่าสิบตำรวจอาจ สิบตำรวจโทมานิตย์ พลตำรวจเจริญ มีอำนาจจับจำเลยในที่รโหฐานในเวลากลางคืนโดยไม่ต้องมีหมายจับได้หรือไม่ พิเคราะห์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๑(๑),๙๒(๓) และ ๙๖(๖) แล้วเห็นว่าแม้จำเลยได้กระทำผิดซึ่งหน้า และขณะถูกไล่จับหนีเข้าไปในบ้านก็ตาม แต่ความผิดทีจำเลยกระทำก็เป็นแต่เพียงควมผิดฐานลหุโทษซึ่งมีโทษเล็กน้อย จ่าสิบตำรวจอาจ พลตำรวจเจริญ รู้จักจำเลยมาก่อน และรู้ว่าบ้านนั้นเป็นของจำเลยเป็นอย่างดี เท่ากับรู้จักหลักแหล่งของจำเลยแล้ว ไม่ปรากฎว่าจำเลยจะหลบหนีต่อไป ฉะนั้น พฤติการณ์ดังกล่าวไม่เป็นเหตุให้ถือว่าเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งตามมาตรา ๙๖(๒) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จ่าสิบตำรวจอาจ สิบตำรวจโทมานิตย์ พลตำรวจเจริญ หามีอำนาจเข้าไปจับกุมจำเลยในบ้านเรือนของจำเลยไม่ การติดตามเข้าไปจับกุมจำเลยในบ้านเรือนจำเลยโดยไม่มีอำนาจเช่นนั้น จำเลยย่อมจะกระทำการเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ และการกระทำของจำเลยที่จะเงื้อมีดจะฟันตำรวจเหล่านี้ ก็ยังฟังไม่ได้ว่าเกินสมควรแก่เหตุ จำเลยจึงไม่มีความผิด พิพากษายืน