แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชังตามฟ้องข้อ 1.1 ถึง 1.3 แต่ละข้อวันเวลาเกิดเหตุต่างกันและบุคคลที่สามต่างรายกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามฟ้องข้อ 1.1 ซึ่งความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 333 โจทก์ร่วมอ้างว่ามีผู้กระทำความผิดเกิดขึ้น แม้จำเลยผู้เดียวกระทำความผิด แต่กระทำความผิดหลายกรรม โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เมื่อโจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ และห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง, 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามฟ้องข้อ 1.1
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 91 และนับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1564/2549 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นายอำนาจ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ลงโทษจำคุก 15 วัน และปรับ 2,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้กำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1564/2549 ของศาลชั้นต้น เห็นว่า ในคดีดังกล่าวศาลมิได้ลงโทษจำคุกจำเลยจึงไม่อาจให้นับโทษต่อได้ และให้ยกฟ้องโจทก์ตามฟ้องข้อ 1.2 และ ข้อ 1.3
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ 1.1 ยกฟ้องตามฟ้องข้อ 1.2 และ 1.3 โจทก์และโจทก์ร่วมไม่อุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมร้องทุกข์เฉพาะความผิดตามฟ้องข้อ 1.2 พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนตามฟ้องข้อ 1.1 และ 1.3 เป็นการวินิจฉัยเกินเลยไปสำหรับฟ้องข้อ 1.3 เพราะไม่ทำให้ผลของคดีสำหรับฟ้องข้อ 1.3 เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ที่โจทก์ร่วมฎีกาในความผิดตามฟ้อง ข้อ 1.3 ขึ้นมาด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมประการแรกว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์ในความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 หรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องข้อ 1.1 โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2548 จำเลยใส่ความโจทก์ร่วมต่อนางขวัญใจ บุคคลที่สาม แต่ได้ความว่าวันที่ 13 มิถุนายน 2548 โจทก์ร่วมไปแจ้งว่าได้รับทราบจากนางปุณฑริกา ตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน ดังนี้ นางปุณฑริกาคือบุคคลที่สามตามฟ้อง ข้อ 1.2 ทั้งรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน โจทก์ร่วมไม่มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ ไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (7) ต่อมาวันที่ 6 กันยายน 2548 โจทก์ร่วมไปพบพนักงานสอบสวนยืนยันประสงค์จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี วันเดียวกันโจทก์ร่วมให้การว่า จำเลยใส่ความโจทก์ร่วมต่อนางปุณฑริกาบุคคลที่สามตามบันทึกคำให้การ ไม่มีข้อความใดว่าจำเลยใส่ความโจทก์ร่วมต่อนางขวัญใจบุคคลที่สามตามฟ้อง ข้อ 1.1 ดังนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ชัดเจนว่าโจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดตามฟ้อง ข้อ 1.1 ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ตามที่โจทก์ฟ้อง เป็นความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 333 โจทก์ร่วมอ้างว่ามีผู้กระทำความผิดเกิดขึ้น แม้จำเลยผู้เดียวกระทำความผิด แต่กระทำความผิดหลายกรรม โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เมื่อโจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดตามฟ้อง ข้อ 1.1 ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบและห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง, 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามฟ้อง ข้อ 1.1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามฟ้อง ข้อ 1.1 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่น
พิพากษายืน