คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2439/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินของโจทก์แยกออกมาจากที่ดินของจำเลยที่1เมื่อไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะโจทก์มีสิทธิใช้ทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยที่1โดยไม่ต้องใช้ค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1350 ปัจจุบันรถยนต์ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นในความเป็นอยู่ของประชาชนโดยทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์เป็นผู้ที่มีอาชีพหาซื้อสุกรมาชำแหละเนื้อสุกรขายการใช้รถยนต์ผ่านทางเข้าออกทางพิพาทมิได้เป็นเรื่องเกินความจำเป็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดตราจองที่ 6413ที่ดินดังกล่าวแบ่งแยกจากที่ดินโฉนดตราจองที่ 4944 ของจำเลยที่ 1 ทำให้ที่ดินโฉนดตราจองที่ 6413 ถูกที่ดินอื่นล้อมรอบจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เจ้าของที่ดินเดิมได้ใช้ที่ดินของจำเลยที่ 1เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะกว้างประมาณ 2 เมตรครึ่งโดยจำเป็นตลอดมาหลายสิบปี จนได้ภาระจำยอมโจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวเมื่อปี 2527 แล้วใช้รถยนต์ปิกอัพผ่านทางดังกล่าวในการขนส่งสุกรเพื่อซื้อขายตลอดมาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2532 จำเลยทั้งสองปลูกต้นไม้และปักหลักไม้เพื่อให้ทางดังกล่าวแคบเข้าเป็นแนวยาวประมาณ 6 เมตร ทำให้โจทก์ไม่สามารถนำรถยนต์ปิกอัพเข้าออกได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนต้นไม้และหลักไม้ออกจากทางพิพาทให้กว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตรครึ่ง ตลอดแนวทาง
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดตราจองที่ 4944 จริง เจ้าของที่ดินติดต่อกันใช้ที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นทางเดินกว้างเพียงประมาณ 1 เมตรเศษจำเลยทั้งสองไม่เคยปลูกต้นไม้และปักหลักไม้ตามโจทก์ฟ้อง โจทก์มิได้เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนต้นไม้และหลักไม้ออกจากทางพิพาทให้กว้าง 2 เมตรครึ่งตลอดแนว
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่กรรมนางมาลี หลวงฤทธิ์ ภรรยาของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ซื้อที่ดินตามโฉนดตราจองที่ 6413 ตำบลแม่พูล (พันแหวน) อำเภอลับแลจังหวัดอุตรดิตถ์ ตามเอกสารหมาย จ.1 จากนายน้อย จันทร์ฟูตั้งแต่ปี 2527 แล้วปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินดังกล่าวที่ดินที่โจทก์ซื้อเดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินโฉนดตราจองที่ 4944 ตามเอกสารหมาย จ.2 ของจำเลยที่ 1 มีทางพิพาทจากที่ดินของโจทก์ผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1ออกไปสู่ถนนสาธารณะสายหัวดง-นานกก มานาน 40กว่าปีแล้ว นอกจากนี้มีทางเดินไปสู่ถนนซอย แต่ต้องผ่านที่ดินผู้อื่น โจทก์มีรถยนต์กระบะ 1 คัน เมื่อวันที่28 ตุลาคม 2532 โจทก์นำรถยนต์กระบะออกจากบ้านไม่ได้เพราะทางพิพาทมีหลักไม้ปักอยู่และมีต้นไม้ปลูกอยู่ตามแนวที่มีหลักปักอยู่ตลอดแนวยาวประมาณ 6 เมตรมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ เห็นว่า แม้จะปรากฏจากโฉนดตราจองเอกสารหมาย จ.1 ว่า ด้านทิศตะวันออกของที่ดินโจทก์จดคลองแม่พร่อง แต่โจทก์ก็นำสืบได้ว่าสภาพคลองตื้นเขิน ไม่มีน้ำหนักน้ำก็มีน้ำบ้างแต่ไม่มีใครใช้เรือผ่านไปมา โดยจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบหักล้างจำเลยที่ 2 ยังตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่าคลองแม่พร่อง มิใช่คลองที่ใช้สัญจรไปมาจึงฟังไม่ได้ว่าคลองแม่พร่องเป็นทางสาธารณะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ส่วนที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าจากที่ดินของโจทก์มีทางออกไปสู่ถนนซอยตามภาพถ่ายหมาย ล.1 ซึ่งเป็นทางสาธารณะและถนนซอยดังกล่าวเป็นทางไปสู่ถนนสายหัวดง-นานกก ได้ก็ปรากฏว่าทางดังกล่าวเป็นทางคนเดินและจะต้องผ่านที่ดินของนางเจริญและนางใจ ซึ่งเจ้าของที่ดินจะปิดกั้นทางนั้นเมื่อใดก็ได้ เพราะมีประตูทางเข้าตามภาพถ่ายหมาย ล.2นอกจากนี้หากเป็นการผ่านที่ดินของผู้อื่นโจทก์อาจจะต้องถูกเรียกให้ใช้ค่าทดแทนจากเจ้าของที่ดินได้แต่ที่ดินของโจทก์แยกออกมาจากที่ดินของจำเลยที่ 1 เมื่อไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะโจทก์มีสิทธิใช้ทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องใช้ค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350
ประเด็นที่ 2 จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองมิใช่เป็นผู้ปักหลักไม้และปลูกต้นไม้ในทางพิพาทเพื่อให้ทางพิพาทแคบกว่าเดิมนั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 วรรคสาม บัญญัติว่า “ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่านกับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็น ผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้” ในเรื่องนี้โจทก์นำสืบว่า โจทก์นำรถยนต์กระบะเข้าออกทางพิพาทเพื่อประกอบการค้าเกี่ยวกับการซื้อสุกรมาฆ่า และนำสุกรชำแหละไปขายที่ตลาด ความจำเป็นของโจทก์ดังกล่าวก่อนวันที่ 28 ตุลาคม 2532 ไม่ทำให้ที่ดินของจำเลยที่ 1เสียหายเพิ่มขึ้น หากแต่จำเลยทั้งสองนำหลักไม้มาปักขวางและนำต้นไม้มาปลูกทำให้ทางพิพาทแคบลงกว่าเดิมจึงต้องพิเคราะห์ว่าฝ่ายใดเป็นผู้ทำให้ทางพิพาทแคบลงกว่าที่เคยเป็นอยู่ นอกจากนี้มีนายประวิทย์ ชูกำเหนิด รักษาการจ่าศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีในชั้นโจทก์ขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา เบิกความประกอบรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับวันที่ 8 มกราคม 2533 ว่า เมื่อไปยังบ้านโจทก์เห็นรถยนต์กระบะจอดอยู่ในบ้าน นำออกมาไม่ได้ต้องถอนหลักไม้ และต้นไม้ออกก่อนจึงจะนำรถยนต์ออกมาได้ลักษณะของต้นไม้ดูแล้วเพิ่งปลูกไม่นานนัก และหากปลูกไว้นานจริงรถยนต์กระบะของโจทก์จะไม่สามารถเข้าสู่บ้านของโจทก์ได้และเพียงแต่ถอนเสาหลักออกอย่างเดียวโดยไม่ถอนต้นไม้หากขับรถยนต์กระบะออกมาก็จะทับต้นไม้ดังกล่าวนั้น น่าเชื่อว่าหลักไม้และต้นไม้นั้นปลูกปักเมื่อโจทก์นำรถยนต์กระบะเข้าไปในบ้านแล้ว ที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่า คืนวันที่28 ตุลาคม 2532 เห็นรถยนต์กระบะของโจทก์แล่นเข้าไปในบ้านโจทก์โดยมีชายคนหนึ่งถอนหลักไม้ออกแล้วปักไว้อย่างเดิมนั้น หากเป็นเช่นนั้นจริงรถยนต์กระบะก็จะต้องทับต้นไม้ด้วยที่จำเลยทั้งสองอ้างในฎีกาว่ารถยนต์กระบะแล่นคร่อมต้นไม้เหล่านั้นเมื่อพิเคราะห์ถึงความสูงของต้นไม้ตามภาพถ่ายหมาย ล.4ไม่น่าจะลู่เอนแล้วตั้งตรงได้อย่างเดิม จนกระทั่งจำเลยทั้งสองไม่พบเห็นความเสียหายของการกระทำดังกล่าวได้ ตามภาพถ่ายหมาย ป.ล.1 และหมาย ล.7 ที่แสดงให้เห็นถึงความชำรุดเสียหายของทางพิพาท เมื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่ายหมาย ล.5 และ ล.6 ซึ่งไม่ปรากฏร่องรอยรถยนต์นั้นหากเป็นฤดูฝนย่อมจะทำให้ทางพิพาทชำรุดเสียหายแต่หากเป็นฤดูแล้งก็จะไม่ปรากฏความเสียหายให้เห็นได้ส่วนรถยนต์ในภาพที่ 6 และ 7 ตามภาพถ่ายหมาย ล.7เป็นรถยนต์ที่มีหลังคาสูงซึ่งแตกต่างจากรถยนต์กระบะของโจทก์ในภาพที่ 4 และ 5 จึงน่าเชื่อว่า โจทก์นำรถยนต์ผ่านเข้าออกทางพิพาทในช่วงความกว้าง 2 เมตรครึ่ง ตามที่นายประวิทย์ไปรื้อถอนแล้วฝ่ายจำเลยปลูกต้นไม้ปักหลักไม้ทำให้ทางพิพาทแคบลงกว่าที่เคยเป็นอยู่และปัจจุบันนี้รถยนต์ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นในความเป็นอยู่ของประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอาชีพหาซื้อสุกรมาฆ่าชำแหละเนื้อสุกรขาย การใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกทางพิพาทมิได้เป็นเรื่องเกินความจำเป็นส่วนความเสียหายของจำเลยที่ 1 ก็มิได้เสียหายเพิ่มขึ้นหากมิได้นำสิ่งกีดขวางไปปลูกปักในทางพิพาทไว้ 2
พิพากษายืน

Share