แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรมอัยการและกรมการปกครองมีหน้าที่ร่วมกับกรมสรรพากรเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ ประกอบด้วยอธิบดีกรมสรรพากร ผู้แทนกรมอัยการและผู้แทนกรมการปกครองปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งตั้งขึ้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 กรมอัยการและ กรมการปกครอง หาใช่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ อีกทั้งผู้แทนกรมอัยการหรือผู้แทนกรมการปกครองก็ไม่ได้กระทำในนามของกรม ซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้น อันจะถือเป็นการกระทำของกรมหาได้ไม่ กรมอัยการและกรมการปกครองจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานของผู้แทน ซึ่งทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องกรมอัยการและกรมการปกครอง เป็นจำเลยร่วมกับกรมสรรพากรจำเลยที่ 1
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ ๑ และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรของจำเลยทั้งสาม ตามแบบ ภ.ส.๗ เลขที่ ๑๒๙-๑๓๐/๒๕๒๕ โดยให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดชอบเสียภาษี
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องกรมอัยการจำเลยที่ ๒ และกรมการปกครองจำเลยที่ ๓ เพราะมิได้เป็นกรรมการร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องกรมอัยการจำเลยที่ ๒ และกรมการปกครอง จำเลยที่ ๓ เพราะเมื่อตัวแทนของจำเลยดังกล่าวไปกระทำการใด ย่อมต้องถือว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ รับทราบโดยตลอด และการที่จำเลยที่ ๒ที่ ๓ ทราบการละเมิดแล้วยังพิจารณายกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ว่า เหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เพราะจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เป็นกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ร่วมกับจำเลยที่ ๑ เป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในกรณีของโจทก์นี้ประกอบด้วยนายพนัส สิมะเสถียร อธิบดีกรมสรรพากร นายเสวก วัฯวิจารณ์ผู้แทนกรมอัยการ และนายพิสัย ลิมศิริวงษ์ ผู้แทนกรมการปกครอง ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งตั้งขึ้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๐ กรมอัยการจำเลยที่ ๒ ก็ดี กรมการปกครองจำเลยที่ ๓ก็ดี หาใช่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ อีกทั้งผู้แทนกรมอัยการหรือผู้แทนกรมการปกครอง ก็ไม่ได้กระทำในนามของกรมซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้น ๆ อันจะถือเป็นการกระทำของกรมหาได้ไม่ กรมอัยการจำเลยที่ ๒ และกรมการปกครองจำเลยที่ ๓ จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานของผู้แทนซึ่งทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องกรมอัยการเป็นจำเลยที่ ๒ และกรมการปกครองเป็นจำเลยที่ ๓ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ แล้ววินิจฉัยต่อไปว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและการวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว
พิพากษายืน