แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ที่ให้อำนาจศาลลงโทษผู้กระทำความผิดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นก็ตาม แต่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่ามีการนำสืบกันมาแล้วในศาลชั้นต้นตามประเด็นแห่งคดี เมื่อได้ความว่า โจทก์จำเลยไม่เคยนำสืบถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ไว้แล้วในศาลชั้นต้น แต่เป็นข้อที่จำเลยพึ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อเท็จจริงก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงนี้ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบ ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 และริบเมทแอมเฟตามีนกับถุงพลาสติกใสของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2) (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสาม (2)), 66 วรรคสาม จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี และปรับ 500,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้กักขังแทนค่าปรับเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและถุงพลาสติกใสของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 ด้วย จำคุก 25 ปี และปรับ 500,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี 6 เดือน และปรับ 250,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ อันจะเป็นเหตุให้สมควรใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยไม่เคยให้ความร่วมมือในการขยายผลเพื่อจับกุมบุคคลผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษทั้งต่อเจ้าหน้าที่ทหารเรือผู้จับกุมหรือพนักงานสอบสวน จำเลยมีภูมิลำเนาในเขตอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี บุคคลที่จำเลยติดต่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอยู่เฉพาะเขตพื้นที่อำเภอสัตหีบและเมืองพัทยาเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยไปติดต่อลูกค้าในเขตจังหวัดระยอง จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะมีข้อมูลถึงการกระทำความผิดของนายอาทิตย์ และนายศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งอยู่ที่จังหวัดระยอง ข้อเท็จจริงตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมนายอาทิตย์และนายศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับผู้แจ้งข้อมูลขัดแย้งกับรายงานการสืบสวนก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุทั่ว ๆ ไป ทั้งเอกสารดังกล่าวก็มีพิรุธ ไม่ปรากฏข้อความว่าดาบตำรวจ บัณณทัต รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จึงทำให้มีเหตุสงสัยว่าเป็นบันทึกที่ทำขึ้นหลังจากจับกุมนายอาทิตย์และ นายศักดิ์สิทธิ์แล้ว คำเบิกความของดาบตำรวจ บัณณฑัตจึงไม่น่าเชื่อถือนั้น เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามสำนวนแล้วว่า ข้อเท็จจริงที่จำเลยยกอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่าบิดาจำเลยได้รับข้อมูลจากจำเลยว่า มีการมั่วสุมเสพยาเสพติดเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานติดตามจับกุมและยึดเมทแอมเฟตามีนที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ดิน พร้อมยึดอาวุธปืนไม่มีทะเบียน อันเป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษดังกล่าว เป็นข้อความจำเลยไม่เคยแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ทหารผู้จับกุมหรือพนักงานสอบสวนมาก่อน ทำให้ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ไม่เคยเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบกันไว้ แม้ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ที่ให้อำนาจศาลลงโทษผู้กระทำความผิดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำ จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นก็ตาม แต่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่ามีการนำสืบกันมาแล้วในศาลชั้นต้นตามประเด็นแห่งคดี เมื่อได้ความว่า โจทก์จำเลยไม่เคยนำสืบถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ไว้แล้วในศาลชั้นต้น แต่เป็นข้อที่จำเลยพึ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อเท็จจริงก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงนี้ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบ ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2559 ใช้บังคับ โดยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 30 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งมาตรา 30 ที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์