คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2036/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริตโดยหวังผลประโยชน์อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง แสดงว่าจำเลยได้ เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุไม่ไว้วางใจโดยมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริต มิใช่เลิกจ้างเพราะโจทก์กระทำทุจริตโดยตรง จำเลยจึงไม่ต้องนำสืบพยานถึงการกระทำทุจริตโดยตรงของโจทก์ เมื่อฟังได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุไม่ไว้วางใจจึงมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ข้อบังคับของจำเลยกำหนดว่าพนักงานที่ถูก ปลดออกจากงานจะไม่มีสิทธิได้ รับเงินบำเหน็จเพราะมีความผิด เมื่อจำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานเพราะมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริต ไม่ได้ปลดออกเพราะกระทำผิด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ

ย่อยาว

โจกท์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ทำหน้าที่พนักงานขับรถเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงาน โดยอ้างว่าโจทก์ได้ใช้กุญแจไขเครื่องโทรศัพท์สาธารณะโดยมิได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องและมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริตอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับจำเลย โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดดังกล่าว การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างเดิม หรือจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ค่าชดเชย ๔๑,๒๒๐ บาทเงินบำเหน็จ ๖๘,๗๐๐ บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยปลดโจทก์ออกจากงานเนื่องจากโจทก์ใช้กุยแจไขเครื่องโทรศัพท์สาธารณะบริเวณถนนรามคำแหงโดยไม่มีหน้าที่ มีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริตโดยหวังผลประโยชน์อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า พยานจำเลยไม่เพียงพอที่จะฟังว่าการกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงจึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถ อัตราค่าจ้างเท่าเดิม คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยได้ให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์เป็นพนักงานขับรถโจทก์ได้ไขเครื่องโทรศัพท์สาธารณะบริเวณถนนรามคำแหงโดยไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง มีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริตโดยหวังผลประโยชน์อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว แสดงว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุไม่ไว้วางใจโดยมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริต หาได้เลิกจ้างเพราะโจทก์นำเอากุญแจไปไขเครื่องโทรศัพท์สาธารณะด้วยตนเองหรือนำเอากระดาษเข้าไปรองรับเหรียญจากเครื่องโทรศัพท์สาธารณะอันเป็นการกระทำทุจริตโดยตรงไม่ จำเลยจึงไม่ต้องนำสืบถึงการกระทำทุจริตโดยตรงของโจทก์ และการเลิกจ้างเพราะเหตุดังกล่าวซึ่งรับฟังได้ว่าเป็นความจริง หาใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไม่ และข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ. ๒๕๓๒ ข้อ ๘(๑)กำหนดว่า พนักงานของจำเลยที่ถูกปลดออกจากงานจะไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเมื่อถูกปลดออกเพราะมีความผิด เมื่อจำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานเพราะมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริตไม่ได้ปลดออกเพราะกระทำผิด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๓๙,๔๒๐ บาทและเงินบำเหน็จจำนวน ๖๕,๗๐๐ บาทแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์ให้ยก.

Share