คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2438/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนต่อหลักฐานในสำนวน เป็นปัญหาข้อกฎหมาย
จำเลยสลักหลังเช็คของผู้อื่นมอบให้โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ ต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยจึงทำหนังสือมอบอำนาจโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีอยู่ต่อผู้อื่นให้โจทก์เพื่อไปรับชำระหนี้ดังกล่าว ดังนี้ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซื้อสินค้าไปจากโจทก์และค้างชำระราคาอยู่ 40,000 บาท ต่อมาจำเลยรับสภาพหนี้โดยมอบอำนาจให้โจทก์ไปรับเงินค่าจ้างแรงงานที่บริษัทไทยวิศวกรรมเป็นหนี้จำเลยเป็นเงิน 40,000 บาทแทนจำเลย แต่บริษัทไทยวิศวกรรมปฏิเสธไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยใช้หนี้จำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 40,000 บาทจริง จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์โดยสลักหลังเช็คของนายนิพนธ์มอบให้โจทก์ ต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยจึงมอบอำนาจให้โจทก์ไปรับเงินจำนวนดังกล่าวจากบริษัทไทยวิศวกรรม แต่รับเงินไม่ได้โจทก์จึงนำเช็คดังกล่าวมารับเงินสด 40,000 บาทจากจำเลยไปแล้ว จึงไม่มีหนี้ต่อกัน หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้ คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องให้โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองฟังเป็นยุติว่าจำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์หลายครั้ง และได้ชำระเงินบางส่วนไปแล้ว คงค้างชำระเงินอยู่อีก 40,000 บาท และจำเลยยังมิได้ชำระเงินจำนวนนี้แก่โจทก์ คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 6 ที่จำเลยคัดค้านมาในฎีกาข้อ 1 ว่า ศาลอุทธรณ์อ้างว่าจำเลยมิได้ส่งเอกสารไว้ในคดีประกอบข้ออ้างว่าโจทก์ได้คืนเช็คซึ่งนายนิพนธ์สั่งจ่ายจำนวน 40,000 บาท แต่จำเลยได้ส่งเอกสารคือเช็คหมาย ล.1 ต่อศาลไว้แล้ว จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนต่อหลักฐานในสำนวนนั้น เห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่าจำเลยยังมิได้ชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง ก็โดยวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนแล้ว ฉะนั้น จำเลยจะส่งเอกสารประกอบข้ออ้างของจำเลยหรือไม่ก็หาทำให้การวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ส่วนฎีกาจำเลยข้อ 2 มีปัญหาว่าหนังสือมอบอำนาจ ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2520 เป็นหนังสือรับสภาพหนี้หรือไม่นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การรับสภาพหนี้นั้นกฎหมายมิได้บัญญัติรูปแบบไว้แต่อย่างใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 ตอนท้ายบัญญัติว่า ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันปราศจากเคลือบแคลงสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องนั้นก็ใช้ได้คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้สลักหลังเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสุขสวัสดิ์หมายเลขที่ 823967 ซึ่งนายนิพนธ์เป็นผู้สั่งจ่ายให้จำเลย จำนวนเงิน 40,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 ชำระหนี้โจทก์ แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยจึงทำหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2520 ให้โจทก์ไปรับเงินจำนวน 40,000 บาทจากบริษัทไทยวิศวกรรม จำกัด ซึ่งค้างชำระค่าแรงเจาะบ่อบาดาล ตามเอกสารหมาย จ.1 เมื่อพิจารณาข้อความในเอกสารหมาย จ.1 ประกอบกับเช็คหมาย ล.1 แล้ว เห็นได้ว่าเอกสารหมาย จ.1 เป็นหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อบริษัทไทยวิศวกรรม จำกัด ให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้รายพิพาท ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าเอกสารหมาย จ.1 เป็นหนังสือรับสภาพหนี้ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เอกสารดังกล่าวหาใช่ใบมอบอำนาจดังที่จำเลยอ้างไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share