คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1596/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ไม้ยางไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักร ย่อมเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. แม้จะเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในที่ดินของจำเลย การทำไม้ยางก็ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น
การแปรรูปไม้และมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองไม่ว่าไม้นั้นจะขึ้นอยู่ในที่ใดถ้าได้กระทำในเขตควบคุมการแปรรูปไม้จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
พระราชบัญญัติป่าไม้ฉบับหลังที่ให้ยกเลิกข้อความมาตรา ใดใน พระราชบัญญัติฉบับเดิมและให้ใช้ข้อความใหม่แทนนั้น ไม่ใช่ เป็นการยกเลิกกฎหมาย แต่เป็นการแก้ไขแม้ศาลจะมิได้ กล่าวถึงพระราชบัญญัติฉบับหลังที่ให้แก้ไขมาตราดังกล่าว ก็ต้องบังคับตามข้อความที่แก้ไขใหม่นั้น
การตัดฟันทำไม้ แปรรูปไม้และมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง แม้ เป็นการกระทำแก่ไม้ต้นเดียวกันแต่เป็นการกระทำต่างกรรม ต่างวาระจึงเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน
การที่ศาลเรียงกระทงลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทงเป็นเวลา 3 ปีนั้น เมื่อโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 2 ปี ศาลก็รอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฐานตัดฟันทำไม้ยางอันเป็นไม้หวงห้าม มีไม้หวงห้ามที่ยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองแปรรูปไม้และมีไม้แปรรูปอันเป็นไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 11,48, 69, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา ฯลฯ

จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสี่มีความผิดตามฟ้อง ให้เรียงกระทงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่ฐานทำไม้ และฐานแปรรูปไม้ และฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต กระทงละ 2 ปี รวม 3 กระทง เป็นโทษจำคุกคนละ 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้จำเลยคนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยคนละ 3 ปี ของกลางริบ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง

จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสี่ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามฟ้อง เพราะไม้ยางนั้นเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในนาของจำเลยที่ 1เห็นว่าไม้ยางไม่ว่าจะขึ้นอยู่ในที่ใดในราชอาณาจักร ย่อมเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ทั้งสิ้น ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494 มาตรา 4 พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 5 และพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2518 มาตรา 7 การทำไม้ยางไม่ว่าจะเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในที่ใด จึงต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น ตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 11 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494มาตรา 6 ส่วนการแปรรูปไม้และมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองนั้น ไม่ว่าไม้นั้นจะขึ้นอยู่ในที่ใด ถ้าได้กระทำในเขตควบคุมการแปรรูปไม้จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 116 ลงวันที่ 10เมษายน พ.ศ. 2515 ข้อ 4 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 19 การกระทำของจำเลยดังกล่าวแล้วจึงเป็นความผิดตามฟ้อง

จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 11, 48, 73 ไม่ชอบ เพราะมาตราดังกล่าวถูกยกเลิกแล้ว และอย่างไรก็ตามศาลอุทธรณ์ก็จะยกพระราชบัญญัติป่าไม้ที่แก้ไขใหม่มีโทษหนักกว่าเดิมขึ้นปรับบทลงโทษจำเลยไม่ได้ เพราะโจทก์มิได้อุทธรณ์ในข้อนี้เห็นว่าพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 11, 48, 73 ซึ่งศาลชั้นต้นยกขึ้นปรับบทลงโทษจำเลยนั้น แม้จะมีพระราชบัญญัติให้ยกเลิก ข้อความเดิมก็มิได้ยกเลิกไปเลย แต่ให้ใช้ข้อความใหม่แทน วิธีการเช่นนี้เห็นว่ามิใช่เป็นการยกเลิกกฎหมาย แต่เป็นการแก้ไข กฎหมายมาตราดังกล่าวจึงยังใช้บังคับอยู่ตามข้อความที่แก้ไขใหม่ แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้กล่าวถึงพระราชบัญญัติที่ให้แก้ไขมาตราดังกล่าว ก็ต้องบังคับตามข้อความที่แก้ไขใหม่นั้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงชอบแล้วหาเป็นการนำกฎหมายที่ยกเลิกแล้วมาใช้บังคับไม่ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ยกพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 7 ขึ้นกล่าวในคำพิพากษานั้นเป็นเพียงการยกอัตราโทษขึ้นประกอบการวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นกำหนดโทษของจำเลยเหมาะสมแล้ว มิใช่เป็นการยกพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นปรับบทลงโทษจำเลย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในเรื่องนี้ชอบแล้ว

จำเลยฎีกาว่าการตัดฟันทำไม้ แปรรูปไม้และมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองเป็นการกระทำแก่ไม้ต้นเดียวกัน กระทำต่อเนื่องกัน และเพื่อวัตถุประสงค์อันเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว เห็นว่าแม้จะเป็นดังจำเลยฎีกา แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ จึงเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน หาใช่กรรมเดียวไม่

ด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยมาแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้วฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น แต่เห็นว่าไม้อันเป็นวัตถุแห่งการกระทำผิดนั้นเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในนาของจำเลยที่ 1 มิใช่ไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่า และมีจำนวนเล็กน้อยเพียงต้นเดียว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการดังกล่าวเพื่อการค้าตามพฤติการณ์และเหตุผลแห่งรูปคดีเห็นควรรอการลงโทษจำเลย และคดีสำนวนนี้แม้ศาลจะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยคนละ 3 ปี ก็เป็นการเรียงกระทงลงโทษกระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง เมื่อโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 2 ปี ก็ไม่ต้องห้ามมิให้ศาลรอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยทั้งสี่มีกำหนดคนละ 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share