แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนต่อหลักฐานในสำนวน เป็นปัญหาข้อกฎหมาย
จำเลยสลักหลังเช็คของผู้อื่นมอบให้โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ ต่อมาธนาคารปฏิเสธว่าจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยจึงทำหนังสือมอบอำนาจโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อผู้อื่นให้โจทก์เพื่อไปรับชำระหนี้ดังกล่าว ดังนี้ ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซื้อสินค้าไปจากโจทก์และค้างชำระราคาอยู่ ๔๐,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยรับสภาพหนี้โดยมอบอำนาจให้โจทก์ไปรับเงินค่าจ้างแรงงานที่บริษัทไทยวิศวกรรมเป็นหนี้จำเลยเป็นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาทแทนจำเลย แต่บริษัทไทยวิศวกรรมปฏิเสธไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยใช้หนี้จำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ ๔๐,๐๐๐ บาทจริง จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์โดยสลักหลังเช็คของนายนิพนธ์มอบให้โจทก์ ต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยจึงมอบอำนาจให้โจทก์ไรับเงินจำนวนดังกล่าวจากบริษัทไทยวิศวกรรม แต่รับเงินไม่ได้โจทก์จึงนำเช็คดังกล่าวมารับเงินสด ๔๐,๐๐๐ บาทจากจำเลยไปแล้ว จึงไม่มีหนี้ต่อกัน หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้ คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องให้โจทก์
จำเลยทั้งสองขออุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองฟังเป็นยุติว่าจำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์หลายครั้ง และได้ชำระเงินบางส่วนไปแล้ว คงค้างชำระเงินอยู่อีก ๔๐,๐๐๐ บาท และจำเลยยังมิได้ชำระเงินจำนวนนี้แก่โจทก์ คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖ ที่จำเลยคัดค้านมาในฎีกาข้อ ๑ ว่า ศาลอุทธรณ์อ้างว่าจำเลยมิได้ส่งเอกสารไว้ในคดีประกอบข้ออ้างว่าโจทก์ได้คืนเช็คซึ่งนายนิพนธ์สั่งจ่ายจำนวน ๔๐,๐๐๐ บาท แต่จำเลยได้ส่งเอกสารคือเช็คหมาย ล.๑ ต่อศาลไว้แล้ว จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนต่อหลักฐานในสำนวนนั้น เห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่าจำเลยยังมิได้ชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง ก็โดยวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนแล้ว ฉะนั้น จำเลยจะส่งเอกสารประกอบข้ออ้างของจำเลยหรือไม่ก็หาทำให้การวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาจำเลยข้อ ๒ มีปัญหาว่าหนังสือมอบอำนาจ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๐ เป็นหนังสือรับสภาพหนี้หรือไม่นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การรับสภาพหนี้นั้นกฎหมายมิได้บัญญัติรูปแบบไว้แต่อย่างใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๒ ตอนท้ายบัญญัติว่า ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันปราศจากเคลือบแคลงสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องนั้นก็ใช้ได้คดีนี้เท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้สลักหลังเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสุขสวัสดิ์ หมายเลขที่ ๘๒๓๙๖๗ ซึ่งนายนิพนธ์เป็นผู้สั่งจ่ายให้จำเลย จำนวนเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย ล.๑ ชำระหนี้โจทก์ แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยจึงทำหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๐ ให้โจทก์ไปรับเงินจำนวน ๔๐,๐๐๐ บาทจากบริษัทไทยวิศวกรรม จำกัด ซึ่งค้างชำระค่าแรงเจาะบ่อบาดาล ตามเอกสารหมาย จ.๑ เมื่อพิจารณาข้อความในเอกสารหมาย จ. ๑ ประกอบกับเช็คหมาย ล.๑ แล้ว เห็นได้ว่าเอกสารหมาย จ.๑ เป็นหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อบริษัทไทยวิศวกรรม จำกัด ให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้รายพิพาท ดังนี้ ย่อมถือว่าได้เอกสารหมาย จ.๑ เป็นหนังสือรับสภาพหนี้ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๖ เอกสารดังกล่าวหาใช่ใบมอบอำนาจดังที่จำเลยอ้างไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน