คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2437/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมมีมติให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ของโจทก์ร่วม เป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ร่วมโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ซึ่งรวมเงิน 502,190 บาท ที่เป็นเงินของเดือนมกราคม 2556 ด้วย จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ส่วนการที่ประธานโจทก์ร่วมแจ้งต่อที่ประชุมว่าตรวจสอบพบจำเลยทั้งสองทุจริตยักยอกเงินนับจากเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 เป็นเงิน 3,686,160 บาท เป็นเพียงข้อมูลเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุที่ประธานแจ้งที่ประชุมไม่ครบถ้วนเท่านั้น เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แม้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดเป็นเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 โดยไม่ได้แจ้งถึงเดือนมกราคม 2556 ด้วยก็เป็นความคลาดเคลื่อนของพนักงานสอบสวนในการตรวจสอบและแจ้งข้อเท็จจริงแก่ผู้ต้องหา แต่หาได้มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของโจทก์ร่วมที่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกไม่ การดำเนินการของโจทก์ร่วมเป็นการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท ประจำเดือนมกราคม 2556 โดยชอบแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 352 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงิน 2,786,160 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ แต่โต้แย้งว่ายักยอกเงินไปเพียง 900,000 บาท และได้ใช้คืนผู้เสียหายแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 แก้ไขคำให้การว่า ไม่ได้ยักยอกเงินของผู้เสียหายในเดือนมกราคม 2556 ตามฟ้อง ส่วนฟ้องอีกสี่กระทงนั้นจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินไปบางส่วนจำนวน 250,000 บาท 120,000 บาท 200,000 บาท และ 330,000 บาท รวมเป็นเงิน 900,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้คืนแก่ผู้เสียหายครบถ้วนแล้ว
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ฯ สารวัตรฯ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจังหวัดอุดรธานี ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 2,786,160 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2556 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินโจทก์ร่วมไปเพียง 900,000 บาท และได้ชดใช้คืนแก่โจทก์ร่วมครบถ้วนแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดในส่วนที่เหลือ
จำเลยที่ 2 ให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยทั้งสองกระทงละ 1 ปี รวม 5 กระทง จำคุกคนละ 5 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ 4 กระทง เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 24 เดือน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 2,786,160 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 ธันวาคม 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดรวม 4 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 4 ปี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 24 เดือน ให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 2,283,970 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 ธันวาคม 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่า โจทก์ร่วมจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ร่วม โดยจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่การเงินตั้งแต่ปี 2538 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่บัญชีตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่รับเงินประเภทต่าง ๆ จากแกนนำคือสมาชิกที่เป็นตัวแทนของโจทก์ร่วมประจำแต่ละหมู่บ้านซึ่งจะเป็นผู้เก็บเงินจากสมาชิกนำส่งให้โจทก์ร่วม ส่วนจำเลยที่ 2 มีหน้าที่รับเงินค่าสมัครสมาชิกกับบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนสมาชิกและจำนวนเงินที่รับจากสมาชิกลงในเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วนำข้อมูลเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของโจทก์ร่วม ต่อมาโจทก์ร่วมมีปัญหาเนื่องจากเงินในบัญชีค่าศพรายเดือนไม่พอชำระเงินสงเคราะห์กรณีสมาชิกเสียชีวิต จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบ โดยให้นายนวปฎลซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมาตรวจสอบพบว่า ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2556 เงินค่าสงเคราะห์ศพประจำแต่ละเดือนกับเงินค่าบำรุงสมาคมขาดหายไปรวมทั้งสิ้น 3,686,160 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 นำเงินใช้คืนแก่โจทก์ร่วม 900,000 บาท เดือนมิถุนายน 2556 โจทก์ร่วมสั่งพักงานจำเลยที่ 1 ต่อมา 1 เดือน สั่งพักงานจำเลยที่ 2 แล้วแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ร่วมประการแรกว่า ข้อหายักยอกเงินสงเคราะห์ศพสมาชิก 502,190 บาท ที่จำเลยทั้งสองรับจากสมาชิกประจำเดือนมกราคม 2556 โจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์โดยชอบแล้วหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของโจทก์ร่วมมีมติให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ของโจทก์ร่วม ตามรายงานการประชุม และโจทก์ร่วมมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจ เห็นว่า ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการของโจทก์ร่วมที่ให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ตามรายงานการประชุมและหนังสือของโจทก์ร่วมที่แจ้งมติของโจทก์ร่วมต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ร่วมโดยชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์ร่วมได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ของโจทก์ร่วมซึ่งรวมเงิน 502,190 บาท ที่เป็นเงินสงเคราะห์ศพสมาชิกที่สมาชิกชำระให้แก่โจทก์ร่วมประจำเดือนมกราคม 2556 ด้วย จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (7) แล้ว ส่วนรายงานการประชุมที่ประธานคณะกรรมการของโจทก์ร่วมแจ้งต่อที่ประชุมว่าตรวจสอบพบว่าจำเลยทั้งสองทุจริตยักยอกเงินนับจากเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 เป็นเงิน 3,686,160 บาท นั้นก็เป็นเพียงข้อมูลเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุที่ประธานแจ้งข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนต่อที่ประชุมเท่านั้น เมื่อที่ประชุมมีมติให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองที่ยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ของโจทก์ร่วม ส่วนรายละเอียดว่าเงินสงเคราะห์ศพสมาชิก 3,686,160 บาท ที่จำเลยทั้งสองยักยอกนั้น เป็นเงินที่สมาชิกชำระให้แก่โจทก์ร่วมประจำเดือนใด เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แม้ตามบันทึกการเข้ามอบตัวและการแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งสอง พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดเป็นเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 โดยไม่ได้แจ้งถึงเดือนมกราคม 2556 ด้วยตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยก็เป็นความคลาดเคลื่อนของพนักงานสอบสวนในการตรวจสอบและแจ้งข้อเท็จจริงแก่ผู้ต้องหา แต่หาได้มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของโจทก์ร่วมที่จะประสงค์ให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกไม่ การดำเนินการของโจทก์ร่วมดังกล่าวเป็นการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในข้อหายักยอกเงินสงเคราะห์ศพสมาชิก 502,190 บาท ที่จำเลยทั้งสองรับจากสมาชิกประจำเดือนมกราคม 2556 โดยชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมมิได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีเกี่ยวกับเงิน 502,190 บาท นั้นไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ร่วมในข้อนี้ฟังขึ้น พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องข้อหายักยอกเงินสงเคราะห์ศพสมาชิก 502,190 บาท ที่จำเลยทั้งสองรับจากสมาชิกประจำเดือนมกราคม 2556 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานยักยอกอีกกระทงหนึ่ง รวมเป็นความผิดฐานยักยอก 5 กระทง
ปัญหาประการต่อไปต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า การกระทำความผิดในข้อหายักยอกเป็นข้อเท็จจริงที่รู้เฉพาะผู้กระทำความผิด เป็นการยากที่โจทก์และโจทก์ร่วมจะหาประจักษ์พยานที่รู้เห็นมานำสืบได้ จึงต้องอาศัยถ้อยคำของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน พยานแวดล้อมกรณี ตลอดจนพิรุธแห่งการกระทำเป็นเครื่องชี้เจตนา โจทก์มีบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพโดยมีรายละเอียด โดยมีร้อยตำรวจโทกฤติเดช พนักงานสอบสวนเบิกความรับรองบันทึกคำให้การและในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 ก็เบิกความสอดคล้องกับคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าว จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ให้การในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจตามความเป็นจริง แม้คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นคำให้การซัดทอด แต่ถ้อยคำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการให้ข้อเท็จจริงในรายละเอียดที่เกิดขึ้น มิใช่คำให้การซัดทอดเพื่อให้ตนเองพ้นความผิด ทั้งพยานโจทก์มิได้มีแต่เพียงคำให้การของจำเลยที่ 1 เท่านั้น แต่พยานโจทก์ยังมีนายบุญเลิศ ตัวแทนของโจทก์ร่วม เบิกความว่าจำเลยทั้งสองได้มาพบที่บ้าน ขอร้องให้ทำลายใบเสร็จรับเงินหรือแจ้งแก่โจทก์ร่วมว่าใบเสร็จสูญหาย หากไม่เช่นนั้นจำเลยทั้งสองจะไม่ได้ทำงานต่อไป และได้ความจากนายบุญชูและนายอัมพร กรรมการตรวจสอบและติดตามหนี้สินของโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 1 รับว่ายักยอกเงินไปจริง โดยร่วมกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 พูดให้จำเลยที่ 1 รับไปก่อน แล้วจำเลยที่ 2 จะช่วยในภายหลัง พยานโจทก์ทั้งสามไม่มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดี ไม่มีข้อให้ระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสามจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 พยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวจึงเป็นพยานแวดล้อมหลังเกิดเหตุ และเป็นพยานประกอบอื่นที่สนับสนุนให้คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ เมื่อคำนึงถึงสภาพ ลักษณะ และแหล่งที่มาของคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และข้อเท็จจริงแวดล้อมดังกล่าวข้างต้นแล้ว เชื่อว่าคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 สามารถใช้พิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 และมาตรา 227/1 แม้คำให้การซัดทอดของจำเลยที่ 1 ไม่มีรายละเอียดว่า จำเลยที่ 2 รับเงินแต่ละครั้งจำนวนเท่าใดและรับเงินไปกี่ครั้งดังที่จำเลยที่ 2 แก้ฎีกา แต่หากจำเลยที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมใบเสร็จรับเงิน ไม่ให้ใบเสร็จรับเงินเล่มที่ 2 แก่จำเลยที่ 1 เพื่อใช้ออกใบเสร็จรับเงินแล้วไม่นำส่งเป็นรายได้ของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจยักยอกเงินของโจทก์ร่วมไปได้ การที่จำเลยที่ 2 มอบใบเสร็จรับเงินเล่มที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำจนเป็นเหตุให้มีการยักยอกเงินตามฟ้อง ตามพฤติการณ์แห่งคดีเพียงพอให้ฟังได้แล้วว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นและร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาชอบด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาจำเลยที่ 1 ว่า มีเหตุลงโทษจำเลยที่ 1 สถานเบาหรือรอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี เป็นการปราณีจำเลยที่ 1 มากอยู่แล้ว จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่การเงินของโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ที่สมาชิกทั้งมวลเป็นชาวบ้านในท้องถิ่นส่งเงินเพื่อสงเคราะห์ศพในการจัดการตามประเพณี และช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รอบคอบ เพื่อรักษาประโยชน์ของส่วนรวม แต่กลับมายักยอกเงินดังกล่าวหลายครั้งเป็นเงินจำนวนมาก ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ชุมชน ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ร้ายแรง ไม่มีเหตุที่จะปราณีรอการลงโทษ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share