คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2437/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า มูลคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4 หมายถึงต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง แต่ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิไล่เบี้ยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 31วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ. 2535 อันเนื่องมาแต่มูลเหตุละเมิดที่ละเมิดที่จำเลยได้ก่อขึ้นเท่านั้น การที่กรมการประกันภัยโจทก์ซึ่งได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นดังกล่าวที่สำนักงานคุ้มครองผู้เอาประกันภัยซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำนาจศาลแขวงพระโขนงซึ่งเป็นศาลชั้นต้น จึงมิใช่ต้นเหตุพิพาทอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิต่อโจทก์ คงเป็นเพียงสิทธิที่โจทก์จะใช้สิทธิไล่เบี้ยตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น มูลคดีจึงมิได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลแขวงพระโขนง โจทก์จะเสนอคำฟ้องของตนต่อศาลแขวงพระโขนงหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2537 เวลากลางวันจำเลยขับรถจักรยานยนต์ชนนายประยูร คุ้มเดช ขณะกำลังข้ามถนนโดยความประมาทของจำเลย เป็นเหตุให้นายประยูรได้รับอันตรายแก่กายต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2538 นายประยูร ได้ยื่นคำร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นต่อสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของโจทก์ และได้รับอนุมัติจ่ายเงินจำนวน9,431 บาท ให้แก่นายประยูร นายประยูรรับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2538 โจทก์จึงรับช่วงสิทธิจากนายประยูรและทวงถามให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 9,431 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2538 อันเป็นวันที่ครบกำหนดทวงถามจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้น (ศาลแขวงพระโขนง) ตรวจคำฟ้องแล้ว เห็นว่าไม่ปรากฎว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลและมูลคดีก็ไม่ได้เกิดขึ้นในเขตศาล คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล มีคำสั่งไม่รับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์แต่เพียงว่า โจทก์ชอบที่จะเสนอคำฟ้องของตนต่อศาลแขวงพระโขนงหรือไม่ ซึ่งโจทก์ฎีกาว่า โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่นายประยูร ที่สำนักงานคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเขต 1 ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำนาจศาลแขวงพระโขนง สิทธิไล่เบี้ยของโจทก์จึงเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535มาตรา 31 อันอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงพระโขนง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลแขวงพระโขนงนั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 บัญญัติว่า”เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น (1) คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มีมูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่” คำว่ามูลคดี หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง แต่ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิไล่เบี้ยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 31 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสพภัยจากรถ พ.ศ. 2535 อันเนื่องมาแต่มูลเหตุละเมิดที่จำเลยได้ก่อขึ้นเท่านั้น การจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นดังกล่าวจึงมิใช่ต้นเหตุพิพาทอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิต่อโจทก์คงเป็นเพียงสิทธิที่โจทก์จะใช้สิทธิไล่เบี้ยตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น มูลคดีจึงมิได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลแขวงพระโขนงโจทก์จะเสนอคำฟ้องของตนต่อศาลแขวงพระโขนงหาได้ไม่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share