คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2434/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกของกลางมีน้ำหนักบรรทุกทั้งน้ำหนักรถเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ถึง 10,850 กิโลกรัม โดยไม่นำพาว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงเพียงใดต่อสภาพทางหลวงแผ่นดินซึ่งเป็นสมบัติส่วนรวมและมีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสาธารณชนทำให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาต้องเสี่ยงต่ออันตรายจากสภาพถนนที่ง่ายต่อการเกิดอุบัติเหตุและอันตรายที่เกิดจากสภาพของรถยนต์ที่มีน้ำหนักบรรทุกเป็นจำนวนมากจนเกินกว่าที่ผู้ขับขี่จะควบคุมให้แล่นไปได้อย่างปลอดภัย เมื่อจำเลยใช้รถยนต์บรรทุกของกลางโดยมุ่งแต่ประโยชน์สูงสุดในทางเศรษฐกิจของตนเพียงอย่างเดียว ไม่สนใจว่าจะก่อผลกระทบที่เสียหายต่อสังคมอย่างไร ดังนั้น รถยนต์บรรทุกและรถพ่วงของกลางซึ่งใช้ในการกระทำความผิดจึงเป็นทรัพย์ที่สมควรต้องริบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวงพ.ศ. 2535 มาตรา 61, 73 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33ริบรถยนต์ของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61, 73 จำคุก 2 เดือน และปรับ 6,000บาท จำเลยให้การรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐาน จึงไม่ลดโทษให้พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 แต่กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง ภายในกำหนด เวลา 1 ปี และให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ที่โจทก์ขอให้ริบของกลางนั้น ศาลเห็นสมควรไม่ริบ จึงให้ยกคำขอส่วนนี้ของโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบของกลาง โดยอัยการพิเศษประจำเขต 2ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบรถยนต์ของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกของกลางมีน้ำหนักบรรทุกรวมทั้งน้ำหนักรถเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ถึง 10,850 กิโลกรัมโดยไม่นำพาว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงเพียงใดต่อสภาพทางหลวงแผ่นดิน ซึ่งเป็นสมบัติส่วนรวมและมีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสาธารณชน การกระทำดังกล่าวของจำเลยนั้นทำให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาต้องเสี่ยงต่ออันตรายจากสภาพถนนที่ง่ายต่อการเกิดอุบัติเหตุและอันตรายที่เกิดจากสภาพของรถยนต์ที่มีน้ำหนักบรรทุกเป็นจำนวนมากจนเกินกว่าที่ผู้ขับขี่จะควบคุมให้แล่นไปได้อย่างปลอดภัย เมื่อจำเลยใช้รถยนต์บรรทุกของกลางในการกระทำความผิดโดยมุ่งแต่ประโยชน์สูงสุดในทางเศรษฐกิจของตนเพียงอย่างเดียวไม่สนใจว่าจะก่อผลกระทบที่เสียหายต่อสังคมอย่างไร ดังนั้นรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงของกลางซึ่งใช้ในการกระทำความผิด จึงเป็นทรัพย์ที่สมควรต้องริบ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจริบรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 81-0862 กำแพงเพชร และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 81-0515 กำแพงเพชร ของกลาง จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share