แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การยกข้อกฎหมายขึ้นมาปรับบทนั้นจะต้องปรับบทกฎหมายตามข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติโดยข้อเท็จจริงนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบซึ่งได้วินิจฉัยแล้วตามประเด็นหรือเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความยอมรับคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ผิดนัดนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระถึงวันที่ชำระเงินอัตราร้อยละสิบสองต่อปีตามสัญญาและค่าน้ำประปาค่าไฟฟ้าที่โจทก์จ่ายแทนไปจำเลยที่1ให้การว่าจำเลยที่1ได้ชำระราคาส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยที่โจทก์อ้างว่าเป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นที่เรียบร้อยแล้วไม่ได้ค้างชำระค่าน้ำประปาค่าไฟฟ้าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อ4ว่าจำเลยที่1เป็นฝ่ายผิดนัดชำระราคาส่วนที่เหลือตามฟ้องหรือไม่และจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใดดังนั้นที่ว่าจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่คือต้องรับผิดตามสัญญาตามฟ้องนั่นเองหากไม่ต้องรับผิดด้วยเหตุที่โจทก์มิได้บอกสงวนสิทธิว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับจากจำเลยทั้งสองด้วยในเวลาที่โจทก์รับชำระหนี้จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยทั้งสองก็เป็นข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ได้บอกสงวนสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับจากจำเลยทั้งสองในเวลาที่โจทก์รับชำระหนี้หรือไม่อันเป็นอีกประเด็นหนึ่งต่างหากจึงจะปรับบทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา381ได้โดยจำเลยต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ว่าโจทก์มิได้สงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากจำเลยทั้งสองในเวลาที่โจทก์รับชำระหนี้แต่จำเลยทั้งสองมิได้ให้การแก้คดีในข้อหาดังกล่าวไว้คดีจึงไม่มีประเด็นดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จำเลยยังไม่ได้ชำระค่าดอกเบี้ยในส่วนที่ผิดนัดชำระราคาห้องชุดที่เหลือโดยโจทก์แจ้งให้จำเลยชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแต่จำเลยไม่ชำระจึงได้เชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยที่2เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่1ในการทำสัญญาซื้อขายห้องชุดจำเลยที่2จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่1นั้นปัญหานี้จำเลยที่2ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่2เป็นตัวแทนจำเลยที่1ในการทำสัญญาซื้อขายห้องชุดจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยที่2เป็นคนต่างด้าวไม่มีสิทธิซื้อห้องชุดนั้นปัญหานี้จำเลยที่2ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การเช่นกันฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แม้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจำเลยทั้งสองซื้อห้องชุดของอาคารชุดชิดลมเพลส เลขที่ 6 ถนนชิดลมแขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร จากโจทก์โดยเมื่อวันที่8 พฤษภาคม 2530 ซื้อห้องชุดเลขที่ 14 ปี (6/29) ชั้นที่ 14ในราคา 2,717,000 บาท วันที่ 13 มกราคม 2531 ซื้อห้องชุดเลขที่16 บี (6/31) ชั้นที่ 16 ในราคา 5,994,000 บาท จำเลยที่ 2ลงชื่อเป็นผู้ซื้อมีเงื่อนไขชำระราคาเป็นงวด ๆ และราคาที่เหลือจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดซึ่งคู่สัญญาจะกำหนดวันโดยเร็วที่สุดในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ที่ได้จดทะเบียนอาคารชุดเป็นนิติบุคคลอาคารชุดเรียบร้อยแล้ว ต่อมาโจทก์จดทะเบียนอาคารชุดเป็นนิติบุคคลเรียบร้อยในวันที่ 9กุมภาพันธ์ 2531 วันสุดท้ายที่จำเลยทั้งสองต้องชำระราคาส่วนที่เหลือสำหรับห้องชุดเลขที่ 14 บี จำนวน 10,173,600 บาท และห้องชุดเลขที่ 16 บี จำนวน 5,900,000 บาท พร้อมกับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จึงเป็นวันที่ 11 มีนาคม 2531 แต่จำเลยทั้งสองชำระราคาและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 17 ตุลาคม 2531 เป็นการล่าช้า ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ผิดนัดนับแต่วันครบกำหนดชำระ ถึงวันที่ชำระเงินอัตราร้อยละสิบสองต่อปี ตามสัญญารวมเป็นเงิน 348,775 บาท และโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากค่าเสียหายจำนวน 348,775 บาท นับแต่วันที่18 ตุลาคม 2531 ถึงวันฟ้องอีกเป็นเงิน 28,666.44 บาท รวมเป็นเงิน 377,441.44 บาท นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังค้างชำระค่าน้ำประปาค่าไฟฟ้า สำหรับห้องชุดทั้งสองตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2531ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2531 ที่โจทก์ได้ทดรองจ่ายแทนไป รวมเป็นเงิน 5,766.29 บาท อีกด้วย จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยโจทก์ขอคิดนับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2531 เป็นต้นไป ซึ่งคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,898.40 บาท รวมเป็นเงิน 9,664.69 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 348,775 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 28,666.44 บาทรวมเป็นเงิน 377,441.44 บาท ให้ร่วมกันชำระคืนค่าใช้จ่ายจำนวน5,766.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 3,898.40 บาท รวมเป็นเงิน9,664.69 บาท กับให้ร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 354,541.29 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเงินค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายพร้อมดอกเบี้ยเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ผิดนัด เพราะโจทก์เป็นฝ่ายขอผัดผ่อนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เอง เนื่องจากห้องชุดทั้งสองติดภาระจำนองแก่ธนาคารและสถาบันการเงิน โจทก์มิได้ขวนขวายดำเนินการให้ห้องชุดปลอดจำนองเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามกำหนด หากแต่โจทก์เพิ่งกระทำในวันที่17 ตุลาคม 2531 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็ได้ชำระราคาส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยที่โจทก์อ้างว่าเป็นค่าเสียหายไปให้แก่โจทก์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มิฉะนั้นโจทก์จะยอมโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดทั้งสองดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ได้อย่างไร เพราะเป็นการผิดปกติวิสัยตามทางการค้าในธุรกิจของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยหรือชำระเงินใด ๆ ให้แก่โจทก์อีก สำหรับค่าน้ำประปาค่าไฟฟ้า นั้น จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ค้างชำระ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์หรือได้ทำสัญญาตามฟ้องกับโจทก์ จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสอง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย หรือดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 5,766.29 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 22กันยายน 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันชำระเงินค่าเบี้ยปรับจำนวน 348,775 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2531 และร่วมกันชำระเงินที่โจทก์ออกให้จำนวน 5,766.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2530 โจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายห้องชุดเลขที่ 14 บี ของอาคารชุดชิดลมเพลส เลขที่ 6 ถนนชิดลม แขวงลุมพินี เขตปทุมวันกรุงเทพมหานครในราคา 12,717,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5 และวันที่13 มกราคม 2531 โจทก์และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายห้องชุดเลขที่ 16 บี ของอาคารชุดดังกล่าวในราคา 5,994,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.8 มีการชำระราคาห้องชุดทั้งสองไปบางส่วน คงเหลือราคาห้องชุดเลขที่ 14 บี อีก 10,173,680 บาท ส่วนห้องชุดเลขที่6 บี ยังเหลืออยู่ 5,900,000 บาท ซึ่งจะต้องชำระราคาส่วนที่เหลือทั้งหมดในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด ซึ่งคู่สัญญาจะกำหนดวันโดยเร็วที่สุดภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ที่ได้จดทะเบียนอาคารชุดเป็นนิติบุคคลอาคารชุดเรียบร้อยแล้วโจทก์ได้จดทะเบียนอาคารชุดเป็นนิติบุคคลอาคารชุดชิดสมเพลสเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2531 แต่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2531จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นในเรื่องโจทก์บอกสงวนสิทธิในการเรียกเอาเบี้ยปรับจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อ 4 ว่า จำเลยที่ 1เป็นฝ่ายผิดนัดชำระราคาส่วนที่เหลือตามฟ้องหรือไม่ และจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใดนั้นย่อมครอบคลุมถึงเรื่องที่โจทก์มิได้สงวนสิทธิไว้ในเวลาที่รับชำระหนี้ด้วยการแนะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 มาปรับบทนั้นชอบแล้ว เพราะไม่มีกฎหมายห้ามมิให้ยกข้อกฎหมายขึ้นมาวินิจฉัยเห็นว่า การยกข้อกฎหมายขึ้นมาปรับบทนั้น จะต้องปรับบทกฎหมายตามข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติ โดย ข้อเท็จจริงนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบซึ่งได้วินิจฉัยแล้วตามประเด็น หรือเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความยอมรับ คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ผิดนัดนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระถึงวันที่ชำระเงินอัตราร้อยละสิบสองต่อปีตามสัญญา และค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าที่โจทก์จ่ายแทนไป จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระราคาส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยที่โจทก์อ้างว่าเป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ได้ค้างชำระค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อ 4 ว่า จำเลยที่ 1เป็นฝ่ายผิดนัดชำระราคาส่วนที่เหลือตามฟ้องหรือไม่ และจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ดังนั้นที่ว่าจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ คือ ต้องรับผิดตามสัญญาตามฟ้องนั่นเอง หากไม่ต้องรับผิดด้วยเหตุที่โจทก์มิได้บอกสงวนสิทธิว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับจากจำเลยทั้งสองด้วยในเวลาที่โจทก์รับชำระหนี้จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยทั้งสองก็เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า โจทก์ได้บอกสงวนสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับจากจำเลยทั้งสองในราคาที่โจทก์รับชำระหนี้หรือไม่ อันเป็นอีกประเด็นหนึ่งต่างหากจึงจะปรับบทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 381 ได้ โดยจำเลยต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ว่า โจทก์มิได้สงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากจำเลยทั้งสองในเวลาที่โจทก์รับชำระหนี้ แต่จำเลยทั้งสองมิได้ให้การแก้คดีในข้อดังกล่าวไว้คดีจึงไม่มีประเด็นดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183
จำเลยทั้งสองฎีกาในข้อต่อมาว่า จำเลยทั้งสองผิดนัดหรือไม่โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า หากจำเลยทั้งสองค้างชำระ โจทก์จะไม่โอนกรรมสิทธิ์ให้หรือจะเลิกสัญญาริบเงินที่จำเลยชำระมาแล้วและหากจำเลยค้างชำระถึง 348,775 บาท โจทก์ย่อมไม่โอนให้แน่นอนและปรากฏว่าสัญญาซื้อขายห้องชุดที่ทำในวันโอนกรรมสิทธิ์ตามเอกสารหมาย ล.2 ข้อ 3 ระบุชัดเจนว่า ชำระเงินเรียบร้อยแล้ว กับพยานจำเลยเป็นพยานคนกลางจึงน่าเชื่อถือและเข้าข้อสันนิษฐานว่ามีการชำระเงินครบถ้วนแล้ว เห็นว่าการชำระราคาตามสัญญาข้อ 3เอกสารหมาย จ.5 และ จ.8 ระบุว่าการชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่บริษัทจะกระทำในวันทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่ผู้ซื้อต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของกรมที่ดินโดยคู่สัญญาจะได้ตกลงกำหนดวันดังกล่าวโดยเร็วที่สุดภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ที่ได้จดทะเบียนอาคารชุดเป็นนิติบุคคลอาคารชุดเรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว กับกรณีผิดนัดตามสัญญาข้อ 13 ระบุว่า ในกรณีผู้ซื้อผิดนัดชำระราคาตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในข้อ 3 ของสัญญาฉบับนี้ ผู้ซื้อจะต้องรับผิดจ่ายดอกเบี้ยให้แก่บริษัทในอัตราไม่เกินร้อยละสิบแปดต่อปี ในจำนวนเงินที่ผิดนัด โดยคำนวณจากวันถึงกำหนดชำระจนถึงวันที่ได้ชำระเงินดังนั้นจำเลยที่ 2 ได้ชำระราคาห้องชุดทั้งสองให้โจทก์บางส่วนคงเหลือราคาห้องชุดเลขที่ 14 บี อีก 10,173,600 บาท และห้องชุดเลขที่ 6 บี อีก 5,900,000 บาท รวมเป็นเงิน 16,073,600 บาทซึ่งจะต้องชำระในวันที่ทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดและการชำระเงินดังกล่าวได้มีการนัดหมายแจ้งให้จำเลยทราบวันโอนซึ่งโจทก์ได้แจ้งจำนวนเงินที่จะต้องชำระในวันโอนไว้ด้วย ตามเอกสารหมาย จ.20 มียอดเงินค่าห้องชุดคงเหลือ 10,173,600 บาทและ 5,900,000 บาท กับดอกเบี้ยของเงินที่ค้างชำระอีก 348,775 บาทและนายชาญวิทย์ พุ่มโพธิทองสุข เบิกความว่า พยานเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามเอกสารหมาย ล.2 ในวันทำสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 1ชำระราคาส่วนที่เหลือโดยที่สั่งจ่ายเช็คเป็นเงิน 15,900,000บาทเศษ ส่วนราคาซื้อขายตามที่ระบุในเอกสารหมาย ล.2 จำนวน13,380,000 บาท เป็นราคาตามที่เจ้าพนักงานที่ดินประเมินไว้และข้อความที่ระบุว่าชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ความจริงจำเลยทั้งสองยังไม่ได้ชำระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายของห้องชุด โดยจำเลยยอมรับว่าจะชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์หลังโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองห้องแล้ว ดังนั้นตามเอกสารหมาย ล.2 ที่ระบุว่า ตกลงขายห้องชุดเป็นเงิน 13,380,000 บาท จึงไม่ใช่ราคาที่แท้จริง เพราะมีการชำระเงินส่วนที่เหลือ 15,900,000 บาทเศษ ตามคำเบิกความนายชาญวิทย์ซึ่งน่าจะหมายถึงจำนวน 16,073,600 บาท อันเป็นยอดเงินราคาห้องชุดที่เหลือนั่นเอง โจทก์จึงมิได้ฟ้องเรียกในเงินจำนวนนี้ คงเรียกเอาเฉพาะดอกเบี้ยที่ผิดนัดเท่านั้นซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกเอาได้ตามสัญญาข้อ 13 และข้อความที่ว่าชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ตามเอกสารหมาย ล.2 คือ ชำระราคาห้องชุดเรียบร้อยแล้วเท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยที่ผิดนัดโจทก์ได้ยื่นหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบตามเอกสารหมาย จ.19 และ จ.20 แต่จำเลยไม่ชำระ และหลังจากโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่จำเลยแล้วโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยชำระอีกตามเอกสารหมาย จ.26 จำเลยทั้งสองมิได้นำสืบโต้แย้งแต่อย่างใด คงนำสืบเพียงข้อความการชำระเงินตามเอกสารหมาย ล.2 ดังกล่าวแล้ว พยานโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานจำเลยฟังได้ว่า จำเลยยังไม่ได้ชำระค่าดอกเบี้ยในส่วนที่ผิดนัดชำระราคาห้องชุดที่เหลือ โดยโจทก์แจ้งให้จำเลยชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด แต่จำเลยไม่ชำระจึงได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว
ปัญหาสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1หรือไม่ เห็นว่า ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญาซื้อขายห้องชุด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น ปัญหานี้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญาซื้อขายห้องชุดเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและไม่วินิจฉัยให้นั้นชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาอีกว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนต่างด้าวไม่มีสิทธิซื้อห้องชุดนั้น ปัญหานี้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การเช่นกัน ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แม้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรวินิจฉัยให้
พิพากษายืน