คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2434/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 1 คดีสำหรับจำเลยที่ 3 จึงยุติไปแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ด้วย จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ ไม่ชอบด้วย ป.ว.พ. ม.142 และ ม.240 ศาลฎีกาต้องพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 2 ผู้จัดการธนาคารสาขา ได้รับมอบอำนาจจากธนาคารจำเลยที่ 3 ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นทนายความฟ้องโจทก์ให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง ตามหนังสือมอบอำนาจจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจรับเงินในคดีแทนจำเลยที่ 2นอกศาล การที่โจทก์มอบเช็คให้จำเลยที่ 1 ไปจัดการชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 3 เพื่อมิให้ที่ดินของโจทก์ต้องถูกขายทอดตลาดจำเลยที่ 1 ยอมรับเช็คไปดำเนินการตามความประสงค์ของโจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนโดยปริยายของโจทก์แล้วตาม ป.พ.พ ม.797 วรรคสอง หากมีความเสียหายเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แล้ว ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิด เมื่อที่ดินของโจทก์ต้องถูกขายทอดตลาดไปเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 ตำแหน่งผู้จัดการธนาคารสาขา ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 3 ให้ดำเนินกิจการแทนรวมทั้งมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำการแทนด้วย เดิมโจทก์ได้กู้เบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคารจำเลยที่ 3 ในวงเงิน 25,000 บาท ได้นำที่ดิน น.ส.3 สองแปลงจำนองไว้เป็นประกัน ต่อมาจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 เป็นทนายความยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่เรียกเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนอง โจทก์ได้ยอมความตามที่จำเลยที่ 1 เสนอแนะ เมื่อถึงกำหนดชำระเงินตามยอม โจทก์ผิดนัด จำเลยขอบังคับคดียึดทรัพย์ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวออกประกาศขายทอดตลาด โดยกำหนดทำการขายในวันที่ 12 กันยายน 2520 เวลา 10 นาฬิกา ก่อนวันขายทอดตลาด คือในวันที่ 9 เดือนเดียวกันโจทก์ติดต่อสอบถามจำเลยที่ 1 ถึงจำนวนหนี้และขอรับชำระหนี้ทั้งหมดเพื่อให้จำเลยปล่อยทรัพย์ที่ดินที่ยึดไว้และปลดจำนอง จำเลยที่ 1 แจ้งยอดหนี้ทั้งหมดให้โจทก์ทราบและแจ้งว่ามีอำนาจรับชำระหนี้แทนจำเลยที่ 3 เจ้าหนี้ได้ตามหนังสือมอบอำนาจ แล้วจำเลยที่ 1 จะดำเนินการปล่อยที่ดินของโจทก์ให้พ้นจากการขายทอดตลาดถอนการยึดและปลดจำนองให้โดยโจทก์ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับศาล โจทก์จึงได้ชำระหนี้ทั้งหมดให้จำเลยที่ 1 ไปโดยสุจริต โดยชำระเป็นเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด ไปในวันนั้น ครั้นวันที่ 12 กันยายน 2520 ตอนบ่าย โจทก์จึงทราบว่าจำเลยมิได้บอกงดการขายทอดตลาดมิได้ถอนการยึด มิได้ปลดจำนองให้โจทก์ แต่กลับให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดไป การที่ฝ่ายจำเลยได้รับชำระหนี้แล้วแต่ไม่งดการขายทอดตลาดไม่ถอนไม่ปลดจำนอง จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ผู้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดด้วย โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลบังคับ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2520 ตอนบ่าย โจทก์ไปพบจำเลยที่ 1 ที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดเชียงใหม่ และมอบหมายให้จำเลยที่ 1 รับเช็คขีดคร่อมเข้าบัญชีของธนาคารทหารไทย จำกัด สั่งจ่ายเงิน32,760 บาท เพื่อนำไปเบิกเงินแล้วให้จำเลยที่ 1 นำเงินไปชำระให้จำเลยที่ 2ในวันจันทร์ที่ 12 กันยายน 2520 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์นำไปชำระเองเพราะจำเลยที่ 1 ติดว่าความที่ศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่และในวันจันทร์ที่ 12 กันยายน 2520 จำเลยที่ 1 มีนัดคดีสำคัญกับลูกความที่สำนักงานไม่สะดวกที่จะรับมอบอำนาจจากโจทก์นำเงินไปชำระให้จำเลยที่ 2 ที่จังหวัดลำพูน ประกอบกับยังไม่ทราบว่าเช็คจะขึ้นเงินได้หรือไม่ เงินตามเช็คก็มีจำนวนน้อยกว่าหนี้ตามคำพิพากษาให้โจทก์ไปเจรจาตกลงกับจำเลยที่ 2 เองก่อนวันขายทอดตลาด โจทก์รับปาก แต่ขอให้จำเลยที่ 1 รับเช็คไว้ก่อนจำเลยที่ 1 จึงรับเช็คไว้จากโจทก์เพื่อไปขึ้นเงินหาใช่รับไว้เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาแทนจำเลยที่ 2 ไม่ ต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2520 ตอนเช้าจำเลยที่ 1 ไปเบิกเงินตามเช็ค ได้เงินแล้วได้ติดต่อโทรศัพท์ทางไกลเชียงใหม่ – ลำพูนไปยังจำเลยที่ 2 แต่ติดต่อไม่ได้เพราะโทรศัพท์ขัดข้องจึงรีบเดินทางไปจังหวัดลำพูนโดยรถยนต์ แต่เครื่องเสียต้องเสียเวลาซ่อมจึงเดินทางถึงศาลจังหวัดลำพูนเวลา 10 นาฬิกา ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประมูลขายที่ดินของโจทก์ไปแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ไปติดต่อกับจำเลยที่ 2 แต่อย่างใดโจทก์มิได้ดูแลรักษาผลประโยชน์ของตน จำเลยที่ 1 มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์โจทก์ไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่าไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 รับเงินชำระหนี้จากโจทก์ จำเลยที่ 2 มีอำนาจแต่งทนายเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 62 รวมทั้งมีอำนาจและมอบอำนาจให้บุคคลใดให้รับเอกสาร รับเงินค่าฤชาธรรมเนียมหรือเงินอื่นจากศาลหรือจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยที่ 2 จะมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 รับเงินจากโจทก์ไม่ได้ การที่โจทก์มอบเช็คให้จำเลยที่ 1 ไปขึ้นเงินมาชำระหนี้ให้จำเลยที่ 3 และการที่จำเลยที่ 1 รับมอบเช็คจากโจทก์เป็นเรื่องส่วนตัวของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 เพราะจำเลยที่ 1 ทำนอกขอบเขตการมอบอำนาจตามใบมอบอำนาจและทำหน้าที่ด้วยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิมอบอำนาจให้ทนายความหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งรับชำระหนี้แทนธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาลำพูนหรือแทนจำเลยที่ 3 ได้เลย หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข3 นั้น เป็นเรื่องจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการในศาลในชั้นบังคับคดีในศาลเท่านั้นไม่ได้มอบให้จำเลยที่ 1 รับเงินหรือรับชำระหนี้ได้จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจที่จะรับชำระหนี้แทนจำเลยที่ 2 ที่ 3 หากจำเลยที่ 1รับชำระหนี้มาก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 สงเคราะห์โจทก์เป็นการส่วนตัว จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามคำขอท้ายฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันส่งมอบที่ดินตามฟ้องคืนโจทก์โดยปลอดภาระผูกพัน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา

โจทก์ฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 1 โดยขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาที่ดิน

จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด

จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าไม่มีส่วนรู้เห็นเรื่องโจทก์มอบเช็คให้จำเลยที่ 1

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในชั้นอุทธรณ์ปรากฏว่าโจทก์อุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 1โดยขอให้จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวรับผิดตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์เท่านั้น โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์แต่ประการใด คดีสำหรับจำเลยที่ 3จึงยุติไปแล้ว ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ด้วยทั้ง ๆที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142,240 ศาลฎีกาจำต้องพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3

สำหรับปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ฟ้องคดี ได้ระบุให้จำเลยที่ 2มีอำนาจและมอบอำนาจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดรับเงินค่าฤชาธรรมเนียมและเงินอื่น ๆ จากศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือเจ้าพนักงานอื่นได้ด้วยหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว จำเลยที่ 2 จะมอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นรับเงินแทนจำเลยที่ 2 จากศาลหรือจากเจ้าพนักงานได้เท่านั้น จะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นรับเงินแทนจำเลยที่ 2 นอกศาลหรือบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าพนักงานไม่ได้หากกระทำไปก็ต้องถือว่าเป็นการตั้งตัวแทนช่วงโดยมิได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวการ ดังนั้น หนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 2 ที่มอบอำนาจช่วงให้จำเลยที่ 1 โดยระบุให้จำเลยที่ 1 รับเงินที่จำเลย (โจทก์คดีนี้) วางศาลเพื่อชำระหนี้ รับเงินค่าขายทอดตลาดทรัพย์หรือรับเงินอื่นใดแทนจำเลยที่ 2 ได้นั้น จึงหมายถึงให้จำเลยที่ 1 รับเงินในคดีแทนจำเลยที่ 2 จากศาลหรือจากเจ้าพนักงานได้เท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจรับเงินในคดีแทนจำเลยที่ 2 นอกศาล การที่จำเลยที่ 1 รับเงินจากโจทก์นอกศาล จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 3 ได้รับชำระหนี้จากโจทก์ครบถ้วนแล้ว การที่โจทก์มอบเช็คให้จำเลยที่ 1 ไปจัดการชำระหนี้ให้จำเลยที่ 3 เพื่อมิให้ที่ดินของโจทก์ต้องถูกขายทอดตลาดไปและจำเลยที่ 1 ยอมรับเช็คไปดำเนินการ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนโดยปริยายของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 วรรคสอง ดังนั้น หากมีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใด ๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ส่วนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ให้ยกเสียทั้งสิ้น

Share