คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2432/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเช่าจากโจทก์จึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์จำเลยย่อมไม่มีสิทธิครอบครอง โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนด1ปีนับแต่วันที่จำเลยเปลี่ยนเจตนาในการครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกคืนที่ดินพิพาทจากจำเลย พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ.2507มาตรา14บัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองหรืออาศัยอยู่ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติและมาตรา12บัญญัติให้บุคคลผู้อ้างว่ามีสิทธิหรือได้ทำประโยชน์ในป่าสงวนแห่งชาติอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาตินั้นใช้บังคับยื่นคำร้องภายในกำหนด90วันมิฉะนั้นถือว่าสละสิทธิหรือประโยชน์นั้นเป็นเพียงบทบัญญัติที่ใช้บังคับระหว่างรัฐกับราษฎรซึ่งเป็นผลให้ราษฎรไม่อาจอ้างสิทธิใดๆยันต่อรัฐได้แต่ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นราษฎรด้วยกันเมื่อจำเลยรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์แม้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินมือเปล่า เนื้อที่ประมาณ 52 ไร่ โดยโจทก์และสามีซื้อมาจากนายเทิ้ม เมื่อวันที่1 พฤศจิกายน 2525 จำเลยเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวของโจทก์ทำไร่มีกำหนด 3 ปี ครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้ว จำเลยเช่าที่ดินของโจทก์ต่ออีก 3 ปี เมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่า จำเลยก็ออกไปจากที่ดินและส่งมอบที่ดินดังกล่าวคืนให้โจทก์เรียบร้อยแล้ว ต่อมาประมาณเดือนมกราคม 2532 จำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ ว่าจำเลยเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว ขอให้เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ออกแบบแสดงที่ดิน (ภ.บ.ท.5) เพื่อใช้ในการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งความจริงแล้วที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของโจทก์และโจทก์ครอบครองทำประโยชน์มาตลอดจนถึงปัจจุบัน การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยไปแจ้งเพิกถอนแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท.5) ของจำเลย หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนเจตนาของจำเลย ห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองของโจทก์โดยปกติสุขและให้แสดงว่าโจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียว ห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่เจ้าของผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 50 ไร่เศษ เป็นของจำเลยโดยจำเลยซื้อมาจากโจทก์เมื่อ พ.ศ. 2517 ในราคาไร่ละ 600 บาทชำระราคาเป็นพืชไร่ ขณะที่ซื้อที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นป่า จำเลยและบริวารช่วยกันก่อสร้างที่ดินพิพาททั้งหมดจนเตียนภายในเวลา 3 ปีจำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปลูกข้าวโพดทุกปีจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 17 ปีเศษ นอกจากนั้นจำเลยยังปลูกพืชยืนต้น เช่น มะพร้าว ต้นตาล ไผ่ ต้นลาน และขุดบ่อน้ำ 1 บ่อสระเลี้ยงปลาอีก 1 สระ จำเลยไม่เคยออกไปจากที่ดินพิพาทและไม่เคยส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครอง จำเลยแจ้งความจำนงเพื่อขอออกใบ ภ.บ.ท.5 และเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมาทุกปีจนถึงปัจจุบันที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมาที่ดินพิพาทหมดสภาพความเป็นป่า ทางราชการจึงปล่อยให้ราษฎรเข้าไปถึงสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน จำเลยไม่เคยอาศัยสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับเป็นว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องหรือทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองโดยปกติสุขของโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้ววินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเช่าจากโจทก์ จึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทส่วนการที่จำเลยไปแจ้งรายการที่ดินเพื่อเสียภาษีตามใบ ภ.บ.ท.5เอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2532 อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์หากจะถือว่า จำเลยเปลี่ยนเจตนาในการครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยเอง แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 12 มกราคม 2533ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปีโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกคืนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่จำเลยฎีกาว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องอ้างว่ามีสิทธิหรือได้ทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติต่อนายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอท้องที่ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาตินั้นใช้บังคับ โจทก์ย่อมหมดสิทธิในที่ดินพิพาทไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนสิทธิของโจทก์นั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14บัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองหรืออาศัยอยู่ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ และมาตรา 12 บัญญัติให้บุคคลผู้อ้างว่ามีสิทธิหรือได้ทำประโยชน์ในป่าสงวนแห่งชาติอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาตินั้นใช้บังคับยื่นคำร้องภายในกำหนด 90 วันมิฉะนั้นถือว่าสละสิทธิหรือประโยชน์นั้น เป็นเพียงบทบัญญัติที่ใช้บังคับระหว่างรัฐกับราษฎรซึ่งเป็นผลให้ราษฎรไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ยันต่อรัฐได้ แต่ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นราษฎรด้วยกัน เมื่อจำเลยได้รบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์แม้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติก็ตาม โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยได้
พิพากษายืน

Share