คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1047/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าจำเลยจะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่ต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะยื่นอุทธรณ์ จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2532 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาให้ อันเป็นวันภายหลังที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2532 ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2532 ใช้บังคับแล้วจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ ปรากฏว่าขณะจำเลยยื่นอุทธรณ์พระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 22 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 มาตรา 3 บัญญัติว่า”ในคดีอาญาห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแขวงในปัญหาข้อเท็จจริงเว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ ให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ฯลฯ(4) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท” ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยเพียงหกร้อยบาท อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ขับรถไถนาด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ กล่าวคือ จำเลยได้ขับรถด้วยความเร็วมาตามถนนสายบ้านโนนระเวียง จากทางทิศเหนือมาทางทิศใต้เพื่อจะออกมาที่ปากทางถนน บริเวณสี่แยกบ้านตาฮะ ซึ่งมีถนนสายท่าตูม-ชุมพลบุรีตัดผ่านทางทิศเหนือของถนนดังกล่าวเป็นทางแยกเข้าถนนสายบ้านโนนระเวียง ทางทิศใต้เป็นทางแยกถนนเข้าบ้านตาฮะ เมื่อรถมาถึงทางสี่แยก จำเลยควรต้องใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอโดยลดความเร็วลงและหยุดรถ เพื่อให้รถที่กำลังจะผ่านทางหรือกำลังแล่นสวนทางอยู่ในทางเดินรถที่ตัดผ่านบริเวณสี่แยกนั้นไปก่อนเมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงจะขับรถเข้าถนนสายท่าตูม-ชุมพลบุรี ไปยังถนนเข้าบ้านตาฮะซึ่งเป็นทางแยกฝั่งตรงข้าม จำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ กลับขับรถข้ามถนนสายท่าตูม-ชุมพลบุรีด้วยความเร็วเป็นเหตุให้รถไถนาพุ่งเข้าชนรถยนต์ของบริษัทโค้วยู่ฮะมหาสารคาม จำกัด ซึ่งนายลำดวน อุทีขับผ่านทางแยกดังกล่าวได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4)(8), 157 ลงโทษปรับ 600 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2532 ก่อนวันพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2532 จะมีผลใช้บังคับ คดีของจำเลยซึ่งถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับ 600 บาท ไม่ห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามกฎหมายที่ใช้อยู่ก่อนมีการแก้ไขนั้น เห็นว่า การพิจารณาว่าจำเลยจะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่ ต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะยื่นอุทธรณ์ คดีนี้จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 25 กันยายน2532 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาให้ อันเป็นวันภายหลังจากที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2532ใช้บังคับแล้ว จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ ปรากฏว่าขณะจำเลยยื่นอุทธรณ์ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 มาตรา 3 บัญญัติว่า “ในคดีอาญาห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแขวงในปัญหาข้อเท็จจริงเว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ฯลฯ
(4) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท
ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยเพียงหกร้อยบาทอุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share