แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างพิพาทกันด้วยสิทธิในเครื่องหมายการค้าว่าใครจะมีสิทธิดีกว่ากัน ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าโจทก์ กรณีจึงตกอยู่ในบังคับมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า ฯ ที่บังคับให้โจทก์จะต้องใช้สิทธิในการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือนำคดีไปสู่ศาลภายใน 90 วัน มิฉะนั้นสิทธิที่จะอุทธรณ์หรือนำคดีไปสู่ศาลเป็นอันสิ้นไป แม้โจทก์จะเคยฟ้องต่อศาลแต่โจทก์ก็ถอนฟ้องคดีดังกล่าวเสีย ซึ่งทำให้ลบล้างผลแห่งการยื่นฟ้อง เสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้ใหม่ ก็เท่ากับยื่นฟ้องเมื่อพ้น 90 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียนซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิจะทำได้
แม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นเรื่องละเมิดและฟ้องจำเลยที่ 2 เข้ามาด้วยแต่ในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็เพียงแต่ให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนการจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 และมิให้จำเลยที่ 1 ขัดขวางการจดทะเบียนของโจทก์ หาใช่เรียกร้องค่าเสียหายฐานละเมิดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ คำฟ้องของโจทก์จึงต้องห้ามตามมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1135/2516) และเนื่องจากคดีนี้เกี่ยวด้วยการปฏิบัติการชำระหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้คำพิพากษานี้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาท โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ในประเทศอังกฤษและประเทศอื่น ๆ เกือบทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยได้จดทะเบียนไว้ต่อกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าจำพวกที่ ๑๑ และจำพวกที่ ๔๐ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๑๗ โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาท สำหรับสินค้าจำพวกที่ ๓๘ อันได้แก่เครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกาย ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ ๑ ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทสำหรับสินค้าจำพวกที่ ๓๘ เช่นเดียวกับโจทก์ โจทก์จึงฟ้องคดีต่อศาลแพ่งและได้แจ้งเป็นหนังสือแก่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อให้ระงับการจดทะเบียนไว้ก่อน ในระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าว จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจงใจไม่ระงับการจดทะเบียนเพื่อรอฟังผลคำพิพากษาของศาล กลับรับจดทะเบียนให้จำเลยที่ ๑ ก่อนศาลพิพากษา การกระทำของจำเลยที่ ๒ ทำให้โจทก์ไม่อาจดำเนินการจดทะเบียนตามสิทธิของโจทก์ได้โจทก์จึงถอนฟ้องคดีดังกล่าว การได้สิทธิของจำเลยที่ ๑ เป็นการไม่ชอบจึงขอให้พิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยที่ ๑ให้เพิกถอนทะเบียนเลขที่ ๕๙๔๓๙ ออกจากทะเบียนเครื่องหมายการค้า
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าพิพาทดังกล่าว โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับสินค้าจำพวกที่ ๑๑ และจำพวกที่ ๔๐ เท่านั้น ส่วนจำเลยที่ ๑ ยื่นคำขอจดทะเบียนกับสินค้าจำพวกที่ ๓๘ ทั้งจำพวก เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๑๖ นายทะเบียนรับจดทะเบียนให้จำเลยที่ ๑ ตามทะเบียนเลขที่ ๕๙๔๓๙ และจำเลยที่ ๑ ผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวตลอดมา โจทก์เพิ่งยื่นคำขอจดทะเบียนเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๑๗ จำเลยที่ ๑ จึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ดังกล่าว ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องคดีภายใน ๙๐ วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าการที่โจทก์ฟ้องคดีแพ่งและโจทก์ถอนฟ้องคดีดังกล่าว โจทก์แถลงไม่ติดใจดำเนินคดีกับจำเลยที่ ๑ ต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องใหม่อีก ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ และโจทก์ต่างยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ ๓๘ ทั้งจำพวก จำเลยที่ ๒ จึงแจ้งให้จำเลยที่ ๑ และโจทก์ทราบว่าขอซ้ำกันให้ตกลงกันเองหรือนำคดีไปสู่ศาล แต่เมื่อครบสามเดือนไม่มีผู้ใดแจ้งให้ทราบว่าได้ดำเนินการไปอย่างใดจำเลยที่ ๒ จึงวินิจฉัยรับจดทะเบียนให้จำเลยที่ ๑ ต่อมาจำเลยที่ ๑ และโจทก์จึงโต้แย้งคัดค้านซึ่งกันและกัน จำเลยที่ ๒ จึงวินิจฉัยให้จำเลยที่ ๑ มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าโจทก์ และได้แจ้งคำวินิจฉัยให้จำเลยที่ ๑และโจทก์ทราบแล้ว เมื่อครบกำหนด ๙๐ วันแล้วไม่ปรากฏว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าหรือมีหนังสือแจ้งว่านำคดีไปสู่ศาลแล้ว จึงดำเนินการรับจดทะเบียนให้จำเลยที่ ๑ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๒๐ โดยให้ทะเบียนเลขที่ ๕๙๔๓๙ ต่อมาวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๒๐ โจทก์จึงแจ้งต่อจำเลยที่ ๒ ว่านำคดีไปสู่ศาลแล้ว ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังจากครบกำหนด ๙๐ วันที่กฎหมายให้ไว้เป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งโจทก์ได้ถอนฟ้องคดีไปจากศาลแล้วจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้อีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ ๑ จดไว้
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๑๖ ต่อมาวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๑๗ โจทก์ก็ยื่นคำขอจดทะเบียนเช่นเดียวกัน วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๑๗ โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านการขอจดทะเบียนของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ก็ได้โต้แย้งคำคัดค้านของโจทก์ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งลงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ ให้โจทก์และจำเลยที่ ๑ ทำความตกลงกันเองหรือนำคดีสู่ศาล ต่อมาเมื่อไม่มีผู้ใดแจ้งให้ทราบ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงวินิจฉัยให้ดำเนินการจดทะเบียนให้แก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งยื่นคำขอไว้ก่อน และประกาศในหนังสือจดหมายเหตุแสดงรายการเครื่องหมายการค้า เพื่อให้ผู้ประสงค์จะคัดค้านได้มีโอกาสคัดค้านต่อมาโจทก์ยื่นคัดค้าน จำเลยที่ ๒ จึงส่งคำคัดค้านให้จำเลยที่ ๑ เพื่อให้มีการโต้แย้ง เมื่อจำเลยที่ ๑ ให้การโต้แย้งแล้ว จำเลยที่ ๒ จึงทำคำวินิจฉัยลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ ให้จำเลยที่ ๑ มีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดีกว่าโจทก์และส่งคำวินิจฉัยให้โจทก์และจำเลยที่ ๑ ทราบ พร้อมทั้งแจ้งไปด้วยว่าถ้าไม่พอใจคำวินิจฉัยก็อาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการหรือนำคดีไปสู่ศาลภายใน ๙๐ วัน หากไม่ปฏิบัติตามจะถือว่า คำวินิจฉัยเป็นที่สุดโจทก์ได้รับหนังสือของจำเลยที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๒๐ เมื่อครบ ๙๐ วันไม่ได้รับแจ้งว่ามีการยื่นอุทธรณ์หรือได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาล เจ้าหน้าที่จึงทำเรื่องเสนอเพื่อดำเนินการจดทะเบียนให้จำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๐ ต่อมาวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๒๐ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลแพ่งและแจ้งให้จำเลยที่ ๒ ทราบเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๒๐ ซึ่งปรากฏภายหลังว่า จำเลยที่ ๒ ออกหนังสือคู่มือรับจดทะเบียนให้จำเลยที่ ๑ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๒๐ โจทก์จึงถอนฟ้องคดีดังกล่าวและฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๒๒
แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เมื่อโจทก์และจำเลยที่ ๑ ต่างพิพาทกันด้วยสิทธิในเครื่องหมายการค้า “MARIGOLD” ในชั้นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาแล้วว่า ใครจะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่ากัน จนกระทั่งนายทะเบียนวินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ ๑ มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าโจทก์ กรณีก็ตกอยู่ในบังคับของมาตรา ๒๒ ของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช ๒๔๗๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๘ ที่บังคับให้โจทก์จะต้องใช้สิทธิในการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือนำคดีไปสู่ศาลภายใน ๙๐ วัน มิฉะนั้นสิทธิที่จะอุทธรณ์หรือนำคดีไปสู่ศาลเป็นอันสิ้นไป ข้อเท็จจริงในคดีนี้แม้โจทก์จะเคยฟ้องต่อศาลปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๗๑๑๓/๒๕๒๐ ของศาลแพ่งแต่โจทก์ก็ถอนฟ้องคดีดังกล่าวเสีย ซึ่งทำให้ลบล้างผลแห่งการยื่นฟ้อง เสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๖ การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้ใหม่ เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๒๒ ก็เท่ากับยื่นฟ้องเมื่อพ้น ๙๐ วันนับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียนซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิจะทำได้ แม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นเรื่องละเมิดและฟ้องจำเลยที่ ๒ เข้ามาด้วยแต่ในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็เพียงแต่ให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยที่ ๑ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนของจำเลยที่ ๑และมิให้จำเลยที่ ๑ ขัดขวางการจดทะเบียนของโจทก์ หาใช่เรียกร้องค่าเสียหายฐานละเมิดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ คำฟ้องของโจทก์จึงต้องห้ามตามมาตรา ๒๒ ของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้วข้างต้น และเนื่องจากคดีนี้เกี่ยวด้วยการปฏิบัติการชำระหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้คำพิพากษานี้มีผลตลอดจนถึงจำเลยที่ ๒ ด้วย
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์