คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 243/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานฟ้องเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 ต้องเป็นการเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา และผู้กระทำจะต้องรู้ว่าความที่นำไปฟ้องนั้นเป็นเท็จด้วย เพียงแต่จำเลยบรรยายฟ้อง เพื่อให้เห็นว่ามีอำนาจฟ้องในคดีนั้น โดยไม่ใช่ข้อกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิด หรือจำเลยไม่รู้ว่าความที่นำไปฟ้องนั้นเป็นเท็จ จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 175
ชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญา ถ้าคดีไม่มีมูลให้พิพากษายกฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 167 นั้น จะทำเป็นรูปคำพิพากษาหรือคำสั่งก็ได้แต่ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 186 โดยต้องมีข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความและเหตุผลในการตัดสิน ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามควรแก่รูปคดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒, ๓ นำความที่รู้แล้วว่าเป็นเท็จไปฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญา หาว่ากระทำความผิดฐานยักยอกและฉ้อโกง โดยจำเลยที่ ๑ ร่วมในการกระทำความผิดหรือก่อให้จำเลยที่ ๒, ๓ กระทำความผิด โดยเป็นผู้ส่งเสริม ให้คำปรึกษาและเป็นทนายให้โดยจำเลยฟ้องโจทก์ว่าจำเลยที่ ๒, ๓ เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของพระยาศรีวิกรมาฑิตย์ ซึ่งไม่เป็นความจริง ที่จำเลยกล่าวเท็จก็เพื่อให้ศาลเห็นว่าจำเลยมีอำนาจฟ้องและจำเลยฟ้องโจทก์ว่าเบียดบังเอาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับเงินสดไปยกให้ผู้มีชื่อโดยทุจริต ซึ่งไม่เป็นความจริง กับฟ้องว่า โจทก์กระทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยเจตนาทุจริต ซึ่งเป็นความเท็จ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๗๕, ๕๙, ๘๓, ๘๔ และให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ด้วย
ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ไต่สวนมูลฟ้องคดีนี้รวมกับคดีดำที่ ๗๖๓/๒๕๐๙ ซึ่งจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลย แล้วมีคำสั่งว่า คดีอาญาดำที่ ๗๖๓/๒๕๐๙ มีมูลให้ประทับฟ้อง ส่วนคดีนี้เมื่อศาลมีคำสั่งว่าคดีดำที่ ๗๖๓/๒๕๐๙ มีมูลแล้ว ฟ้องของจำเลยคดีนี้จึงไม่เป็นเท็จและไม่เป็นละเมิดไม่มีมูล ให้ยกฟ้องของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพัน
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในทางแพ่ง
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๗๕ ต้องเป็นการเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา ความสำคัญจึงอยู่ที่การกล่าวหาว่าผู้อื่นกระทำความผิด ฉะนั้น ที่จำเลยกล่าวในฟ้องว่าจำเลยที่ ๒, ๓ เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของพระยาศรีวิกรมาฑิตย์ แม้จะจริงหรือไม่ก็ตาม เฉพาะข้อนี้ก็ไม่ใช่ข้อกล่าวหาว่าโจทก์กระทำความผิด เป็นแต่แสดงว่าจำเลยเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องเท่านั้น และย่อมแยกกันได้จากข้อหาว่ากระทำความผิด เพราะแม้จำเลยไม่ใช่บุตรเจ้ามรดก และไม่มีสิทธิรับมรดกดังโจทก์กล่าวในฎีกา โจทก์ก็อาจกระทำความผิดฐานยักยอกและฉ้อโกงได้ เป็นแต่จำเลยไม่มีอำนาจฟ้อง คำบรรยายฟ้องของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ก่อให้เกิดความผิดตามมาตรา ๑๗๕ ขึ้นได้ และเห็นว่าที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๕ นั้น นอกจากจะต้องเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญาแล้ว ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๙ ด้วย กล่าวคือ จะต้องรู้ว่าความที่นำมาฟ้องนั้นเป็นเท็จ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีการกระทำอันควรทำให้จำเลยเชื่อว่าฝ่ายโจทก์ ได้จำหน่ายทรัพย์มรดกไปแล้วจริง จึงเป็นที่เห็นได้อยู่ในตัวว่า จำเลยไม่รู้ว่าความที่นำมาฟ้องโจทก์นั้นเป็นเท็จ เพราะมีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น เมื่อจำเลยฟ้องโจทก์โดยมีเหตุผลอันควรเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น การกระทำของจำเลยก็ขาดเจตนาตามกฎหมายไม่มีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๕ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๖ (๕) (๖) และ ๑๘๗ (๒) นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๖๗ บัญญัติว่า “ถ้าปรากฏว่าคดีมีมูล ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป เฉพาะกระทงที่มีมูล ถ้าคดีไม่มีมูล ให้พิพากษายกฟ้อง” คำพิพากษาที่ให้ยกฟ้องเพราะคดีไม่มีมูลนี้อาจทำเป็นรูปคำพิพากษา หรือคำสั่งเช่นคดีนี้ และต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๘๖ เฉพาะอย่างยิ่ง คือ ต้องมีข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความ และเหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แต่การที่จะมีข้อสำคัญดังกล่าวมากน้อยเพียงใด ย่อมแล้วแต่รูปคดีเป็นเรื่อง ๆ คดีนี้อยู่ในขั้นไต่สวนเพื่อวินิจฉัยมูลคดีที่โจทก์ฟ้อง คำสั่งจึงอาจมีเหตุผลและข้อเท็จจริงตามควรแก่รูปคดีชั้นไต่สวนมูลฟ้อง คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องของโจทก์ ได้กล่าวถึงคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ในข้อหาฐานยักยอกและฉ้อโกง คือคดีดำที่ ๗๖๓/๒๕๐๙ ของศาลชั้นต้นว่ามีมูล ฉะนั้น ที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ว่า ฟ้องเท็จและละเมิดในคดีนั้น จึงไม่เป็นเท็จและไม่เป็นละเมิด ถือได้ว่ามีข้อเท็จจริงและเหตุผลพอควรในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว
พิพากษายืน

Share