แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคาร ก. ลงวันที่ 5 มิถุนายน2540 จำนวนเงิน 691,960 บาท เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ โดยระบุข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าเมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน และมีคำขอบังคับให้จำเลยชำระเงินตามจำนวนที่ลงในเช็ค เป็นการบรรยายฟ้องครบถ้วนแล้ว ส่วนการออกเช็คเป็นการชำระหนี้ค่าอะไร มูลหนี้เกิดจากอะไร และชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่นำสืบได้ในชั้นพิจารณาไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ก่อนที่จำเลยจะชำระหนี้ด้วยเช็คพิพาท จำเลยเคยชำระหนี้ให้โจทก์มาแล้วรวม6 ครั้ง เป็นการชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนอง 5 ครั้ง ซึ่งการชำระหนี้แต่ละครั้งไม่พอที่จะเปลื้องหนี้สินได้ทั้งหมด จึงต้องหักชำระดอกเบี้ยที่ค้างทั้งหมดไปก่อนที่จะชำระต้นเงิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 วรรคหนึ่ง และถือว่าการที่จำเลยชำระดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ ทั้งที่รู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จำเลยจึงไม่อาจเรียกร้องคืนหรือให้นำมาหักหนี้ที่จำเลยค้างชำระอยู่ได้ตามมาตรา 407
แม้เช็คพิพาทมีหนี้ในส่วนที่เป็นโมฆะรวมอยู่ด้วย โจทก์ก็ยังมีสิทธิเรียกร้องต้นเงินอันเป็นหนี้ประธานที่สมบูรณ์แยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ มิใช่เช็คพิพาทตกเป็นโมฆะทั้งหมด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2540 จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาปากช่อง ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2540 จำนวนเงิน 691,960 บาท เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2540 โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 691,960 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทชำระหนี้อะไร เป็นคำฟ้องที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเป็นฟ้องเคลือบคลุม เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2539 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ 1,200,000 บาท คิดดอกเบี้ยแบบทบต้นในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี และจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 11282 ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยได้รับเงินกู้ไปเพียง 854,516.35 บาท ส่วนที่ไม่ได้รับเป็นตัวเงินตกลงกันว่าหากจำเลยมีความจำเป็นต้องใช้เงินให้เบิกเพิ่มหรือให้เบิกวัสดุก่อสร้างจากโจทก์แล้วคิดเป็นเงิน แต่จำเลยไม่ได้เบิกเงินหรือวัสดุก่อสร้างจากโจทก์อีก และได้ชำระหนี้ต้นเงิน 854,516.35 บาท แก่โจทก์เสร็จแล้ว ส่วนเช็คพิพาทจำเลยสั่งจ่ายเป็นการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่คิดแบบทบต้นและเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นหนี้อันเกิดจากโมฆะกรรม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายกรุงศรี จั่นบำรุง เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้อะไรเป็นฟ้องเคลือบคลุม จำเลยเคยเป็นหนี้เงินยืมโจทก์แต่ชำระเสร็จแล้ว เช็คพิพาทหากออกเพื่อชำระหนี้ก็เป็นการชำระหนี้ดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ที่โจทก์เรียกจากจำเลยเป็นการอันไม่ชอบด้วยกฎหมายตกเป็นโมฆะ จำเลยร่วมไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์และไม่ได้มอบให้จำเลยออกเช็คแทนจำเลยร่วมเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 844,049.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 810,534.35 บาท นับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2539และของต้นเงิน 16,652 บาท นับแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จและให้นำเงิน 240,000 บาท ไปหักจากเงินจำนวนที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยร่วมโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาปากช่อง ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2540 จำนวนเงิน 691,960 บาท เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ โดยระบุข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน และมีคำขอบังคับให้จำเลยชำระเงินตามจำนวนที่ลงในเช็ค ดังนี้ เป็นการบรรยายฟ้องไว้โดยครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ส่วนการออกเช็คดังกล่าวเป็นการชำระหนี้ค่าอะไร มูลหนี้เกิดจากอะไร และชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่นำสืบได้ในชั้นพิจารณาไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด โดยจำเลยฎีกาว่าหนี้จำนองได้มีการไถ่ถอนโดยแบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อย ๆและชำระเงินให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 และ ล.3 ครบถ้วนแล้ว หนี้ซื้อขายวัสดุก่อสร้างที่โจทก์ให้เครดิต 300,000 บาท ไม่มีการใช้วงเงินจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้และรวมดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย จำเลยไม่ต้องรับผิดตามเช็คพิพาท เห็นว่า จากคำเบิกความของจำเลยได้ความว่า จำเลยรับว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 11282 ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา จากโจทก์ และยังมิได้มีการชำระหนี้ตามเช็ค การที่จำเลยลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทจำเลยย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น จำเลยมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดดังที่จำเลยฎีกา ซึ่งโจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่าในวันที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 11282 แก่โจทก์นั้น จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 902,788 บาท จริง ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมิได้ใช้วงเงินสินเชื่อซื้อวัสดุก่อสร้างจากโจทก์ก็ปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยว่า โจทก์จำเลยเคยคิดบัญชีกันเมื่อวันที่ 25 เมษายน2539 ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวน 840,591 บาท ตามเอกสารหมาย ล.4 และเบิกความรับว่าได้เซ็นชื่อเบิกเงินสดจากโจทก์ในเอกสารหมาย จ.11 รวม 3 ครั้ง ซึ่งปรากฏว่ายอดหนี้ในเอกสารหมาย ล.4 ตรงกับยอดหนี้ในเอกสารหมาย จ.11 และในเอกสารหมาย ล.4 มีรายการค่าวัสดุก่อสร้างรวมอยู่ด้วย จึงฟังได้ว่าจำเลยใช้วงเงินสินเชื่อซื้อวัสดุก่อสร้างจากโจทก์ด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2539 จำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวน 840,591 บาท ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยชำระเงินตามยอดหนี้ดังกล่าวให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ก็ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยว่า จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวเมื่อใดและชำระด้วยวิธีใด การที่จำเลยเบิกความลอย ๆ ว่าชำระหนี้ครบถ้วนเช่นนี้ไม่อาจรับฟังได้ นอกจากนั้นยังได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า จำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองทั้งหมดรวม 5 ครั้ง โดยไถ่ถอนที่ดินที่แบ่งแยกรวม 5 แปลง ตามเอกสารหมาย จ.8 ดังนั้นที่ดินแปลงที่ 6 จึงยังมิได้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนอง ที่จำเลยเบิกความว่าจำเลยออกเช็คพิพาทหมาย จ.1 เพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดิน จึงเป็นการเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ ซึ่งโจทก์มีรายละเอียดเกี่ยวกับหนี้ที่จำเลยค้างชำระโจทก์ ตลอดทั้งการชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองโดยครบถ้วน ตามเอกสารหมาย จ.12 ซึ่งยอดหนี้ครั้งสุดท้ายในเอกสารหมาย จ.12 ก็ตรงกับจำนวนเงินในเช็คพิพาทที่จำเลยสั่งจ่ายดังนั้น แม้เอกสารหมาย จ.12 จะเป็นเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นฝ่ายเดียวก็เชื่อว่าเอกสารดังกล่าวมีการลงรายการที่ถูกต้อง ส่วนรายการคิดดอกเบี้ยที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.12 นั้น แม้โจทก์จะเบิกความยอมรับว่ามีการคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี จากจำเลยอันเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก่อนที่จำเลยจะชำระหนี้ด้วยเช็คพิพาท จำเลยเคยชำระหนี้ให้โจทก์มาแล้วรวม 6 ครั้ง เป็นการชำระเพื่อไถ่ถอนจำนอง 5 ครั้ง ซึ่งการชำระหนี้แต่ละครั้งไม่พอที่จะเปลื้องหนี้สินได้ทั้งหมด จึงต้องหักชำระดอกเบี้ยที่ค้างทั้งหมดไปก่อนที่จะชำระต้นเงิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329วรรคหนึ่ง การที่จำเลยชำระดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจทั้งที่รู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จำเลยจึงไม่อาจเรียกร้องคืนหรือให้นำมาหักหนี้ที่จำเลยค้างชำระอยู่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 แต่อย่างไรก็ตามแม้การชำระหนี้ครั้งที่ 6 จะเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 16 ต่อปี แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้คิดดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 810,534.35 บาท นับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 อันเป็นวันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งที่ 5 โดยเห็นว่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระโจทก์นำไปคิดทบต้นในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ในส่วนดอกเบี้ยหลังจากวันดังกล่าวจึงเป็นโมฆะทั้งหมดนั้น โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้าน กรณีจึงต้องคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 810,534.35 บาท นับตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งคิดถึงวันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งที่ 6 คือวันที่ 16 พฤษภาคม 2540 เป็นดอกเบี้ย 30,732.75 บาท เมื่อจำเลยชำระหนี้ครั้งที่ 6 จำนวน 240,000 บาท จึงต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวไปหักชำระดอกเบี้ยและต้นเงินที่ค้างชำระในวันที่ 16 พฤษภาคม 2540 ก่อน ตามมาตรา 329 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดให้นำเงินจำนวน 240,000 บาทไปหักในวันดังกล่าว แต่กลับให้นำไปหักจากต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยที่คำนวณได้ในวันที่จำเลยชำระเสร็จ จึงขัดกับมาตรา 329 วรรคหนึ่ง ทำให้จำเลยต้องชำระหนี้ดอกเบี้ยมากกว่าที่ควร เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะความรับผิดของดอกเบี้ยจะมากหรือน้อยย่อมแปรผันไปตามจำนวนต้นเงิน กล่าวคือ ถ้าต้นเงินมากดอกเบี้ยที่จะต้องรับผิดย่อมมาก หากต้นเงินน้อยดอกเบี้ยก็จะน้อย ถ้านำไปหักตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2540 ต้นเงินจากวันดังกล่าวก็ไม่ถึง 810,534.35 บาท ดอกเบี้ยที่จะต้องชำระก็น้อยลงด้วย อนึ่ง ในส่วนคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่กำหนดให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยของต้นเงิน 16,652 บาท นับแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 นั้นเป็นการพิพากษาไม่ตรงกับส่วนที่วินิจฉัยและไม่ตรงตามทางนำสืบของโจทก์ ในส่วนนี้เมื่อดูตามเอกสารหมาย จ.12 และคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว ต้นเงินดังกล่าวต้องคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไป เมื่อคำนวณยอดหนี้ทั้งหมดดังที่วินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2540 จำเลยเป็นหนี้ต้นเงินโจทก์เพียง 634,782.40 บาท เมื่อคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2540 อันเป็นวันที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทคิดเป็นดอกเบี้ย 2,608.69 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์จำนวน 637,391.09 บาท จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทจำนวน 691,960 บาท จึงมีจำนวนที่จำเลยไม่ต้องรับผิดรวมอยู่ด้วย แต่แม้เช็คพิพาทมีหนี้ในส่วนที่เป็นโมฆะรวมอยู่ด้วย โจทก์ยังมีสิทธิเรียกร้องต้นเงินอันเป็นหนี้ประธานที่สมบูรณ์แยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ มิใช่เช็คพิพาทตกเป็นโมฆะทั้งหมด โจทก์จึงมีสิทธิอาศัยเช็คดังกล่าวฟ้องจำเลยได้ โดยจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามเช็คพิพาทเพียงจำนวน 637,391.09 บาท เท่านั้น และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลยในประเด็นอื่นอีกต่อไป ฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 637,391.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ