คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10068/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพและจำหน่ายยาเสพติดที่จะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง นั้น จะต้องเป็นผู้เสพยาเสพติดก่อน แล้วผู้เสพยาเสพติดจึงมาจำหน่ายยาเสพติดจำนวนเล็กน้อยในภายหลัง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันที่ 11 พฤษภาคม 2552 จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 1 เม็ด ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 จำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นเวลาที่อยู่ในระหว่างที่ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นความผิดฐานอื่นที่มีโทษจำคุก การเสพเมทแอมเฟตามีนของจำเลยในวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะส่งไปฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 91 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 57, 66 วรรคหนึ่ง, 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี และปรับ 100,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 6 เดือน และปรับ 100,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 3 เดือน และปรับ 50,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยมีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง ภายในเวลาที่คุมความประพฤติ กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 ต้องเป็นการดำเนินคดีฐานเสพยาเสพติดและจำหน่ายยาเสพติดและผู้ต้องหานั้นต้องไม่ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น คดีนี้จำเลยถูกฟ้องเป็น 2 กรรม คือ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2552 จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนกรรมหนึ่ง และวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีน อีกกรรมหนึ่งความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและเสพเมทแอมเฟตามีนจึงเกิดต่างวันเวลากัน พนักงานสอบสวนจึงไม่ต้องดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้น เห็นว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวมีหลักการว่า ผู้เสพยาเสพติดมีสภาพเป็นผู้ป่วยอย่างหนึ่ง มิใช่อาชญากรปกติ การฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ติดยาเสพติดจึงสมควรกระทำให้กว้างขวาง และโดยที่ผู้เสพยาเสพติดจำนวนหนึ่งถูกบังคับให้เป็นผู้จำหน่ายยาเสพติดเพื่อแลกกับการได้ยาเสพติดไปเสพด้วย สมควรขยายขอบเขตของการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ติดยาเสพติดให้ครอบคลุมไปถึงผู้เสพและมีไว้ในครอบครอง ผู้เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และผู้เสพและจำหน่ายยาเสพติดจำนวนเล็กน้อยด้วย ดังนั้น ผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพและจำหน่ายยาเสพติดที่จะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง นั้น จะต้องเป็นผู้เสพยาเสพติดก่อน แล้วผู้เสพยาเสพติดจึงมาจำหน่ายยาเสพติดจำนวนเล็กน้อยในภายหลัง คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2552 จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 1 เม็ด การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะส่งไปฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ได้ หลังจากจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจกล่าวหาและมีการออกหมายจับจำเลยในข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้และแจ้งข้อหาว่าเสพเมทแอมเฟตามีน จำเลยจึงต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นเวลาที่อยู่ในระหว่างที่ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นความผิดฐานอื่นที่มีโทษจำคุก การเสพเมทแอมเฟตามีนของจำเลยในวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะส่งไปฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง เช่นกัน เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น สำหรับความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ต้องระวางจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษในความผิดฐานนี้ เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษจำเลยเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ ส่วนที่โจทก์ขอให้ไม่รอการลงโทษในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนนั้น ได้ความจากรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติว่า ก่อนจำเลยกระทำความผิดคดีนี้จำเลยเป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 19 ปีเศษ ทั้งจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพียง 1 เม็ด ซึ่งเป็นจำนวนเล็กน้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรให้โอกาสโดยรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยอีกสักครั้ง อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ให้คุมความประพฤติของจำเลยมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โดยให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 30 ชั่วโมง

Share