คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2421/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 3 ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า จำเลยที่ 3 จึงเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยปลูกสร้างบ้านและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา ตามคำให้การของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทมาแต่ต้น ไม่มีปัญหาเรื่องแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง เป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันมากับคดีหมายเลขแดงที่ 130/2539 และคดีหมายเลขแดงที่ 203/2539 ของศาลชั้นต้น ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ ต่อมาคดีหมายเลขแดงที่ 130/2539 และคดีหมายเลขแดงที่ 203/2536 ถึงที่สุด โดยคู่ความมิได้ฎีกา คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
สำนวนคดีนี้ จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยที่ 3 และบริวารออกจากที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 85 ให้จำเลยที่ 3 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทดังกล่าว และทำที่ดินพิพาทให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ห้ามจำเลยที่ 3 เกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทอีก
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท เมื่อปี 2531 จำเลยที่ 3 จับจองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมา ที่ดินพิพาทผ่านการทำเหมืองแร่มาแล้ว และเจ้าของเหมืองแร่สละการครอบครอง ทำให้ที่ดินพิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ตกลงกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่าคู่ความฝ่ายใดมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนและยกฟ้องของจำเลยที่ 1 โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่แล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน ยกฟ้องแย้งและยกฟ้องของจำเลยที่ 1 กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ (ที่ถูก ศาลอุทธรณ์ภาค 3) แทนจำเลยที่ 1 และที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ขับไล่จำเลยที่ 3 และบริวารออกจากที่ดินพิพาทภายในเส้นสีแดงตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.1 ของคดีหมายเลขแดงที่ 131/2539 ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 3 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทภายในเส้นสีแดงดังกล่าว และทำที่ดินให้อยูในสภาพเรียบร้อย ห้ามจำเลยที่ 3 เกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทภายในเส้นสีแดงอีกต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เพียงประการเดียวว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายในเส้นสีแดงตามแผนที่พิพาทเพราะพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 3 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 3 ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า จำเลยที่ 3 จึงเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยปลูกสร้างบ้านและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา ตามคำให้การของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทมาแต่ต้น ไม่มีปัญหาเรื่องแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีการอ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่จำเลยที่ 3 ยกสาเหตุเป็นข้อต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเกิน 1 ปี หรือไม่ ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง เป็นการไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share