คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7055/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คาเฟอีนเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายไม่ว่าจะผสมอยู่ในตำรับยาใด ก็ไม่สมควรที่จะปล่อยให้ประชาชนซื้อหารับประทานเองตามใจชอบ การที่จำเลยที่ 3 ลงพิมพ์ข้อความด้วยว่า เจ้าตำรับผลิตยามัจจุราชถามหาก็ดีเจ้าตำรับยาพยายมก็ดี แต่เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดแล้ว คงมีความหมายแต่เพียงว่ายาดังกล่าวเป็นยาอันตรายต่อร่างกายและอาจถึงแก่ชีวิตได้ หาใช่มีความหมายว่ารับประทานแล้วจะเกิดผลให้ต้องตายในทันทีไม่แต่เป็นการสื่อความหมายให้ประชาชนทราบว่ามีความเสี่ยงต่อภัยอันตรายที่อาจได้รับจากการบริโภคยาสองชนิดดังกล่าวที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนอยู่ด้วยเท่านั้น
โจทก์ได้บรรยายสรรพคุณเกี่ยวกับยาโคบาลเคคินว่าเป็นยาบำรุงร่างกาย ส่วนยาโคบาลบีดับบลิว ว่าเป็นยาช่วยกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและระบบการหายใจกับมีภาพโคบาลขี่ม้าคึกคะนองติดอยู่ที่แผงยาด้วยและโจทก์ประสงค์จะใช้ภาพโคบาลขี่ม้าคึกคะนองเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ด้วยก็ตาม การที่จำเลยที่ 3 ใช้ข้อความว่า “เป็นยาปลุกคึกน้องใหม่” กับยาของโจทก์ดังกล่าวย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าหากบริโภคยาของโจทก์แล้วร่างกายแข็งแรงกระปรี้กระเปร่าคึกคะนอง ยังไม่มีความหมายชัดเจนพอให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นยาปลุกกำหนัดทางเพศ สำหรับข้อความที่ว่า “ยังถูกเพ่งเล็งว่ายาของโจทก์เป็นยาม้าเทียม” เมื่อจำเลยที่ 3 ได้กล่าวเป็นทำนองยกขึ้นเปรียบเทียบและมิได้เป็นการกล่าวยืนยันว่ายาของโจทก์เป็นยาม้าแต่อย่างใด ดังนี้ ข้อความที่จำเลยที่ 3 ลงพิมพ์ไปนั้นไม่เป็นข้อความอันฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการและเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายสัปดาห์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา เมื่อระหว่างวันที่ 19 ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2533 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการลงข่าวแพร่หลายในหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายสัปดาห์ของผู้จัดการและนักบริหารฉบับชื่อ ผู้จัดการ 2 การตลาด 1 หน้า 21 มีข้อความว่า ล่าสุดเจ้าตำรับผลิตยาที่ฝ่าฝืนความเป็นจริง ความจริงโจทก์ได้รับอนุญาตให้ผลิต จำหน่ายและโฆษณาตัวยาโคบาล บี ดับบลิว และโคบาล เค.คิน ได้และยาดังกล่าวมิใช่ยาอันตราย แต่เป็นยารักษาและบำรุงร่างกาย การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อและมีเจตนาไม่สุจริต ให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือเกียรติคุณเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในทางทำมาหาได้ในธุรกิจการค้าจนขายสินค้าดังกล่าวได้ไม่เท่าที่ควร และอาจทำให้คณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และประชาชนทั่วไปเข้าใจว่ายาดังกล่าวเป็นยาอันตรายหรือยาม้าเทียมได้ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 5,000,000บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันลงโฆษณาประกาศขอขมาในหนังสือพิมพ์รายวันจำนวน 7 ฉบับ ฉบับละ 7 วัน โดยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าโฆษณา และชำระเงินต้นพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 5,366,781 บาท และดอกเบี้ยอัตราเดียวกันคิดจากเงินต้น 5,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การว่า การที่มีการลงข่าวในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการตามฟ้องเนื่องจากยา เค.คิน และยาโคบาลมีส่วนผสมของคาเฟอีนจึงเป็นยาที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค ในตัวยานั้นคาเฟอีนไม่มีผลต่อการรักษา ข่าวดังกล่าวจึงเป็นประโยชน์แก่ประชาชน การกระทำของจำเลยที่ 3 ในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และเป็นผู้มีวิชาชีพทางหนังสือพิมพ์ เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ และข่าวดังกล่าวเป็นการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันเป็นความจริง การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา เมื่อระหว่างวันที่ 19 ถึง 25 พฤศจิกายน 2533 จำเลยที่ 3 ได้ลงพิมพ์แพร่ข่าวในหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายสัปดาห์ของผู้จัดการและนักบริหารในฉบับชื่อ “ผู้จัดการ 2การตลาด 1” ในหน้าที่ 21 ว่า ล่าสุดเจ้าตำรับผลิตยามัจจุราชถามหา “ไบร์วู๊ด” เจ้าเก่าเตรียมเข็น “เค.คิน” ยาปลุกคึกน้องใหม่ในเครือ “โคบาล” ออกมาให้ฮือฮาอีกแล้ว สาเหตุจากเกรง “โคบาล” ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ถูกแบนเหมือนโคบาลรุ่นพี่ อีกทั้งสูตรใหม่ซื้อง่ายขายคล่องกว่ากันเยอะ คนในวงการชี้ติดคาเฟอีนในกาแฟยังดีกว่าติดคาเฟอีนในยาขณะที่ กศย. ถึงจุดเดือดตั้งคำถาม อย. จะคุ้มครองผู้บริโภคหรือฆ่าผู้บริโภคกันแน่และในหน้าที่ 31 ว่า… ทางด้านไบร์วู๊ดเจ้าตำรับยาพยายมที่ถูกโจมตีจนต้องเปลี่ยนสูตรบ่อย ๆ… ที่ผ่านมาก็ได้เปลี่ยนสูตรการผลิตโดยใช้สารฟิโมลีนเป็นสูตรเอททามิแวนและคาเฟอีนขึ้นมาแทนสูตรเก่าที่ถูกกำจัดออกตลาดไป โคบาลตัวใหม่ก็เปลี่ยนชื่อเป็น “โคบาล บี ดับบลิว” ได้รับอนุญาตจากทาง อย. ขึ้นทะเบียนเป็นยาหมายเลขทะเบียน 2 เอ.459/2531 และมีส่วนระบุว่าเป็นยาอันตราย จึงทำให้การทำตลาดค่อนข้างยากเพราะเป็นยาอันตรายไม่สามารถทำการโฆษณาได้และยังถูกเพ่งเล็งว่าอาจเป็นยาม้าเทียมอีกด้วย…

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ข้อความที่จำเลยที่ 3 ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนต่อความจริงหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่า คาเฟอีนเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายไม่ว่าจะผสมอยู่ในตำรับยาใด ไม่สมควรที่จะปล่อยให้ประชาชนซื้อหารับประทานเองตามใจชอบ การที่จำเลยที่ 3 ลงพิมพ์ข้อความว่า เจ้าตำรับผลิตยามัจจุราชถามหาก็ดี เจ้าตำรับยาพยายมก็ดี เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดแล้ว คงมีความหมายแต่เพียงว่า ยาดังกล่าวเป็นยาอันตรายต่อร่างกายและอาจถึงแก่ชีวิตได้ หาใช่มีความหมายว่ารับประทานแล้วจะเกิดผลให้ต้องตายในทันทีไม่ แต่เป็นการสื่อความหมายให้ประชาชนทราบว่ามีความเสี่ยงต่อภัยอันตรายที่อาจได้รับจากการบริโภคยาสองชนิดดังกล่าวที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนอยู่ด้วยเท่านั้น และที่มีการพิมพ์ข้อความเริ่มต้นด้วยอักษรตัวใหญ่นั้นก็เป็นเพียงจูงใจให้ผู้อ่านหันมาสนใจข้อความที่ลงพิมพ์ไว้เท่านั้น ส่วนข้อความว่า “เป็นยาปลุกคึกน้องใหม่” ซึ่งโจทก์ฎีกาอ้างว่าหมายถึงเป็นยาที่ปลุกกำหนัดทางเพศซึ่งเกินไปจากความเป็นจริง เพราะภาพโคบาลขี่ม้าคึกคะนองนั้น โจทก์ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับตำรับยาของโจทก์ทุกชนิดนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายสรรพคุณเกี่ยวกับยาโคบาลเคคินว่าเป็นยาบำรุงร่างกายส่วนยาโคบาล บี ดับบลิว ว่าเป็นยาช่วยกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและระบบการหายใจ กับมีภาพโคบาลขี่ม้าคึกคะนองติดอยู่ที่แผงยาด้วย ไม่ว่าโจทก์ประสงค์จะใช้ภาพดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าก็ตามจำเลยที่ 3 ใช้ข้อความว่า “เป็นยาปลุกคึกน้องใหม่” กับยาของโจทก์ดังกล่าวย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าหากบริโภคยาของโจทก์แล้วร่างกายแข็งแรงกระปรี้กระเปร่าคึกคะนอง ยังไม่มีความหมายชัดเจนพอให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นยาปลุกกำหนัดทางเพศ ดังที่โจทก์อ้าง สำหรับข้อความที่ว่า “ยังถูกเพ่งเล็งว่ายาของโจทก์เป็นยาม้าเทียม” ซึ่งโจทก์ฎีกาว่าเป็นการใส่ความโจทก์ เพราะข้อความดังกล่าวแสดงอย่างชัดเจนว่ายาของโจทก์ถูกมองว่าเป็นยาม้าเทียมนั้น เห็นว่า เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดแล้วไม่เป็นเหตุให้เข้าใจได้ว่ายาของโจทก์มีส่วนผสมของยาม้า แต่เป็นทำนองยกขึ้นเปรียบเทียบและมิได้เป็นการกล่าวยืนยันว่ายาของโจทก์เป็นยาม้าแต่อย่างใด ดังนี้ข้อความที่จำเลยที่ 3 ลงพิมพ์ไปนั้นไม่เป็นข้อความอันฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

พิพากษายืน

Share