คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 242/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อาคารของจำเลยมีพื้นที่ทั้งหมดของห้องที่มีชั้นลอย 48ตารางเมตรมีชั้นลอยพื้นที่ 16 ตารางเมตรอยู่แล้ว จำเลยก่อสร้างเพิ่มเติมชั้นลอยอีกเท่าหนึ่งรวมเป็นเนื้อที่ 32 ตารางเมตรจึงเกินร้อยละสี่สิบของพื้นที่ทั้งหมดของห้องนั้นตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ35 แล้ว
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อถอนอาคารที่ดัดแปลงต่อเติมฝ่าฝืนต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครได้
การที่จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้รื้อถอนอาคารภายในระยะเวลาที่กำหนด มิใช่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ใด จำเลยจึงจะอ้างอายุความ 1 ปี ในเรื่องละเมิดมาใช้ในกรณีเจ้าพนักงานท้องถิ่นฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคารหาได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยดัดแปลงต่อเติมอาคารโดยก่อคอนกรีตเสริมเหล็กปิดปกคลุมที่ว่างที่ใช้เป็นทางเดินหลังอาหาร และต่อเติมพื้นชั้นลอยมีเนื่อที่เกินร้อยละสี่สิบของพื้นที่ทั้งหมดของห้องนั้น เป็นการฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 76 (4) และข้อ 35 เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีหนังสือสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้าง แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม จึงได้ดำเนินคดีกับจำเลยและศาลพิพากษาลงโทษปรับจำเลยแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติม แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามขอให้พิพากษาบังคับจำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมดังกล่าว
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องขาดอายุความเพราะฟ้องพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่แจ้งให้จำเลยรื้อถอน และการต่อเติมอาคารและพื้นชั้นลอยไม่ฝ่าฝืนข้อบัญญัตกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะพื้นชั้นลอยที่ต่อเติมไม่เกินร้อยละสี่สิบของพื้นที่ทั้งหมดของอาคาร
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่า จำเลยไม่ได้ฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ข้อ 35 เพราะจำเลยต่อเติมพื้นชั้นลอยออกมาเพียงหนึ่งในสามของเนื้อที่อาคาร คิดคำนวณแล้วเพียงร้อยละ 33.33 เท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อบัญญติดังกล่าวระบุเกี่ยวกับเรื่องชั้นลอย หรือพื้นระหว่างชั้นของอาคารไว้ว่า ‘………. ต้องมีเนื้อที่ไม่เกินร้อยละสี่สิบของพื้นที่ทั้งหมดของห้องนั้นๆ ………’อาคารของจำเลยมีพื้นที่ทั้งหมดของห้องที่มีชั้นลอย 48ตารางเมตร มีชั้นลอยพื้นที่ 16 ตารางเมตรอยู่แล้ว จำเลยก่อสร้างเพิ่มเติมชั้นลอยอีกเท่าหนึ่งรวมเป็นเนื้อที่ 32 ตารางเมตร จึงเกินร้อยละสี่สิบของพื้นที่ทั้งหมด
จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า ผู้ที่ดำเนินคดีนี้ได้คือเทศบาลกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่น โจทก์ไม่มีอำนาจฟอ้งศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 42 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า การกระทำของจำเลยเป็นละเมิด คดีขาดอายุความ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้รื้อถอนอาคารภายในระยะเวลาที่กำหนด มิใช่กระทำละเมิดต่อผู้ใด จะอ้างอายุความ 1 ปีในเรื่องละเมิดมาใช้ในคดีนี้หาได้ไม่ ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share