แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและประธานกรรมการของบริษัทจำเลยเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของพนักงานรองจาก ถ. ซึ่งเป็นประธานกิตติมศักดิ์ โจทก์ไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับการทำงานของจำเลยทั้งไม่มีผู้ใดในบริษัทจำเลยสามารถสั่งการหรือบังคับบัญชาโจทก์ได้โจทก์จึงมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1ตั้งแต่ปี 2500 ในตำแหน่งพนักงานขาย ต่อมาปี 2539 โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 ได้รับเงินเดือนจากจำเลยที่ 1 เดือนละ 711,000 บาท เมื่อวันที่ 17 เมษายน2539 จำเลยที่ 1 โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 45 ได้มีมติเปลี่ยนแปลงกรรมการและประธานกรรมการจำเลยที่ 1 โดยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งกรรมการและประธานกรรมการ เนื่องจากโจทก์มีความขัดแย้งในการบริหารงานกับจำเลยที่ 2 และพวกภายหลังที่โจทก์พ้นตำแหน่งดังกล่าว จำเลยที่ 1 ยังคงจ่ายเงินเดือนให้จนถึงเดือนมิถุนายน 2539 หลังจากนั้นโจทก์ไม่ได้รับเงินเดือนอีก การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมีผลเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องขาดรายได้คือเงินเดือนประจำเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2539 นอกจากนี้โจทก์ยังมีสิทธิได้รับเงินเดือนของเลขานุการสองคนและคนขับรถอีกหนึ่งคนของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1เป็นผู้จ่ายรวมเดือนละ 129,500 บาท รวมรายได้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2539 เป็นเงิน 1,681,000บาท จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโดยคำนึงถึงอายุงานและเวลาที่โจทก์สามารถปฏิบัติงานให้จำเลยที่ 1อีกไม่น้อยกว่า 10 ปี เป็นเงิน 50,000,000 บาท และต้องชำระค่าชดเชยให้โจทก์ตามกฎหมายโดยคิดจากเงินเดือนที่โจทก์มีสิทธิได้รับรวมทั้งค่าจ้างของเลขานุการและคนขับรถเป็นค่าชดเชย 5,042,999 บาทกับเงินบำเหน็จตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับอีก 18 เท่าของเงินเดือนเป็นเงิน 15,129,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินเดือนประจำเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2539 ซึ่งเป็นสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์1,681,000 บาท ค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน50,000,000 บาท ค่าชดเชยจำนวน 5,042,999 บาท และเงินบำเหน็จจำนวน 15,129,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 71,852,999 บาท นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1แต่โจทก์เป็นเจ้าของกิจการจำเลยที่ 1 เพราะเป็นผู้ร่วมลงทุนโดยถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ในจำนวนร้อยละ 10 โจทก์มีตำแหน่งเป็นกรรมการและประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นลูกจ้าง แต่เป็นฝ่ายบริหารและเป็นนายจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด โจทก์ไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับลูกจ้างคนอื่น ๆ เมื่อโจทก์มิได้เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามฟ้อง จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินแก่โจทก์แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่โจทก์ขอ นอกจากนี้โจทก์ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างแทนเลขานุการและคนขับรถเพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจโจทก์ที่จะฟ้องร้องแทนบุคคลดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1โจทก์จึงไม่ชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าชดเชยและเงินบำเหน็จซึ่งใช้บังคับแก่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทจำเลยที่ 1ก่อตั้งโดยนายถาวร พรประภา ซึ่งเป็นพี่ชายโจทก์และเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.1 เดิมโจทก์เป็นประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 ได้รับค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ711,000 บาท ตามสลิปเงินเดือนเอกสารหมาย จ.1 นอกจากนี้โจทก์ยังเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย ล.2 และโจทก์ยังเป็นกรรมการในบริษัทในเครือของจำเลยที่ 1 อีกหลายบริษัทตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.9โจทก์เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของจำเลยที่ 1 รองจากนายถาวรพรประภา ซึ่งเป็นประธานกิตติมศักดิ์ บุคคลในตระกูลพรประภาและโจทก์ไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.3 อีกทั้งไม่มีผู้ใดสามารถสั่งการหรือบังคับบัญชาโจทก์ได้ ต่อมาวันที่ 17 เมษายน 2539 ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ได้มีมติไม่แต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 ตามรายงานการประชุมสามัญครั้งที่ 45เอกสารหมาย ล.4 แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสาม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของโจทก์ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสามหรือไม่ เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ 2 บัญญัติว่า “นายจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลหมายความว่าผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล” ส่วน “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นผู้รับค่าจ้างด้วยตนเองหรือไม่ก็ตามแต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน” และข้อ 47 บัญญัติว่า”นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
(1) ….
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ซึ่งหนังสือเตือนนั้นต้องมีผลบังคับไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้รับทราบหนังสือเตือน เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน” ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 บัญญัติว่า “ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า หรือให้สินไหมทดแทนก็ได้” บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวหมายความว่า ลูกจ้างคือผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ทั้งนี้ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืน นายจ้างมีสิทธิลงโทษลูกจ้างได้หรืออีกนัยหนึ่งคือนายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาสามารถออกคำสั่งให้ลูกจ้างทำงานให้เป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืน นายจ้างมีสิทธิลงโทษลูกจ้างได้ คดีนี้ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของพนักงานในบริษัทจำเลยที่ 1 รองจากนายถาวร พรประภาซึ่งเป็นประธานกิตติมศักดิ์ โจทก์และบุคคลในตระกูลพรประภาไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ 1 อีกทั้งไม่มีผู้ใดในบริษัทจำเลยที่ 1 สามารถสั่งการหรือบังคับบัญชาโจทก์ได้แสดงว่าโจทก์ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1โจทก์จึงมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสาม ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกฟังไม่ขึ้นไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน