แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล ส. ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิแต่โจทก์มีอาการหนักมากจึงถูกส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาล ช. ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเครือข่ายระดับบน และโจทก์อยู่ที่โรงพยาบาลดังกล่าวกว่า 16 ชั่วโมง ก็มิได้รับการบำบัดรักษาอาการเลือดคั่งในสมองจนอาการทรุดลงเรื่อย ๆ จนตกอยู่ในภยันตรายแก่ชีวิต ญาติโจทก์จึงย้ายโจทก์ไปโรงพยาบาล พ. ซึ่งแพทย์ได้ทำการผ่าตัดสมองทันที โจทก์จึงมีชีวิตรอดมาได้ จึงเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกระทำเพื่อรักษาชีวิตโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์มีเหตุผลสมควรที่ไม่สามารถรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามสิทธิได้ และต้องไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลอื่นตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 59 ยังถือไม่ได้ว่า โจทก์สละสิทธิหรือไม่ประสงค์จะใช้สิทธิประกันสังคม
ตามประกาศของสำนักงานประกันสังคมจำเลย เรื่องกำหนดจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ (ฉบับที่ 2) ระบุไว้ในข้อ 4.2 ว่า กรณีจำเป็นต้องได้รับบริการทางการแพทย์เพราะเกิดอุบัติเหตุจ่ายเงินเป็นค่าบริการทางการแพทย์เฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามความจำเป็นภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ประกันตนเข้ารับบริการทางการแพทย์ครั้งแรก ฉะนั้น เมื่อโจทก์ทดรองจ่ายค่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองที่โรงพยาบาล ร.ซึ่งโรงพยาบาลช. ส่งโจทก์ไปตรวจเป็นเงิน 4,000 บาท และเงินค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล พ. ซึ่งโจทก์ได้รับการผ่าตัดสมองเมื่อเวลา 18.15นาฬิกา ของวันที่ 6 มีนาคม 2543 ภายหลังจากโจทก์ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ส.เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2543 เวลา 17 นาฬิกาเศษ เป็นเงิน 227,268 บาท จึงเป็นเงินเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามความจำเป็นภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ประกันตนเข้ารับบริการทางการแพทย์ครั้งแรก โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวม231,268 บาท
คำฟ้องโจทก์ไม่ได้มีคำขอดอกเบี้ยในค่าทดแทนมาด้วย การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในเงินดังกล่าว โดยไม่ให้เหตุผลว่าเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความอย่างไร จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทยิ่งมิตร จำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2535และเป็นผู้ประกันตนที่ได้จ่ายเงินสมทบครบตามเงื่อนเวลาที่จะก่อให้เกิดสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคม จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน จำเลยกำหนดโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นสถานพยาบาลให้โจทก์ได้รับบริการทางการแพทย์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2543 เวลา 17 นาฬิกาเศษ โจทก์ประสบอันตรายถูกรถเฉี่ยวชนขณะขับขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้านพัก มีผู้นำโจทก์ส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แพทย์ตรวจแล้วพบว่าโจทก์มีการรับรู้ลดลง ความดันโลหิตต่ำ มีเลือดออกจากจมูกและหูซ้าย กะโหลกศีรษะแตก กระดูกแขนขวาหัก กระดูกขาขวาหัก แพทย์จึงใส่เครื่องช่วยหายใจและให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำ แล้วส่งตัวโจทก์ต่อไปที่โรงพยาบาลพุทธชินราชเวลา 21.15 นาฬิกา แพทย์ผู้ตรวจอาการส่งตัวโจทก์เข้าตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง วันที่ 6 มีนาคม 2543 เวลา 10.15 นาฬิกา จึงส่งเข้าห้องผ่าตัดเพื่อดามกระดูกและตกแต่งแผล แต่ไม่ได้รักษาเกี่ยวกับอาการทางสมอง โจทก์ถูกนำออกจากห้องผ่าตัดเวลา 11.45 นาฬิกา ในภาวะไม่รู้สึกตัว การตอบสนองของรูม่านตาต่อแสงต่ำกว่าปกติจนเวลา 14 นาฬิกาอาการของโจทก์อยู่ในขั้นวิกฤติเหมือนเดิม โดยไม่มีแพทย์ทางสมองเตรียมการผ่าตัด และไม่มีแพทย์ทางสมองมาพบกับญาติของโจทก์เพื่อแจ้งอาการและการรักษาทั้ง ๆ ที่โจทก์มีอาการหนัก ระดับความรู้สึกลดลงมาก ทราบผลเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ว่ามีเลือดออกในสมองขนาด 4×4.3×8.8 ลูกบาศก์เซนติเมตรซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินอย่างยิ่งที่โจทก์จะต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างเร่งด่วน แต่ไม่มีประสาทศัลยแพทย์มาตรวจรักษาแต่อย่างใด ญาติโจทก์เห็นว่าโจทก์ตกอยู่ในภาวะฉุกเฉินเป็นอันตรายต่อชีวิต จึงตัดสินใจให้โจทก์ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการแพทย์ โดยนำโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลพิษณุเวชซึ่งเป็นสถานพยาบาลเอกชนเมื่อเวลา 15.22 นาฬิกา แพทย์ของโรงพยาบาลพิษณุเวชได้ทำการผ่าตัดสมองเมื่อเวลา 18.15 นาฬิกา โจทก์จ่ายค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลพิษณุเวช 227,268บาท และทดรองจ่ายค่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองที่โรงพยาบาลพุทธชินราชส่งโจทก์ไปตรวจที่โรงพยาบาลรวมแพทย์อันเป็นสถานพยาบาลเอกชนเป็นเงิน 4,000 บาทคำสั่งสำนักงานประกันสังคมจังหวัดตากที่ 01/339/43 และคำวินิจฉัยคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1136/2543 ที่ปฏิเสธการจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ไม่ถูกต้องขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าว ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ตามที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายเป็นเงิน 231,268 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิ และส่งเข้ารักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก อันเป็นโรงพยาบาลเครือข่ายระดับบน ได้รับการรักษาถูกต้องตามหลักวิชาการแพทย์แล้ว ทั้งเป็นสถานพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่สามารถให้การรักษาได้ การที่ญาติของโจทก์ย้ายโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลพิษณุเวชซึ่งไม่ใช่โรงพยาบาลตามสิทธิ เป็นความประสงค์ที่จะไม่ใช้สิทธิประกันสังคม โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางแพทย์ตามฟ้อง กรณีเจ็บป่วยและรับบริการทางการแพทย์จะได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์นั้น ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ซึ่งทางราชการกำหนดไว้ เมื่อญาติโจทก์ย้ายโจทก์ออกจากโรงพยาบาลตามสิทธิและโรงพยาบาลที่อยู่ในเครือออกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน ย่อมรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จากจำเลย ถือว่าโจทก์เต็มใจและจงใจจะไม่ใช้สิทธิประกันสังคม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้แก้ไขคำสั่งสำนักงานประกันสังคมจังหวัดตากเลขที่ 01/339/43 และคำวินิจฉัยคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1136/2543 เฉพาะส่วนที่ปฏิเสธการจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์แก่โจทก์ ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์เป็นเงิน 231,268 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2544) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทยิ่งมิตร จำกัด และเป็นผู้ประกันตนซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน โดยจำเลยกำหนดให้โจทก์ไปรับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2543 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา โจทก์ถูกรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนขณะโจทก์ขับขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้านพัก เป็นเหตุให้โจทก์ตกจากรถจักรยานยนต์ ศีรษะฟาดพื้นและหมดสติไป โจทก์ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แพทย์ตรวจพบว่ากะโหลกศีรษะร้าว แขนขวาและขาขวาหัก โจทก์ไม่รู้สึกตัวต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อาการของโจทก์หนักมากจึงถูกส่งตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลพุทธชินราชเมื่อเวลา 21 นาฬิกา ของวันเดียวกัน และถูกส่งตัวไปเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองที่โรงพยาบาลรวมแพทย์ พบว่ามีเลือดออกในสมอง 4×4.3×8.8 ลูกบาศก์เซนติเมตร วันรุ่งขึ้นเวลา 10.15 นาฬิกา โจทก์ได้รับการผ่าตัดที่ขา แต่มิได้รับการรักษาอาการเลือดออกทางสมอง อาการของโจทก์จึงทรุดลงเรื่อย ๆ ต่อมาเวลา 14 นาฬิกาเศษ ญาติโจทก์จึงตัดสินใจย้ายโจทก์ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลพิษณุเวช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนและมีศัลยแพทย์ทางสมอง โจทก์ได้รับการผ่าตัดเอาเลือดคั่งในสมองออกในวันเดียวกันนั้น ได้รับการผ่าตัดดามกระดูกหักที่แขนขวา ขาขวา ข้อเท้าขวา และผ่าตัดดามกระดูกขากรรไกร หลังการผ่าตัดสมองโจทก์มีอาการดีขึ้นตามลำดับ โจทก์เสียค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลพิษณุเวช227,268 บาท และทดรองจ่ายค่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองแก่โรงพยาบาลรวมแพทย์ตามที่โรงพยาบาลพุทธชินราชส่งไปตรวจ 4,000 บาท รวมเป็นเงิน 231,268 บาท โจทก์ยื่นคำร้องต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดตากแต่ถูกปฏิเสธไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวโจทก์อุทธรณ์คำสั่ง คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์โจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 จำเลยมีประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน และประกาศเรื่องกำหนดจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ (ฉบับที่ 2) ตามเอกสารหมาย ล.2และ ล.3 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า การที่โจทก์เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลพิษณุเวชถือว่าโจทก์สละสิทธิหรือไม่ประสงค์จะใช้สิทธิประกันสังคมหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลพิษณุเวชซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนเนื่องจากโรงพยาบาลดังกล่าวมีศัลยแพทย์ทางสมองประจำอยู่และได้ความจากคำเบิกความของนายแพทย์สุดชาย ปัญยารชุน พยานจำเลยว่าหากโจทก์ไม่ได้รับการรักษาอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต และการผ่าตัดสมองมีความจำเป็นเพื่อรักษาชีวิตโจทก์ อีกทั้งในเบื้องต้นโจทก์ก็เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิ แต่โจทก์มีอาการหนักมากจึงถูกส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลพุทธชินราชซึ่งเป็นโรงพยาบาลเครือข่ายระดับบนและโจทก์อยู่ที่โรงพยาบาลดังกล่าวกว่า 16 ชั่วโมง ก็มิได้รับการบำบัดรักษาอาการเลือดคั่งในสมองจนอาการทรุดลงเรื่อย ๆ จนตกอยู่ในภยันตรายแก่ชีวิต ญาติโจทก์จึงตัดสินใจย้ายโจทก์ไปรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลพิษณุเวชซึ่งแพทย์ได้ทำการผ่าตัดสมองทันที โจทก์จึงมีชีวิตรอดมาได้ กรณีจึงเป็นเรื่องโจทก์เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลตามสิทธิแล้ว แต่โรงพยาบาลดังกล่าวไม่สามารถให้บริการหรือเยียวยารักษาเพื่อให้โจทก์รอดชีวิตได้ จึงเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกระทำเพื่อรักษาชีวิตโจทก์โดยนำโจทก์ไปรับการรักษาพยาบาลทางสมองที่โรงพยาบาลพิษณุเวช ซึ่งต้องถือว่าโจทก์มีเหตุผลสมควรที่ไม่สามารถรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามสิทธิได้และต้องไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลอื่นตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 59 กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่า โจทก์สละสิทธิหรือไม่ประสงค์จะใช้สิทธิประกันสังคมดังจำเลยอ้าง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ชอบที่จะได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์เพียงใด เห็นว่า ตามประกาศของจำเลย เรื่องกำหนดจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ (ฉบับที่ 2) ระบุไว้ในข้อ 4.2 ว่า “กรณีจำเป็นต้องได้รับบริการทางการแพทย์เพราะเกิดอุบัติเหตุ จ่ายเงินเป็นค่าบริการทางการแพทย์เฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามความจำเป็นภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ประกันตนเข้ารับบริการทางการแพทย์ครั้งแรก…” ฉะนั้น เมื่อเงินที่โจทก์ขอให้จำเลยจ่าย เป็นเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายเป็นค่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองที่โรงพยาบาลรวมแพทย์ซึ่งโรงพยาบาลพุทธชินราชส่งโจทก์ไปตรวจเป็นเงิน 4,000 บาท และเงินค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลพิษณุเวชซึ่งโจทก์ได้รับการผ่าตัดสมองเมื่อเวลา 18.15นาฬิกาของวันที่ 6 มีนาคม 2543 ภายหลังจากโจทก์ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2543 เวลา 17 นาฬิกาเศษ เป็นเงิน227,268 บาท รวม 231,268 บาท เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นเงินเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามความจำเป็นภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ประกันตนเข้ารับบริการทางการแพทย์ครั้งแรก ตามความหมายของประกาศของจำเลย ข้อ 4.2 ข้างต้นแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวม 231,268 บาท ตามที่โจทก์ขอมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ของต้นเงินดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องโจทก์ไม่ได้มีคำขอดอกเบี้ยในต้นเงินจำนวนนี้มาด้วยที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในต้นเงินจำนวนดังกล่าวโดยไม่ให้เหตุผลว่าเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความอย่างไร จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 อุทธรณ์จำเลยส่วนนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง”