คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ลักทรัพย์จำเลยอันเป็นความเท็จทำให้โจทก์ถูกดำเนินคดีอาญา โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงในข้อหาฐานแจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานตามป.อ. มาตรา 137 แม้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานซึ่งปกติรัฐเป็นผู้เสียหายโดยตรงก็ตาม ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโจทก์ฝ่ายเดียวอุทธรณ์ แต่จำเลยได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์โต้แย้งว่าทรัพย์ของกลางเป็นของจำเลย การที่ศาลอุทธรณ์ด่วนฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าทรัพย์ของกลางเป็นของโจทก์ โดยไม่วินิจฉัยในประเด็นนี้ จึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ไม่ชอบ และไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา แต่เมื่อปรากฏพยานหลักฐานในสำนวนแล้วศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ให้จำคุก 6 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่จะต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยเป็นข้อแรกว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่ในข้อนี้ จำเลยโต้แย้งว่าข้อหาแจ้งความเท็จตามคำฟ้องเป็นความผิดที่จำเลยกระทำต่อเจ้าพนักงานซึ่งเจ้าพนักงานเท่านั้นเป็นผู้เสียหายเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า โจทก์ลักทรัพย์จำเลย ซึ่งเป็นความเท็จ ทำให้โจทก์ถูกดำเนินคดีอาญา แม้คำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยจะระบุมาตรา137 อันเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานซึ่งปกติรัฐเป็นผู้เสียหายโดยตรงก็ตาม แต่กรณีนี้โจทก์อ้างว่าได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ จากการร้องทุกข์ของจำเลยซึ่งเป็นเท็จ โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงในข้อหาความผิดฐานแจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานและมีอำนาจฟ้อง
ส่วนฎีกาในข้อต่อไปของจำเลยที่ว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่มีการอ้างว่าโจทก์ลักไปนั้น ปรากฏในชั้นอุทธรณ์ว่าโจทก์เป็นฝ่ายอุทธรณ์เพียงฝ่ายเดียวในเรื่องอำนาจฟ้อง แต่จำเลยก็ยื่นคำแก้อุทธรณ์โต้แย้งในเรื่องอำนาจฟ้อง และในประเด็นการเป็นเจ้าของทรัพย์ว่า ทรัพย์ที่จำเลยแจ้งความว่าโจทก์ลักไปเป็นทรัพย์ของจำเลยดังนั้น ข้อที่ว่าทรัพย์เป็นของโจทก์หรือจำเลยนั้น จำเลยยังโต้เถียงอยู่ตามคำแก้ฎีกาที่เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์อยู่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าเป็นทรัพย์ของโจทก์โดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ให้ จึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ไม่ชอบ และไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาแต่อย่างไรก็ดี ปรากฏพยานหลักฐานของคู่ความในสำนวนแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่โต้เถียงกันดังกล่าวไป โดยไม่ย้อนสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ ได้ความว่าทรัพย์ที่เป็นปัญหาในคดีนี้ได้แก่ วงกบประตู 15 ตัว วงกบหน้าต่าง 7 ตัว ไม้แบบ 150 แผ่น โอ่งน้ำ 4 ใบเหล็กเส้นขนาด 2 หุน และ 5 หุน ยาว 8 เมตร 30 เส้น ปรากฏตามบัญชีของกลางคดีอาญา เอกสารหมาย จ.6 ของกลางดังกล่าวโจทก์อ้างว่า เป็นของโจทก์ที่สั่งซื้อไว้ และได้นำออกจากบริเวณที่ก่อสร้าง เนื่องจากจำเลยไม่ชำระค่ารับเหมาก่อสร้างให้ตามปริมาณงานที่โจทก์ทำการก่อสร้างได้เป็นเงินจำนวนประมาณ 600,000 บาทโจทก์จึงหยุดทำการก่อสร้างและขนวัสดุก่อสร้างรวมทั้งทรัพย์ของกลางออกจากบริเวณที่ก่อสร้างพยานหลักฐานที่แสดงว่าทรัพย์ของกลางเป็นของโจทก์นั้น โจทก์อ้างว่า ได้สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจากบริษัทอิมหลีค้าวัสดุก่อสร้าง จำกัด ตามหลักฐานใบส่งของเอกสารหมาย จ.7 รวม23 ฉบับ นายนภาพงษ์ อรรถวัฒนกุล ผู้จัดการบริษัทอิมหลีค้าวัสดุก่อสร้าง จำกัด ก็เบิกความรับรองในข้อนี้ว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อวัสดุก่อสร้าง และชำระค่าสินค้าให้นายนภาพงษ์ครบถ้วน แสดงว่าโจทก์ได้ซื้อวัสดุก่อสร้างเองจริง กรณีหาใช่จำเลยเป็นผู้ซื้อวัสดุก่อสร้างทุกอย่าง และให้โจทก์รับเหมาเพียงแต่ค่าแรงงานไม่ลักษณะทรัพย์ของกลางนอกจากวงกบประตูหน้าต่างแล้ว ก็เป็นไม้แบบเหล็กเส้นและโอ่งน้ำ เห็นได้ว่า เป็นเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ในการก่อสร้างที่โจทก์จะต้องจัดหาเอง แม้ของกลางเหล่านี้จะไม่ปรากฏรายละเอียดชัดเจนในใบส่งของเอกสารหมาย จ.7 ที่โจทก์ซื้อวัสดุก่อสร้างมาจากนายนภาพงษ์ก็ตาม แต่ก็เชื่อว่า ทรัพย์ของกลางเป็นทรัพย์ของโจทก์ซึ่งจำเลยเองก็รับว่าวัสดุก่อสร้างบางสิ่งก็ให้โจทก์เป็นผู้ซื้อและจำเลยก็หาได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ทรัพย์ของกลางเป็นของโจทก์ดังนั้น เมื่อจำเลยร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจเอกสามชัยว่าโจทก์ลักทรัพย์ของกลางโดยทราบข้อเท็จจริงว่า ทรัพย์เป็นของโจทก์จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ดังฟ้อง
แต่อย่างไรก็ตาม ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยเป็นเรื่องการดำเนินการธุรกิจก่อสร้าง ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าอีกฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยประกอบอาชีพที่สุจริตแน่นอน จำเลยไม่เคยมีประวัติด้านอาชญากร และไม่เคยต้องโทษมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสแก่จำเลยได้กลับตัวสักครั้ง จึงให้ลงโทษสถานเบาโดยให้รอการลงโทษไว้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์.

Share