แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ขณะที่ออก พ.ร.บ. เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษ…ฯ เวนคืนที่ดินของโจทก์นั้น พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน…ฯ ได้หมดอายุบังคับใช้ไปแล้วโดยไม่มีการออก พ.ร.ฎ. ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ สืบติดต่อเนื่องมา กรณีต้องถือว่าเป็นการใช้บังคับ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษ…ฯ โดยไม่มีการออก พ.ร.ฎ. ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ เข้ากรณีตามมาตรา 23 ซึ่งบทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสองสรุปรวมกันได้ว่า ในกรณีที่มีการใช้บังคับ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ตามมาตรา 15 โดยมิได้มีการออก พ.ร.ฎ.ตามมาตรา 6 และ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับนั้นมิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งกำหนดเงินค่าทดแทนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 21 โดยอนุโลม ปรากฏว่า พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างทางพิเศษ…ฯ มิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นอย่างอื่นจึงต้องนำหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 23 มาใช้โดยอนุโลม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 131886 ตำบลห้วยขวาง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 2 งาน 5 ตารางวา จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงมหาดไทยจัดตั้งขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 พ.ศ.2515 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำการแทนมีหน้าที่ควบคุมดูแลบริหารงานของจำเลยที่ 1 ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายบางซื่อ – หัวลำโพง – พระโขนง และสายลาดพร้าว – สาทร ในท้องที่เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2540 กำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนทั้งแปลง คณะกรรมการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์ฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ตารางวาละ 120,000 บาท รวมเป็นเงิน 24,600,000 บาท โจทก์ได้รับเงินแล้วแต่ไม่พอใจจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินอีกตารางวาละ 80,000 บาท แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา ที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับถนนเทียมร่วมมิตรซึ่งสร้างเป็นคอมกรีตเสริมเหล็กหลายช่องทาง โจทก์ปรับปรุงถมดินระดับเดียวกับถนนให้บุคคลเช่าทำบาร์ อยู่ในย่านธุรกิจที่เจริญแล้ว มีราคาซื้อขายในท้องตลาดไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 200,000 บาท จำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินของบุคคลอื่นที่ถูกเวนคืนบริเวณเดียวกันอัตราตารางวาละ 160,000 บาท จึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ในอัตราตารางวาละ 200,000 บาท หรือเพิ่มขึ้นอีกตารางวาละ 80,000 บาท รวมเป็นเงินเพิ่มขึ้น 16,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคาร นับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเป็นวันแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินจนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 1,558,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 17,958,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปีของต้นเงิน 16,400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว ให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 4,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยสูงสุดต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 131886 ตำบลห้วยขวาง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 2 งาน 5 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดิน ซึ่งอยู่ในบริเวณที่ต้องเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายบางซื่อ – หัวลำโพง – พระโขนง และสายลาดพร้าว – สาทร ในท้องที่เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2540 คณะกรรมการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์ฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 120,000 บาท รวมเป็นเงิน 24,600,000 บาท โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวนดังกล่าวไปจากจำเลยที่ 1 แล้ว แต่เห็นว่าไม่เป็นธรรมโจทก์จึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มเป็นอัตราตารางวาละ 200,000 บาท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำวินิจฉัยไม่เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ แต่ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังวินิจฉัยไม่เสร็จ โจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินอีกตารางวาละ 80,000 บาท ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่าเงินค่าทดแทนที่ดินที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้แก่โจทก์ตารางวาละ 120,000 บาท เป็นอัตราที่ต่ำเกินไปไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ จึงเพิ่มให้อีกตารางละ 20,000 บาท เป็นเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 140,000 บาท และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นแรกว่า โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์กำหนดไว้ตารางวาละ 20,000 บาท ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองหรือไม่ ข้อเท็จจริงตามถ้อยคำสำนวนได้ความยุติว่า ขณะที่ออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายบางซื่อ – หัวลำโพง – พระโขนง และสายลาดพร้าว – สาทร ในท้องที่เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2540 เวนคืนที่ดินของโจทก์นั้น พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพญาไท เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธ์วงศ์ เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสาทร เขตคลองเตย เขตพระโขนง เขตห้วยขวาง และเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2535 ได้หมดอายุบังคับใช้ไปแล้วโดยไม่มีการออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 สืบติดต่อเนื่องมา กรณีต้องถือว่าเป็นการใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษ… พ.ศ.2540 โดยไม่มีการออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 เข้ากรณีตามมาตรา 23 ซึ่งบทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสองสรุปรวมกันได้ว่า ในกรณีที่มีการใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 15 โดยมิได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 6 และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับนั้นมิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งกำหนดเงินค่าทดแทนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 21 โดยอนุโลม ปรากฏว่าพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษ… พ.ศ.2540 มิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น เมื่อนำหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 21 มาใช้โดยอนุโลม… ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพิ่มเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 140,000 บาทนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ