แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยตกลงเลิกสัญญาจ้างกันตามมติที่ประชุมของพนักงานบริษัทเพราะบริษัทดำเนินกิจการไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรประกอบกับค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายรับ เป็นการเลิกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง บริษัทจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์และจำเลยต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 จำเลยกำหนดจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทุกวันที่ 28 ของเดือนจำเลยบอกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2529 การเลิกจ้างย่อมมีผลในวันที่ 28 พฤษภาคม 2529 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างในคราวถัดไป จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2529 ซึ่งเป็นวันบอกกล่าว จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2529 รวม 57 วัน คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยและนัดวันฟังคำพิพากษานั้น เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อจำเลยมีโอกาสเพียงพอที่จะโต้แย้งแต่มิได้โต้แย้งไว้จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ประกอบด้วยมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ ศาลฎีกา ไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าทำงานวันหยุดแก่โจทก์ทั้งห้าสำนวน จำเลยทั้งห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ในประการแรกว่า การเลิกสัญญาจ้างได้กระทำโดยโจทก์จำเลยตกลงกันตามมติที่ประชุมของพนักงานบริษัท เป็นการกระทำที่ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิ จึงไม่เป็นการเลิกจ้าง ทั้งจำเลยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เห็นว่า มูลเหตุที่จะมีการเลิกสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยนั้น ปรากฏตามคำให้การของจำเลยว่าสืบเนื่องมาจากจำเลยได้เรียกประชุมพนักงานของบริษัท ชี้แจงให้ทราบว่าบริษัทต้องประสบปัญหาต่าง ๆ ทำให้การดำเนินกิจการไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรประกอบกับค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายรับขอให้ที่ประชุมลงมติเลิกสัญญาจ้าง ฉะนั้นแม้จะฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงเลิกสัญญาจ้างกันตามมติที่ประชุมของพนักงานบริษัทดังอุทธรณ์ของจำเลยก็ตาม ก็เท่ากับจำเลยเลิกสัญญาจ้างที่ได้ทำไว้กับโจทก์นั่นเองซึ่งมีผลให้นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน การกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง ลงวันที่ 16 เมษายน2515 เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้าได้กระทำความผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย ดังกล่าวจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ซึ่งการเลิกสัญญาจ้างในกรณีเช่นนี้จำเลยจำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า หากจำเลยจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ก็จะต้องจ่ายเพียงไม่เกิน27 วัน ไม่ใช่ 57 วัน ดังที่ศาลแรงงานกลางพิพากษานั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคแรก บัญญัติว่า”ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไรท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้” คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยได้กำหนดจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งห้าทุกวันที่28 ของทุก ๆ เดือน จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าเมื่อวันที่1 เมษายน 2529 การเลิกจ้างย่อมมีผลในวันที่ 28 พฤษภาคม 2529ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างในคราวถัดไป จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2529 ซึ่งเป็นวันบอกกล่าว จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งห้าตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2529รวม 57 วัน อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยอุทธรณ์เกี่ยวกับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีว่า การที่โจทก์สมัครใจไม่หยุดภายในปีนั้นก็เป็นการเสียสิทธิ เพราะว่าโจทก์ไม่ใช่พนักงานใหม่ที่ทำงานครบปีแรกแล้วมีสิทธิหยุดในปีถัดไป และโจทก์เรียกค่าทำงานในวันหยุดเป็นการไม่ชอบ เพราะตามกฎหมายและระเบียบของบริษัทไม่ได้กำหนดให้บริษัทจะต้องจ่ายเงินดังกล่าวแทนนั้น เห็นว่าในประเด็นข้อนี้จำเลยต่อสู้ไว้ในคำให้การแต่เพียงว่า จำเลยมิได้เรียกให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทำงานในวันหยุดเท่านั้น ข้ออุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวข้างต้นเป็นที่จำเลยมิได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยอุทธรณ์ในประการสุดท้ายว่า ศาลแรงงานกลางสืบพยานโจทก์ได้เพียงปากเดียวแล้วมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยและนัดฟังคำพิพากษา โดยจำเลยไม่มีโอกาสสืบพยานหักล้างคำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่าคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยและนัดวันฟังคำพิพากษานั้น เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อจำเลยมีโอกาสเพียงพอที่จะโต้แย้งแต่มิได้โต้แย้งไว้ จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลแรงงานกลางดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ประกอบด้วยมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทั้งห้านั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน