คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ตายใช้มีดยาวประมาณ 1 ช่วงแขนไล่ฟันจำเลยที่ 1 จำเลยที่1 จึงใช้ปืนแก็ปยิงผู้ตาย 1 นัดขณะที่อยู่ห่างกันประมาณ 4วา ผู้ตายวิ่งหนีไป 2 วาก็ล้มลง จำเลยที่ 1 เอาปืนลูกซองยาวจากจำเลยที่ 2 มายิงซ้ำอีก 1 นัด แต่ไม่ถูกแล้วจำเลยทั้งสองนำผู้ตายไปทิ้งลงเหว ดังนี้ เป็นพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้ตายหลังจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ล่วงพ้นไปแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 เกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน
การชันสูตรพลิกศพเป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมพยานหลักฐานตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยชอบแล้ว แม้ไม่มีการชันสูตรพลิกศพก็หาเป็นเหตุให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องวา่ จำเลยท่ 2 มีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนไว้ครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันฆ่านายสอนไม่ทราบนามสกุล โดยใช้อาวุธปืนยิง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 69 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา 7, 72
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ตายถือมีดยาวประมาณ 1 ช่วงแขนไล่ฟันจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 วิ่งหนีไปหาจำเลยที่ 1 และย้อนกลับมาถึงขณะผู้ตายกำลังค้นบ้านจำเลยที่ 1 แล้วผู้ตายใช้มีดดังกล่าวไล่ฟันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ใช้ปืนแก็ปที่ถือมายิงผู้ตาย 1 นัด ในขณะที่อยู่ห่างจากผู้ตายประมาณ 4 วากระสุนปืนถูกผู้ตาย ผู้ตายวิ่งหนีไปได้ 2 วาก็ล้มลง จำเลยที่ 1 เอาปืนลูกซองเดี่ยวยาวจากจำเลยที่ 2 ซึ่งยืนอยู่ติด ๆกันยิงผู้ตายอีก 1 นัดแต่ไม่ถูกผู้ตาย หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองนำผู้ตายไปทิ้งลงเหว ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้ตายหลังจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ล่วงพ้นไปแล้วการกระทำของจำเลยที่ 1 เกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันจำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 69
ส่วนที่จำเลยที่ 1 แก้ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่มีการชันสูตรพลิกศพผู้ตายนั้น เห็นว่า การชันสูตรพลิกศพผู้ตายเป็นการดำเนินคดีชั้นสอบสวนเพื่อทราบรายละเอียดและสาเหตุแห่งการตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 ถึงมาตรา 56 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมพยานหลักฐานตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนคดีนี้โดยชอบแล้ว แม้ไม่มีการชันสูตรพลิกศพก็หาเป็นเหตุให้พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share