แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ที่จะมีความผิดฐานเปิดเผยกิจการอันพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผยของธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 46 นั้น ต้องเป็นผู้ได้ล่วงรู้กิจการของธนาคาร เนื่องจากการปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 2,3 เป็นผู้จัดการสาขาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 เป็น บุคคลภายนอกผู้มีธุรกิจติดต่อกับจำเลยที่ 1,2,3 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดให้เป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้แต่อย่างใด จำเลยจึงมิใช่บุคคลอันอาจถูกลงโทษตามมาตรา 46 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 2 เคยเป็นผู้จัดการสำนักงานสาขาขอนแก่นของจำเลยที่ 1 ปัจจุบันจำเลยที่ 3 เป็นแทน จำเลยที่ 4เป็นผู้มีธุรกิจติดต่อกับจำเลยที่ 1, 2, 3 โจทก์ได้จำนองที่ดินโฉนดที่ 563 ไว้กับจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1, 2 และ 3 ซึ่งเป็นผู้ล่วงรู้เรื่องโจทก์เป็นลูกหนี้จำนองดังกล่าว ซึ่งโดยหน้าที่ปกติวิสัยพึงสงวนเป็นความลับไม่พึงเปิดเผย แต่จำเลยที่ 1,2 ร่วมกับจำเลยที่ 4 แพร่ข่าวเรื่องนี้ให้บุคคลภายนอกรู้ และจำเลยที่ 1, 2, 4 ได้ร่วมกันวางแผนให้จำเลยที่ 4 ได้เช่าที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ และใช้เล่ห์เหลี่ยมกลายเป็นญาติของจำเลยที่ 4 เป็นผู้เช่าแทนที่และจำเลยที่ 1, 2 ยังได้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 563 ซึ่งอยู่ในครอบครองให้จำเลยที่ 4 กับพวก นำไปเผยแพร่ชักชวนให้บุคคลภายนอกทำการเช่าช่วงหาประโยชน์แก่ตน เป็นการเบียดบังเอาโฉนดที่ดินของโจทก์ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505มาตรา 46 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 352
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลทั้งสองข้อหา พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์พ.ศ. 2505 มาตรา 46 นั้น ผู้ที่จะมีความผิดตามมาตรานี้จะต้องเป็นผู้ได้ล่วงรู้กิจการของธนาคาร เนื่องจากการปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 2, 3ผู้จัดการสาขาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 บุคคลภายนอกผู้มีธุรกิจติดต่อกับจำเลยที่ 1, 2, 3 พระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติกำหนดให้เป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินั้นแต่อย่างใด จำเลยจึงมิใช่บุคคลผู้มีอำนาจและหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์พ.ศ. 2505 อันอาจถูกลงโทษได้ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
พิพากษายืน