คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2839/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การบรรยายฟ้องในคดีแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 กำหนดแต่เพียงว่า ฟ้องต้องแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเท่านั้น หาต้องบรรยายถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเหมือนกับฟ้องในคดีอาญาไม่ ส่วนรายละเอียดที่จะต้องนำพยานเข้าสืบเมื่อมีประเด็นโต้เถียงกันแม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายข้อความเหล่านั้นมา ฟ้องโจทก์ก็ไม่เคลือบคลุม การจะนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาส่วนอาญามารับฟังในคดีส่วนแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ คำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุด ข้อเท็จจริงนั้นต้องเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและคำพิพากษาคดีอาญาต้องวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งและผู้ที่จะถูกข้อเท็จจริงในคดีอาญามาผูกพัน ต้องเป็นคู่ความในคดีอาญา โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาร่วมกันบุกรุกที่ดินพิพาทและทำให้เสียทรัพย์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาบุกรุกหรือทำให้เสียทรัพย์ ส่วนที่ว่าที่ดินพิพาทจะเป็นของโจทก์หรือจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัยคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ดังนี้แม้โจทก์และจำเลยคดีก่อนเป็นคู่ความรายเดียวกับคดีนี้ก็ตาม แต่ปัญหาที่ว่าที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นของโจทก์ทั้งสองหรือของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นประเด็นโดยตรงในคดีนี้ คดีอาญายังไม่ได้วินิจฉัย จึงนำข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวมารับฟังเป็นยุติในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งไม่ได้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์นำเอาข้อเท็จจริงดังกล่าวในคดีอาญามารับฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมาย และปัญหานี้ต้องวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน แต่เมื่อคดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในปัญหาที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลย ปัญหาอื่น ๆ ตามคำฟ้องของโจทก์ต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240(3) ประกอบด้วยมาตรา 247 จำเลยให้การสู้คดีอ้างสิทธิครอบครองที่ดินจำนวน 20 ไร่ทุนทรัพย์ที่พิพาทจึงถือตามราคาที่ดินจำนวน 20 ไร่ แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและจำเลยทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกามาในราคาที่ดินจำนวน 90 ไร่ศาลฎีกาให้คืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่เกินมาให้โจทก์และจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า 1 แปลง เนื้อที่ไม่น้อยกว่า 300 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เมื่อระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2533 ถึงวันที่ 9 มีนาคม 2533 จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันนำรถแทรกเตอร์ มีด จอบ เสียม และเครื่องตัดไม้ไฟฟ้าบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองทางด้านทิศใต้ คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ และร่วมกันใช้รถแทรกเตอร์ไถ ทำลายเครื่องหมายเขตที่ดิน ใช้เครื่องมือต่าง ๆ ตัดฟันต้นไม้และพืชผลอื่นของโจทก์ทั้งสองและเข้าปลูกโรงเรือนในที่ดินของโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเป็นเงิน 391,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน391,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองและทำที่ดินพิพาทให้อยู่ในสภาพเดิมภายใน 30 วันนับแต่วันศาลพิพากษาโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทตามฟ้องไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองแต่เป็นที่ดินของจำเลยกับนายบรรพต นาคฉัตรีย์ส่วนของจำเลยทั้งสองมีประมาณ 20 ไร่ ส่วนของนายบรรพตมีประมาณ 128 ไร่ จำเลยทั้งสองเข้าครอบครอง ก่นสร้างปลูกพืชผลต่าง ๆ ลงในที่ดินพิพาทเช่น มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ขนุน และสะตอ รวมทั้งตั้งเตาเผาถ่านเป็นเวลากว่า 10 ปีนางพร โพธิ์สุวรรณ และโจทก์ทั้งสองไม่เคยเข้าครอบครองหรือปลูกพืชผลในที่ดินพิพาท ต้นไม้ต่าง ๆ ตามที่โจทก์อ้างจำเลยทั้งสองเป็นผู้ปลูก ยางพารา ขนุน สะตอ ราคาต้นละไม่เกิน 5 บาทมะม่วงหิมพานต์ราคาต้นละไม่เกิน 2 บาท มะพร้าวราคาต้นละไม่เกิน100 บาท และไม่มากดังฟ้อง เมื่อปี 2532 มีพายุไต้ฝุ่นทำให้พืชผลต่าง ๆ ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงปรับปรุงที่พิพาทโรงเรือนก็เป็นของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหาย 148,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่25 กุมภาพันธ์ 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่พิพาทพร้อมทั้งรื้อถอนโรงเรือนและขนย้ายสิ่งของสัมภาระออกไปจากที่พิพาท กับทำให้ที่พิพาทอยู่ในสภาพเดิมโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่พิพาทอีกต่อไปคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 98,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 2 ถึงแก่กรรม นางฐิติพรจันทนคีรินทร์หรือแซ่อึ้ง ทายาทของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงคงขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยทั้งสองฎีกามามี 2 ประเด็น คือ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและศาลจะนำข้อเท็จจริงในคดีอาญามารับฟังในคดีนี้ได้หรือไม่สำหรับประเด็นแรกนั้น จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองบุกรุกที่ดินของโจทก์แค่ไหนเพียงใดนั้น เห็นว่า การบรรยายฟ้องในคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 กำหนดแต่เพียงว่าฟ้องต้องแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเท่านั้น หาต้องบรรยายถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเหมือนกับฟ้องในคดีอาญาไม่ ดังนั้นข้อความที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นฎีกาจึงเป็นรายละเอียดที่จะต้องนำพยานเข้าสืบเมื่อมีประเด็นโต้เถียงกัน แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายข้อความเหล่านั้นมา ฟ้องโจทก์ก็ไม่เคลือบคลุม
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3นำเอาข้อเท็จจริงคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2592/2536 ของศาลชั้นต้นมารับฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่า การจะนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาส่วนอาญามารับฟังในคดีส่วนแพ่งตามประมวลกฎหมายอาญาอาญา มาตรา 46 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการคือ คำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุดข้อเท็จจริงนั้นต้องเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและคำพิพากษาคดีอาญาต้องวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ที่จะถูกข้อเท็จจริงในคดีอาญามาผูกพัน ต้องเป็นคู่ความในคดีอาญา แต่ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาคดีอาญา คดีหมายเลขแดงที่ 2592/2536ของศาลชั้นต้นซึ่งโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองเป็นคู่ความรายเดียวกับคดีนี้และคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่คดีอาญาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 3 ซึ่งเป็นศาลชั้นที่สุดมิได้วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทคดีนี้เป็นของโจทก์ทั้งสองหรือของจำเลยทั้งสองเพียงแต่วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองขาดเจตนาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์เท่านั้น ดังนั้น ปัญหาที่ว่าที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นของโจทก์ทั้งสองหรือของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นประเด็นโดยตรงในคดีนี้ คดีอาญายังไม่ได้วินิจฉัย จึงนำข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวมารับฟังเป็นยุติในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งไม่ได้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 นำเอาข้อเท็จจริงดังกล่าวในคดีอาญามารับฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองเป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวปัญหาที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองหรือของจำเลยทั้งสองเป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนก่อนปัญหาเรื่องความรับผิดในค่าสินไหมทดแทน แต่คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในปัญหาที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองหรือจำเลยทั้งสองก่อนและวินิจฉัยในปัญหาเรื่องค่าสินไหมทดแทนและปัญหาอื่น ๆ ตามคำฟ้องของโจทก์ต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240(3) ประกอบด้วยมาตรา 247
อนึ่ง จำเลยทั้งสองให้การสู้คดีอ้างสิทธิครอบครองที่ดินจำนวน 20 ไร่ ทุนทรัพย์ที่พิพาทจึงถือตามราคาที่ดินจำนวน 20 ไร่แต่โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและจำเลยทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาในราคาที่ดินจำนวน 90 ไร่ด้วยจึงเห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่เกินมาให้โจทก์ทั้งสองจำนวน4,099.50 บาท และคืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่เกินมาให้จำเลยทั้งสองจำนวน 8,125 บาท
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ในประเด็นดังกล่าวต่อไปตามรูปคดีค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมาให้โจทก์ทั้งสองจำนวน 4,099.50 บาทและคืนให้จำเลยทั้งสองจำนวน 8,125 บาท

Share