คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 241/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สาระสำคัญของการเรียกร้องเงินทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์เพิ่มขึ้นต้องอาศัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเนื้อที่ของที่ดินที่ถูกต้องแน่นอนสำหรับคำนวณเป็นทุนทรัพย์ที่จะเรียกร้อง โจทก์ยื่นฟ้องคดีภายในกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายบังคับโดยยังไม่ทราบจำนวนเนื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนที่แน่นอน แม้โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งจากจำเลยที่ 1 ว่าได้รังวัดที่ดินแล้วมีเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้น แต่ตามคำให้การของจำเลยทั้งสามก็ให้การว่าโจทก์ยังโต้แย้งคัดค้านการรังวัดครั้งดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องจึงเป็นการไม่แน่นอนว่าเนื้อที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนจำนวนเท่าใด โจทก์และจำเลยยังโต้แย้งจำนวนเนื้อที่กันอยู่ จำเลยจึงยังมิได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินในส่วนที่เหลือแก่โจทก์ เมื่อโจทก์เพิ่งทราบและยอมรับว่าที่ดินสองแปลงของโจทก์ มีเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้น 113 ตารางวา และ 92 ตารางวา ตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ไปรังวัดที่ดินกันใหม่ภายหลังจากวันชี้สองสถานตามที่โจทก์ฎีกา กรณีเช่นนี้ ถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่โจทก์ไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้ก่อนวันชี้สองสถานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 จึงชอบที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องให้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 19397 ตำบลบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม และที่ดินโฉนดเลขที่ 80 และ 81 ตำบลบางยุง อำเภอบางปลา จังหวัดนครชัยศรี (นครปฐม) และต้นไม้ยืนต้น เพิ่มจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน จำเลยทั้งสามยื่นคำให้การต่อสู้คดีและขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ศาลชั้นต้นเพิกถอนการชี้สองสถานเดิมและกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2543 หลังจากนั้นอีก 17 วัน โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำนวนเนื้อที่ที่ดินทั้งสามแปลงที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นและจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นเห็นว่า เป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องหลังจากวันชี้สองสถานไปแล้วจึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์ข้อ 10.5 ย่อหน้าที่ 3 (อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องในส่วนเนื้อที่ที่ดินโฉนดเลขที่ 80 ที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นและจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินที่ขอเพิ่มขึ้นของที่ดินแปลงนี้) และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “โจทก์ฟ้องเรียกร้องเงินค่าทดแทนที่ดิน 3 แปลง และต้นไม้ยืนต้นซึ่งอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรีและอำเภอดอนตูม อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม พ.ศ.2539 เพิ่มจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้แก่โจทก์พร้อมกับเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืน และเรียกดอกเบี้ยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 โดยโจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องรวมกันมาในฉบับเดียวกัน จำเลยทั้งสามยื่นคำให้การต่อสู้คดีและขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่าที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นจากที่ประมาณการไว้เดิม ทั้งโจทก์โต้แย้งการรังวัดที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดิน ดังนั้น เนื้อที่ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเป็นจำนวนเท่าใด ยังไม่ทราบแน่นอน ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเกี่ยวกับเนื้อที่ที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นของที่ดินทั้งสามแปลง กับคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสามใช้เงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนตามเนื้อที่ดินที่รังวัดได้เพิ่มขึ้น จำเลยทั้งสามไม่ค้าน ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเฉพาะข้อ 10.4 ย่อหน้าที่ 3 โจทก์จึงฎีกาขอให้รับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องทุกข้อ โดยอ้างว่าโจทก์ได้โต้แย้งจำเลยที่ 1 ว่า ผลการรังวัดนั้นน่าจะไม่ถูกต้องเพราะคนที่นำชี้คือพนักงานของจำเลยที่ 1 มิใช่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของ ย่อมไม่รู้แนวเขตที่ดินที่แน่นอน โจทก์จึงให้จำเลยที่ 1 ตรวจสอบรังวัดกันใหม่ ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงได้ไปรังวัดกันใหม่ในวันที่ 25 ตุลาคม 2543 ผลปรากฏว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 80 มีเนื้อที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นจากที่จำเลยที่ 1 นำชี้อีก 412 ตารางวา ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 81 และ 19397 เนื้อที่ที่ดินที่ถูกเวนคืนไม่ได้เพิ่มขึ้นจากที่จำเลยที่ 1 นำชี้ ดังนั้น จึงได้ข้อยุติเกี่ยวกับจำนวนเนื้อที่ที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2543 ซึ่งเป็นวันหลังจากวันชี้สองสถาน โจทก์จึงมีสิทธิที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าสาระสำคัญของการเรียกร้องเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์เพิ่มขึ้นต้องอาศัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเนื้อที่ของที่ดินที่ถูกเวนคืนที่ถูกต้องแน่นอนสำหรับคำนวณเป็นทุนทรัพย์ที่จะเรียกร้อง โจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีภายในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายบังคับโดยยังไม่ทราบจำนวนเนื้อที่ที่ดินที่ถูกเวนคืนที่แน่นอน แม้โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2543 และวันที่ 25 เมษายน 2543 ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 81 และ 19397 รังวัดแล้วมีเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้น 113 ตารางวา และ 92 ตารางวา ตามลำดับก็ตาม แต่ตามคำให้การของจำเลยทั้งสามซึ่งยื่นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2543 ก็ให้การว่า โจทก์ยังโต้แย้งคัดค้านการรังวัดที่ดินโฉนดเลขที่ 81 และ 19397 ของเจ้าพนักงานที่ดินว่าไม่ถูกต้อง จึงเป็นการไม่แน่นอนว่าเนื้อที่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงนี้ถูกเวนคืนจำนวนเท่าใด โจทก์และจำเลยยังโต้แย้งจำนวนเนื้อที่กันอยู่ จำเลยจึงยังมิได้จ่ายค่าทดแทนที่ดินในส่วนที่เหลือแก่โจทก์และจำเลยทั้งสามยื่นคำแก้ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามขอแถลงว่า ไม่ประสงค์จะแก้ฎีกาของโจทก์เนื่องจากจำเลยทั้งสามเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวเนื่องกับคำฟ้องเดิม ศาลฎีกาเชื่อว่า โจทก์เพิ่งทราบและยอมรับว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 80 และ 19397 มีเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้น 113 ตารางวา และ 92 ตารางวา ตามลำดับเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2543 ภายหลังจากวันชี้สองสถานแล้วตามที่โจทก์ฎีกา กรณีเช่นนี้ถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่โจทก์ไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้ก่อนวันชี้สองสถานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ชอบที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้ตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องทั้งหมดของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมเติมคำฟ้องของโจทก์ทุกข้อ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share