คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2409/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานสำนักงานทะเบียนบัตรประชาชนกระทรวงมหาดไทยได้ทำขึ้น บัตรประจำตัวประชาชนจึงเป็นเอกสารราชการตามบทนิยามของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(8)จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 กับพวกร่วมกันนำบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นสำหรับเป็นบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย มาทำปลอมให้หลงเชื่อว่าเป็นบัตรประจำตัวประชาชนของ ป. ที่แท้จริงแล้วสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนที่ปลอมแล้วเอาไปใช้อ้างต่อโจทก์ร่วม จึงถือได้ว่าสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนปลอมนั้นเป็นเอกสารราชการปลอมนั่นเอง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 กับพวกจึงมีความผิดฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดเกี่ยวกับเอกสารและฉ้อโกงขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,264, 265, 266, 268, 341, 342 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ให้ริบของกลางและให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 106,000 บาท แก่ธนาคารกสิกรไทยผู้เสียหาย
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ธนาคารกสิกรไทย ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 266, 268, 341 และ 342 ให้ลงโทษฐานปลอมบัตรประจำตัวประชาชน ตามมาตรา 265 ประกอบด้วยมาตรา 268จำคุก 3 ปี ฐานปลอมตั๋วเงินตามมาตรา 266 ประกอบด้วยมาตรา 268จำคุก 5 ปี ฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นตามมาตรา 342(1) จำคุก 2ปี รวม 3 กระทง จำคุกคนละ 10 ปี ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 106,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ธนาคารกสิกรไทย ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 5 ขอถอนอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์อนุญาต และจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานปลอมสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนและใช้สำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนปลอม จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 268 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 ประกอบด้วยมาตรา 264 วรรคแรก แต่กระทงเดียว จำคุกคนละ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 4 ให้ยก รวมโทษทุกกระทงแล้วจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 5 คงจำคุกคนละ 4 ปี จำเลยที่ 4 จำคุก 7 ปี คำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 4 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 4 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำเลยที่ 4 จำคุก 4 ปี 8 เดือน ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 106,000บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ธนาคารกสิกรไทย ผู้เสียหาย คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้องโจทก์ทุกข้อหา นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ 4 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ร่วมกับพวกทำปลอมขึ้นนั้นเป็นเอกสารราชการหรือไม่ ข้อนี้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(8) ได้บัญญัติไว้ว่า “เอกสารราชการ” หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้น ๆ เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย เห็นว่าบัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารซึ่งเจ้าพนักงานสำนักทะเบียนบัตรประชาชนกระทรวงมหาดไทยได้ทำขึ้น บัตรประจำตัวประชาชนจึงเป็นเอกสารราชการตามบทนิยามของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(8) ดังกล่าวแล้วเมื่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาได้ความเป็นที่ยุติว่าจำเลยดังกล่าวกับพวกร่วมกันทำบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 1ซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นสำหรับเป็นบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย มาทำปลอมเพื่อให้หลงเชื่อว่าเป็นบัตรประจำตัวประชาชนของนายประสานหรือสานที่แท้จริงแล้วถ่ายสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนที่ปลอมแล้วเอาไปใช้อ้างต่อโจทก์ร่วมจึงถือได้ว่าสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนปลอมนั้นจึงเป็นเอกสารราชการปลอมนั่นเอง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 จึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า มิใช่เป็นเอกสารราชการนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 นั้น ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share