คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3203/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประกาศของพนักงานเจ้าหน้าที่ในหนังสือพิมพ์รายวันเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลย ไม่ได้ลงข้อความว่าจำเลยได้ใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะขนแร่ตะกั่ว และไม่มีข้อความว่าพนักงานอัยการได้ร้องขอต่อศาลขอให้ริบรถยนต์ของกลาง จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคสองดังนั้น ผู้ร้องจึงมีสิทธิมายื่นคำร้องขอคืนของกลางภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 4, 105, 108, 148, 154, 155ที่แก้ไขแล้ว ลงโทษฐานมีแร่ไว้ในครอบครองปรับคนละ 4,000 บาทฐานขนแร่ออกนอกท้องที่โดยไม่ได้รับอนุญาตปรับคนละ 4,000 บาท รวมปรับจำเลยทั้งสองคนละ 8,000 บาท รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับคนละ 4,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางให้ริบผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่าเป็นเจ้าของรถยนต์ยี่ห้อดัทสันคันหมายเลขทะเบียน พท.20-0651 ที่ศาลพิพากษาให้ริบ จำเลยทั้งสองได้นำรถยนต์ของผู้ร้องไปกระทำความผิดคดีนี้โดยผู้ร้องมิได้ยินยอมรู้เห็นด้วย เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2530 ผู้ร้องทราบว่า รถยนต์ของผู้ร้องถูกยึดเป็นของกลาง ผู้ร้องได้ไปยื่นคำขอรับรถยนต์คืนที่ทรัพยากรธรณีจังหวัดสงขลา แต่เจ้าพนักงานสำนักงานทรัพยากรธรณีจังหวัดสงขลาแจ้งว่าไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจที่จะคืนให้ได้ เมื่อศาลพิพากษาแล้วผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอคืนของกลาง ขอให้มีคำสั่งคืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องมิได้ร้องขอเข้ามาในคดีก่อนมีคำพิพากษา คำร้องของผู้ร้องต้องห้ามตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 ให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางต่อศาลได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36เพราะศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33หาใช่ให้ริบตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 ไม่กรณีไม่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154พิเคราะห์แล้วคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองมีแร่และขนแร่ตะกั่วโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510มาตรา 4, 105, 108, 148, 154 และริบของกลางทั้งหมด ซึ่งมาตรา 154 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นบทบัญญัติให้ริบของกลางในกรณีที่มีการกระทำผิดเกี่ยวแก่พระราชบัญญัติฉบับนี้ ตามที่กำหนดไว้เป็นพิเศษแตกต่างไปจากการริบของกลางในคดีอาญาทั่ว ๆ ไปตามประมวลกฎหมายอาญา และศาลชั้นต้นก็ได้มีคำพิพากษาให้ริบของกลางตามที่โจทก์ขอแล้ว ส่วนการร้องขอคืนของกลางในกรณีที่มีการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 148เช่นคดีนี้ โดยปกติก็จะต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายดังกล่าวมาตรา 154 ด้วย เพราะความในวรรคท้ายของมาตรา 154 ห้ามมิให้นำมาตรา 36 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคสอง บัญญัติว่า”ให้พนักงานอัยการร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งและเมื่อพนักงานอัยการได้ร้องขอต่อศาลแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายในท้องถิ่นอย่างน้อยสองวันติดต่อกัน เพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ทั้งนี้ไม่ว่าในคดีดังกล่าวจะปรากฏตัวบุคคลซึ่งอาจเชื่อว่าเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ตาม” และได้ความว่า ในการประกาศหนังสือพิมพ์รายวันเกี่ยวแก่การกระทำผิดในคดีนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ลงประกาศหนังสือพิมพ์แต่เพียงข้อหาว่าจำเลยมีแร่ตะกั่วเกินกว่า 2 กิโลกรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น โดยไม่ได้ลงประกาศในข้อหาขนแร่ตะกั่ว และไม่มีข้อความว่าจำเลยทั้งสองได้ใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะในการขน ทั้งไม่มีข้อความว่าพนักงานอัยการได้ร้องขอต่อศาล ขอให้สั่งริบรถยนต์ของกลางแต่อย่างใด ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ข้อความตามประกาศของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่อาจทำให้ผู้ร้องหรือประชาชนทราบได้ว่า เจ้าหน้าที่ได้ยึดรถยนต์ของกลางไว้และอยู่ในระหว่างคดีที่พนักงานอัยการโจทก์ได้ขอให้ริบ อันผู้ร้องหรือผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลาง จะมายื่นคำร้องขอคืนได้ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาประกาศของพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวแก่การขอให้ริบรถยนต์ของกลางในคดีนี้จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 154 วรรคสองของพระราชบัญญัติแร่ ฯ ดังนั้น ความในวรรคท้ายของมาตรา 154แห่งพระราชบัญญัติแร่ฯ ที่ห้ามมิให้นำมาตรา 36 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ จึงจะนำมาใช้กับคดีนี้ไม่ได้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิมายื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 และเมื่อปรากฏว่าผู้ร้องได้มายื่นคำร้องภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเพียง 6 วันศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะสั่งให้ไต่สวนคำร้องของผู้ร้องต่อไปที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำร้องของผู้ร้องเสียนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งคำร้องของผู้ร้องต่อไปตามรูปคดี

Share